วันพฤหัสบดีที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2564

“จรัสศรี”น้ำตาตกใน พิพาทสายไฟแรงสูงพาดผ่านบ้าน นาน 7 ปี ล่าสุด ศาลพิพากษาให้ กฟผ.จ่ายเงินทดแทน 7.5 หมื่นบาท ส่วนอีกรายได้ 2.2 หมื่นบาท เผยขอยื่นอุทธรณ์ต่อศาลขอความเป็นธรรมอีกครั้ง


จำนวนผู้เข้าชม visitor counter

 



          กรณีนางอุสา ศุขเจริญ ผู้ฟ้องที่ 1 และนางจรัสศรี พันธ์ศรีนวล ผู้ฟ้องที่ 3  ได้ยื่นฟ้องการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ผู้ถูกฟ้องที่ 1 และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ผู้ถูกฟ้องที่ 2  ต่อศาลปกครองเชียงใหม่ กรณี กฟผ.ได้ดำเนินโครงการเดินสายไฟฟ้าแรงสูงที่มีกำลังส่งไฟฟ้า 230 กิโลโวลต์ พาดผ่านบริเวณบ้านของผู้ฟ้องโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  โดยไม่ให้ผู้ฟ้องคดี ชุมชนท้องถิ่น และประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการและตรวจสอบการดำเนินการด้านพลังงาน ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบตามแนวเขตขยายระบบโครงข่ายไฟฟ้าแรงสูง  มิได้จัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น  และจัดการกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนในพื้นที่ที่แนวสายส่งพาดผ่าน ฯลฯ รวมถึงขอให้ กฟผ.จ่ายค่าเสียหายจากการที่สายส่งไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านบ้านพักอาศัย ที่อาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และค่าเสียหายจากสภาพแวดล้อม  ที่ผ่านมา ไม่มีการจ่ายค่าทดแทนใดๆ ทั้งที่ตนเองมีสิทธิ์ในที่ดินตามกฎหมายอย่างถูกต้อง

          เมื่อวันที่ 24 มี.ค. 64 เวลา 10.00 น. ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 1 ศาลปกครองเชียงใหม่  ศาลได้มีคำพิพากษาในคดีดังกล่าว ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)ผู้ถูกฟ้องที่ 1 ชำระเงินค่าทดแทนให้แก่นางอุสา ศุขเจริญ ผู้ฟ้องคดีที่ 1  เป็นเงิน 22,685.32 บาท  ให้ กฟผ. ชำระเงินค่าทดแทนให้แก่นางจรัสศรี พันธ์ศรีนวล ผู้ฟ้องคดีที่ 3 เป็นเงิน 75,083.50 บาท ทั้งนี้ ให้ กฟผ.ชำระให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด คืนค่าธรรมเนียมศาลตามส่วนแห่งการชนะคดีให้แก่นางอุสา และนางจรัสศรี ยกฟ้องผู้ฟ้องคดีที่ 2 (บุตรของนางอุสา)  ส่วนคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก


