วันพฤหัสบดีที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

“สืบฮีต สานฮอย” ตามรอยประเพณีตลอดปีเมืองล้านนา (ตอนที่ 1)

 


ก่อนอื่นต้องขอแสดงความชื่นชมยินดีกับชาวลำปาง ในกรณีการลงชื่อจองวัคซีนป้องกันโควิด-19 ด้วยจำนวนถึง 223,976 มากที่สุดรองจากกรุงเทพฯ เมื่อเทียบต่อประชากรสูงสุดในประเทศ...ฟังเขาเล่ามาอีกทีหนึ่งว่า ที่ยอดจองสูงขนาดนี้ไม่ใช่เพราะความบังเอิญแต่สะท้อนให้เห็นว่าเกิดขึ้นจากความสามารถและการตัดสินใจโดยผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ รวมไปถึงการร่วมมือร่วมใจของเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่างๆ ที่ตั้งใจทำงานเพื่อพี่น้องชาวลำปางอย่างเต็มที่จนเกิดความสำเร็จในครั้งนี้

 


และในช่วงนี้ที่เรายังไม่สามารถทำอะไรได้มากนักนอกจากอยู่บ้านแล้วพยายามดูแลตัวเองให้แข็งแรง เพื่อให้ปลอดภัยจากเชื้อโควิด-19 และลดการแพร่เชื้อไปในคราวเดียวกัน จึงขอนำเอาส่วนหนึ่งของบทความเกี่ยวกับ “ประเพณีสำคัญของชาวล้านนา” ซึ่งเรียบเรียงโดย รองศาสตราจารย์ลิปิกร มาแก้ว หลักสตูรทัศนศลิป์คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยรีาชมงคลล้านนาภาคพายัพเชียงใหม่ มาเล่าสู่กันฟัง

 

อาณาจักรล้านนา ในอดีตมีความเจริญรุ่งเรือง ผู้คนสงบสุขร่มเย็นนับตั้งแต่โบราณกาลอีกทั้งความ ศรัทธา ในพระพุทธศาสนาได้หยั่งรากฝังลึก หล่อหลอมก่อให้เกิดศิลปะและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงาม สืบเนื่องตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ชนชาวล้านนาได้ยึดถือหลักธรรม และปรัชญาคาสอนของ องค์สมเด็จพระ สัมมาสัมพุทธเจ้า มาเป็นแนวทางในการดาเนินชีวิต ทาให้มีความสงบสุขตลอดมา

 


“ล้านนา” มีผู้คนอาศัยอยู่หลากหลายชาติพันธุ์ มีความคล้ายคลึงกันทั้งรูปร่างหน้าตาและจารีตต่างๆ ดัง มีผู้กล่าวว่าความหลากหลายทางชาติพันธุ์นี้เองก่อเกิดความเป็น ล้านนา กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มแรกๆ ที่อาศัยอยู่ คือ “ลั๊วะ” เป็นชาวพื้นเมืองในกลุ่มมอญ เขมร ตั้งถิ่นฐานกระจายทั่วไปในภาคเหนือเลยไปถึงเมืองเชียงตุง เมืองยองและหุบเขาต่างๆ ชนเผ่าลัวะมีหลายเผ่าและมีระดับความเจริญแตกต่างกันมาก เม็งชาติพันธุ์มอญ โบราณที่ตั้งถิ่นฐานในภาคเหนือมาช้านานแล้ว “ไทยวน” เป็นคนกลุ่มใหญ่ใช้ภาษาคาเมือง ไทลื้อ ไทยอง เชื่อกันว่าติดต่อกับกลุ่มชนในพื้นที่มานานแล้วก่อนที่จะอพยพเคลื่อนย้ายมาเพิ่มอีกตามหลักฐานที่ปรากฏในยุค เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง (สมัยพระเจ้ากาวิละ) “ไทขึน” กลุ่มชนแห่งลุ่มน้ำขืนหรือชนต่างกลุ่มเรียก เขิน อยู่ในจังหวัดเชียงตุง ประเทศพม่า “ไทใหญ่” ส่วนมากจะอาศัยอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอน และกลุ่มชาติพันธุ์ อื่นๆ รวมทั้งไทภูเขาอีกหลายเผ่า ล้านนา ปัจจุบันถ้านับตามแผนที่ประเทศไทยประกอบด้วย 8 จังหวัด ภาคเหนือ คือ เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา น่าน แพร่ ลำปาง ลำพูน และแม่ฮ่องสอน หากนับตามที่ ปรากฏในตำนานหรือด้านวัฒนธรรม ล้านนายังรวมไปถึง เชียงตุง ในพม่า สิบสองพันนาในประเทศจีนและ บางส่วนในประเทศลาวอีกด้วย