          โดยศาลให้เหตุผลว่า คำขอที่ผู้ฟ้องขอให้ กฟผ.จ่ายค่าเสียหายจากการที่สายส่งไฟฟ้าจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และค่าเสียหายจากสภาพแวดล้อมในอนาคต รวมถึงค่าใช้จ่ายที่ผู้ฟ้องคดีทั้ง 3 ต้องเสียไปจากการดำเนินคดีนั้น เห็นว่า แม้การก่อสร้างระบบโครงข่ายไฟฟ้าจะทำให้ที่ดินบริเวณที่ถูกเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าพาดผ่านถูกกำจัดสิทธิการใช้ประโยชน์  ซึ่งอาจมีผลต่อการดำรงชีพไปบ้าง แต่ก็ไม่ปรากฎว่ามีผลกระทบต่อสุขภาพชีวิตของผู้อาศัยในบริเวณแนวสายส่งไฟฟ้า กรณีจึงเป็นเพียงการคาดการณ์ในอนาคตของผู้ฟ้อง และที่ดินส่วนที่เหลือนอกเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้ามีเนื้อที่เพียงพอที่จะก่อสร้างบ้านพักอาศัยและปลูกต้นไม้ ประกอบกับการส่งและขยายโครงข่ายพลังงานไฟฟ้าเป็นกิจการสาธารณูปโภคที่จำเป็นแก่ส่วนรวม และกฎหมายให้ กฟผ.มีอำนาจหน้าที่ต้องดำเนินกิจการดังกล่าวเพื่อประโยชน์สาธารณะ  ผู้ฟ้องคดีในฐานะเข้าของที่ดินรายหนึ่ง จึงจำเป็นต้องยอมรับผลกระทบและความไม่สะดวกจากการดำเนินงานของรัฐ เพื่อประโยชน์สาธารณะ เช่นเดียวกับเจ้าของที่ดินรายอื่นซึ่งมีที่ดินอยู่ในเขตระบบโครงข่ายไฟฟ้าของ กฟผ. ข้อเท็จจริงจึงไม่อาจรับฟังได้ว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายใดอันมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างไม่มากกว่าเจ้าของที่ดินรายอื่น  

นางจรัสศรี พันธ์ศรีนวล  เปิดเผยว่า ตนเองได้ปลูกสร้างบ้านตั้งแต่ปลายปี 36    โดยได้อยู่เย็นเป็นสุขเรื่อยมา จนกระทั่งมีโครงการสายไฟฟ้าแรงสูงเข้ามา จึงได้ต่อสู้เรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 58 ได้มีการยื่นร้องเรียนไปหลายหน่วยงานแต่ไม่มีการตอบรับ จึงได้มีการยื่นฟ้องต่อศาลปกครองเมื่อปี 58 และเพิ่งได้มีคำพิพากษาเมื่อ 24  มี.ค. 64 แต่คดียังไม่ถึงที่สุด หลังจากทราบผลคำพิพากษาของศาลแล้ว จะขอยื่นอุทธรณ์เพื่อขอความเป็นธรรมต่อศาลปกครองสูงสุดอีกครั้ง เพราะเราได้รับความเดือดร้อนจริงๆ ที่ผ่านมาไม่เคยได้ค่าชดเชยใดๆจาก กฟผ.เลย ในส่วนของจำนวนเงิน 7.5 หมื่นบาทนี้ ก็เป็นเงินที่น้อยมากแทบทำอะไรไม่ได้เลย  เมื่อก่อนยังได้เลี้ยงหมูขายบ้างก็พอมีรายได้ แต่พอมีสายไฟผ่านคอกหมู ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ เพราะอยู่ในเขตสายไฟฟ้าพาดผ่าน 

จรัสศรี พันธ์ศรีนวล  


หากมีทุนทรัพย์มากกว่านี้ใครบ้างที่ไม่อยากจะย้ายออกไป   เพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย ทุกวันนี้อยู่ด้วยความระแวงกลัวว่าจะมีอันตราย และเสียโอกาสในการประกอบอาชีพค้าขายอื่นๆ จากที่เคยมีแผนว่าจะเปิดปั๊มน้ำมันหยอดเหรียญและร้านขายของชำที่บ้าน ตนก็ต้องเสียโอกาส เพราะมีสายไฟฟ้าแรงสูงพาดผ่านบ้าน ทำให้รู้สึกว่าไม่ปลอดภัย โดยเฉพาะเวลามีฝนตก ลมแรง เสียงจะดังมาก กลัวจะเกิดฟ้าผ่าหรือเหตุการณ์อื่นๆตามมา  ทำให้ไม่กล้าที่จะทำอะไรในพื้นที่บ้านของตนเองเลย จึงขอความเป็นธรรมและต่อสู้คดีให้ถึงที่สุด  ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างให้ทนายความรวบรวมข้อมูลเพื่อยื่นอุทธรณ์ต่อศาลต่อไป

สำหรับความเป็นมาในเรื่องนี้ นางจรัสศรี เคยให้ข้อมูลกับลานนาโพสต์ว่า  เมื่อปี 57 เมื่อมีการก่อสร้างโครงข่ายสายไฟฟ้าแรงสูง นางจรัสศรี ได้ยื่นร้องเรียนไปที่ ป.ป.ช. ศูนย์ดำรงธรรม  และ มทบ.32  ให้เข้ามาตรวจสอบกรณีการดำเนินการของ กฟผ.ว่าดำเนินการถูกต้องหรือไม่  อีกทั้งยังมีการสร้างหลักฐานเท็จ มีการทำเอกสารซื้อที่ดิน เมื่อปี 2529  เป็นชื่อของนายวัฒนา จันทร์เขียว  อดีตสามีของนางจรัสศรี  โดยมีการซื้อขายตอนนายวัฒนาอายุ 11 ปี   ตอนนั้นที่ดินเป็น สค.1 อยู่  ต่อมาประมาณปี 34   พ่อของนางจรัสศรี ได้ซื้อที่ดินต่อจากนายต๊ะ คงชนะ ลูกชายเจ้าของที่ดินเดิม  และยกที่ดินให้กับนางจรัสศรีในปี 36 จึงได้ไปทำใบ นส.3 และนำที่ดินเข้ากู้กับ ธ.ก.ส.ปี 40 ถึงปัจจุบัน  

ยื่นร้องเรียนต่อ รมว.ทส. เดือน ม.ค.64

กระทั่ง กฟผ.เข้ามาเดินสายไฟแรงสูงเมื่อปี 57  และอ้างเอกสารหลักฐานต่างๆ พร้อมกับได้มีการทำแผนที่ขึ้นมาบอกว่าพื้นที่บ้านของตนเองและนางอุษาเป็นพื้นที่ว่าง โดยตัดต่อภาพนำต้นไม้มาใส่เข้าไปในรูป ส่วนคอกหมูมีอยู่ 4 คอก ก็ใส่ในแผนที่ว่ามีคอกเดียว ซึ่งเอกสารเหล่านี้มาจาก กฟผ.ที่ส่งมาให้ตน  และบอกว่าพื้นที่บ้านของตนเป็นเขตแนวสายไฟ  ซึ่งเดิมเขตสายไฟอยู่ตามถนน แต่ตอนนี้คร่อมพื้นที่บ้านของตน  หลังจากสายไฟแรงสูงขึ้นแล้ว  ปี 58 ตนจึงฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ เพื่อต้องการให้ กฟผ.เข้ามาดูแลแก้ปัญหา

ต่อมา ลานนาโพสต์ได้สอบถามไปยัง กฟผ.แม่เมาะ ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว โดยได้รับการชี้แจงจาก นายสมเกียรติ พนัสชัย ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ (ช.อปน.-ห.) ว่า สายส่งไฟฟ้าเดิมเป็นสายส่งแรงดัน 69 กิโลโวลต์ แม่เมาะ 1- ลำปาง 1 สร้างเมื่อปี 2503  กำหนดเขตเดินสายไฟไว้ด้านละ 9 เมตร รวมสองด้าน 18 เมตร  ต่อมาปี 2529  กฟ.ได้ปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าจาก 69 กิโลโวลต์เป็น 115 กิโลโวลต์ โดยไม่มีการย้ายแนวสาย แต่ได้ประกาศเขตเดินสายไฟเพิ่มด้านละ 3 เมตร คือ จากเดิม 9 เมตร เป็น 12 เมตร รวมสองด้าน 24 เมตร  และมีการจ่ายค่าทดแทนที่ดินให้แก่เจ้าของและผู้ครอบครองที่ดินในส่วนที่ประกาศเพิ่มขึ้นด้านละ 3 เมตร   ต่อมาปี 2553 กฟผ.มีการปรับปรุงสายส่งเส้นนี้อีกครั้ง โดยการรื้อถอนเสาเก่าออก สร้างเสาสายส่งใหม่ในแนวเขตสายไฟฟ้าเดิม  ซึ่งระหว่างการปรับปรุง วันที่ 14 มิ.ย.54  ตรวจสอบพบว่านางจรัสศรีได้มีการก่อสร้างอาคารเลี้ยงหมูมุงสังกะสี 2 ครั้ง และอาคารเก็บของมุงด้วยกระเบื้อง 1 หลัง รุกล้ำเข้ามาในเขตแนวเดินสายไฟฟ้าของ กฟผ.  จึงได้แจ้งการรุกล้ำและเจรจาให้ทำการรื้อถอน แต่นางจรัสศรีไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ยินยอมลงลายมือชื่อรับหนังสือแจ้งการรุกล้ำในแนวเขตสายไฟ  ต่อมาได้เข้าแจ้งขอให้รื้อถอนอีกแต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือ นางจรัสศรีกลับเข้าร้องเรียน กฟผ.ต่อหน่วยงานราชการหลายแห่ง รวมถึงร้องเรียนสื่อมวลชนใน จ.ลำปาง  ซึ่ง กฟผ.ได้ดำเนินการปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าต่อไปตามแผนที่กำหนด โดยก่อสร้างสายส่ง 4 วงจร ด้านบนเป็นแรงดัน 230 กิโลโวลต์ ด้านล่างเป็นแรงดัน 115 กิโลโวลต์ รวมสองด้านเป็น 24 เมตรเท่าเดิม จึงไม่มีการจ่ายค่าทดแทนใดๆให้แก่เจ้าของหรือผู้ครอบครองที่ดิน จนงานก่อสร้างเสร็จและทำการจ่ายไฟฟ้าครบ 4 วงจร เมื่อวันที่ 1 เม.ย.58 เป็นต้นมา