 

เทศกาลงานประเพณีและวัฒนธรรมของชาวล้านนาล้วนมาความเชื่อมโยงกับ “พระพุทธศาสนา” ที่เกิดขึ้นในแต่ละเดือนตลอดทั้งปี ส่วนใหญ่มักสอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเชื่อ ความศรัทธาในพระศาสนา สืบทอดต่อกันมา จากรุ่นสู่รุ่น เกิดเป็นประเพณีมีการ สืบฮีต สานฮอยหรือเรียกว่า ประเพณี 12 เดือน ในแต่ละเดือนจะ มีเทศกาลงานประเพณีต่างๆ จัดขึ้นมากมาย ล้วนเกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตตั้งแต่เกิดจนถึงตาย

 

ประเพณี 12 เดือนล้านนา เป็นประเพณีที่กำหนดขึ้นในรอบปีของชาวล้านนา ประเพณีในแต่ละท้องถิ่นในล้านนาอาจมีความแตกต่างกันบ้าง เพื่อให้เกิดความเข้าใจในประเพณีในแต่ละเดือน การนับเดือนของล้านนาเป็นการนับเดือนทางจันทรคติ ซึ่งมีความต่างจากของภาคกลาง คือการนับเดือนของล้านนาจะ เร็วกว่าภาคกลาง 2 เดือน เช่นเดือน 7 เหนือจะเป็นเดือน 5 ของภาคกลางประมาณกลางเดือน เมษายน การเรียงลาดับเดือน จะเริ่มที่ เดือน 7 เหนือ ถือว่าเป็นการเริ่มศักราชต้นปี กล่าวคือเริ่มในปี ใหม่สงกรานต์

 


เดือน 7 เหนือ (ราวเมษายน) ประเพณีสงกรานต์ ชาวล้านนาเรียกว่า ปเวณีปีใหม่ หรือปาเวณีปีใหม่เมือง (อ่าน "ป๋าเวนีปี๋ใหม่") ช่วงเทศกาลเวลา 5 วัน ประชาชนจะหยุดงานทั้งสิ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระนี้ทั้งในแง่ศาสนาและพิธีกรรม โดยตลอด เทศกาลสงกรานต์ตามปฏิทินโหราศาสตร์ของชาวล้านนานั้น จะถือเอาวันที่พระ อาทิตย์เคลื่อนจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษเป็นวันสังกรานต์ล่องหรือวันมหาสงกรานต์ ซึ่งจะไม่ตรงกับวันที่ 13 เมษายน ตามประกาศของทางการเสมอไป (แต่ปัจจุบันนี้จะยึดตามประกาศของทางการ) เทศกาลนี้จะมีวันต่างๆ และมีพิธีกรรมและการละเล่นหลายอย่างที่เกี่ยวข้องกัน

 