ร้องทุกข์ ครม.สัญจร สำนักเลขานายกรัฐมนตรีลงพื้นที่ตรวจสอบ เมื่อเดือน ม.ค.62


    
    สำหรับประเด็นความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน กรณีมีสายไฟแรงสูงพาดผ่านบริเวณบ้านว่า  กฟผ.ได้คำนึงถึงผลกระทบและความปลอดภัยของราษฎรที่ใช้ประโยชน์ในที่ดินตามแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูง ดังนั้นในการปรับปรุงดังกล่าว ได้มีการออกแบบสายส่งให้ใช้พื้นที่เพียงด้านละ 12 เมตรเท่าเดิม เมื่อปรับปรุงสายส่งไฟฟ้าแล้วและมีการใช้งานในการจ่ายกระแสไฟฟ้า กฟผ.ยังได้มีการตรวจวัดค่าสนามแม่เหล็กไฟฟ้า และค่าสนามไฟฟ้าในพื้นที่แนวสายส่งดังกล่าว เพื่อยืนยันเรื่องความปลอดภัยกับการออกแบบสายส่งที่ทำการปรับปรุง ผลการตรวจวัดอยู่ในระดับที่มีความปลอดภัยต่อสิ่งมีชีวิต  และอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก  ซึ่ง กฟผ.ได้ชี้แจงให้กับราษฎรที่อยู่อาศัยใกล้กับแนวสายส่งไฟฟ้าแรงสูงดังกล่าวได้รับทราบจนเป็นที่เข้าใจดีแล้ว 

และประเด็นที่อ้างว่าสายไฟฟ้าแรงสูงเดิมอยู่นอกรั้วบ้าน แต่ปัจจุบันมีการเดินสายข้ามผ่านบ้านของตนเองนั้น  อปน.ได้บอกว่า เมื่อปี 2553 มีการปรับปรุงสายส่ง รื้อสายต้นเก่าออกและก่อสร้างเสาสายส่งใหม่เป็นสายส่ง 4 วงจร ภายในแนวเขตเดินสายไฟฟ้าเดิม  ในพื้นที่ของนางจรัสศรีไม่มีการย้ายแนวสายไปจากแนวเดิม ซึ่งได้มีการจัดทำรังวัดในการปรับปรุงสายส่งไฟฟ้า โดยมีภาพถ่ายยืนยันในพื้นที่ของนางจรัสศรี ทั้งก่อนและหลังการปรับปรุงอย่างชัดเจน

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์