เดือน 8 เหนือ (ราวพฤษภาคม) ประเพณีขึ้นพระธาตุ/สรงน้าพระ ธาตุ วันเดือน 8 เพ็ญ (เหนือ) เป็นวันที่มีความสำคัญทางพุทธศาสนามาก กล่าวคือ ตรงกับวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า เป็นวันที่ชาวพุทธทั่วโลกทำพิธี รำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระองค์ โดยการทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์และรักษาศีล ฟังเทศน์ ปฎิบัติธรรมกันทั่วไป ในล้านนาไทยประชาชนนิยมพากันไปสู่บุญสถานที่สำคัญๆ เช่น ในจังหวัดเชียงใหม่ ก็จะพากันไปวัดพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงรายไปพระธาตุจอมกิติและพระธาตุดอยตุง จังหวัดลำพูนไปนมัสการพระธาตุหริภุญชัย จังหวัดลำปางไปนมัสการพระธาตุลำปางหลวง เป็นต้น




นอกจากการสร้างประเพณีไปไหว้พระธาตุที่สำคัญๆ แล้ว คนโบราณของล้านนายังสร้างค่านิยมให้บังเกิดขึ้นกับประชาชนด้วยการให้ประชาชน ชุธาตุคือถือเอาพระธาตุเจดีย์นั้นเป็นที่พึ่งของตนด้วย ซึ่งตามประเพณีชาวเหนือถือกันว่าคนเกิดปีใด จะต้องไปสักการะบูชาพระธาตุที่นั้น จึงจะเป็นศิริมงคลแก่ตนให้มีอายุยืนมีบุญอานิสงส์มาก มีดังนี้


1.    คนเกิดปีไจ้ คือปีชวด พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุศรีจอมทอง อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่

2.    คนเกิดปีเป้า คือปีฉลู พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุลาปางหลวง อำเภอเกาะคา จังหวัดลาปาง

3.    คนเกิดปียี คือปีขาล พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุช่อแฮ อำเภอเมือง จังหวัดแพร่

4.    คนเกิดปีเหม้า คือปีเถาะ พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุแช่แห้ง อำเภอเมือง จังหวัดน่าน

5.    คน เกิดปีสี คือปีมะโรง พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระเจดีย์พระสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ บางคนว่าปีนี้คนชุ พระสิงค์ หรือพุทธสิหิงค์

6.    คนเกิดปีไส้ คือปีมะเส็ง พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระเจดีย์ศรีมหาโพธิ์ ที่พุทธคยาประเทศอินเดีย เจดีย์เจ็ดยอด วัดมหาโพธาราม จังหวัดเชียงใหม่

7.    คนเกิดปีสะง้า คือปีมะเมีย พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุย่างกุ้ง หรือ ชะเวดากอง ประเทศพม่า

8.    คนเกิดปีเม็ด หรือปีมะแม พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุดอยสุเทพ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

9.    คนเกิดปีสัน คือปีวอก พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุพนม จังหวัดนครพนม

10.  คนเกิดปีเล้า หรือปีระกา พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุหริภุญชัย อำเภอเมือง จังหวัดลาพูน

11.  คนเกิดปีเส็ด คือปีจอ พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุเกศแก้วจุฬามณี บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ หรือวัดเกตุการาม อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่

12.  คนเกิดปีไค้ คือปีกุน พระธาตุประจำปีเกิดคือ พระธาตุดอยตุง อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย

พระธาตุประจำเกิดนี้ ถือว่าหากผู้ใดเกิดปีไหนแล้วควรไปนมัสการกราบไหว้พระธาตุนั้นๆ ก็จะได้อานิสงส์มาก สำหรับผู้ที่อยู่ห่างไกลจากพระธาตุที่ประจำปีเกิดของตนเดินทางไปไม่ถึง ก็ให้กราบไว้เอาเองหรือไปขอผู้ที่วาดรูปเป็น วาดใส่แผ่นผ้าหรือแผ่นกระดานให้นำมาสักการะบูชาก็ได้

 

เดือน 9 เหนือ (ราวมิถุนายน) ประเพณีเลี้ยงผีปู่ย่า ถือเป็นผีประจำตระกูลซึ่งสืบทอดมาทางฝ่ายผู้หญิง นอกจาก ลูกหลานจักต้องให้ความเคารพ โดยจัดทำหอผีไว้ทางทิศหัวนอนและให้ความเคารพโดยไม่กระทำสิ่งไม่ควร แล้วเมื่อถึงโอกาสเช่น สงกรานต์ ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน หรือวันกำหนดเลี้ยงผี (มักกำหนดกันในช่วงเดือน 7,8,9 เหนือ) ก็ควรจะมีการทำพิธีอย่างสม่ำเสมอตามประเพณีที่สืบทอดกันมาในแต่ละตระกูล โดยจะมีการนำเครื่องสักการะ เช่น ไก่ เหล้า หรือข้าวปลาอาหารอื่นๆ แล้วแต่จะมีการกำหนดกันมา ไปสังเวยแก่ผีปู่ย่าที่ หอผี เพื่อผีปู่ย่าจะได้คุ้มครองให้ลูกหลานได้อยู่ดีมีสุขตลอดไป

 


เดือน 10 (ราวกรกฎาคม) ประเพณีเข้าพรรษา ชาวล้านนามักออกเสียงว่า เข้าวัสสาคือการที่พระสงฆ์อยู่ประจำที่ใดที่หนึ่ง ในช่วงฤดูฝน พระสงฆ์จะต้องหยุดการเดินทางไปที่ต่างๆ และพักอยู่ที่ใดที่หนึ่งโดยไม่ไปแรมคืนที่อื่นภายใน กำหนด 3 เดือน เรียกว่า เข้าวัสสา ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 10 เหนือ ไปจนถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนเกี๋ยง (เดือน 11 ภาคกลาง) เมื่อถึงวันนี้ ชาวพุทธทั้งหลายจะพากันไปใส่บาตร รับศีล ตอนกลางคืนมีการถวายเทียนเข้าพรรษา ก่อนจะถึงวันหรือเวลาถวายเทียน มักจะมีการแห่เทียนพรรษาไปตามหมู่บ้านต่างๆ เป็นที่สนุกสนาน มักจะมีทานขันข้าวหาคนตาย รวมทั้งการทานแด่พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย ที่ยังมีชีวิตอยู่ด้วย ในช่วงเข้าพรรษาชาวบ้านส่วนใหญ่จะไปทำบุญที่กันทุกวันพระ มีการฟังเทศน์ ฟังธรรม คนเฒ่าคนแก่จะมีการไปนอนวัดจำศีล สำหรับคนทั่วไปบางคนก็ตั้งใจใน การงดเว้นบาปและถือศีล เช่น รักษาอุโบสถศีลตลอดพรรษา งดเว้นดื่มสุรา งดเว้นเนื้อสัตว์ตลอดพรรษา เป็นต้น ทางราชการยังได้ถือเอาวันเข้าพรรษาทุกปีเป็นวันต้นไม้ แห่งชาติอีกด้วย

 

เดือน 11 (ราวสิงหาคม) ประเพณีเอามื้อปลูกนา ช่วงเดือนนี้เป็นช่วงที่ชาวบ้านลงมือดำนาปลูกข้าว สมัยก่อนจะไม่มี การว่าจ้าง แต่ระดมแรงมาช่วยกัน ให้เสร็จเป็นเจ้าๆ ไป ผู้ใดที่เคยไปช่วยผู้อื่นพอถึงคราวตนปลูกข้าวผู้นั้นก็จะมาช่วย ส่วนเจ้าภาพก็จะเตรียมจัดข้าวปลาอาหารมาเลี้ยงผู้ที่มาช่วยงาน ต่อมามีการว่าจ้าง เรียกกันว่า "ใส่รางวัล"

 

ประเพณีวัน 12 เพง หรือ 12 เป็ง (ราวเดือนกันยายน) เป็นประเพณีทานหาคนตาย ถือกันว่าช่วง วันขึ้น 1 ค่ำ ถึงวันแรม 14 ค่ำ เดือน 12 เหนือ เป็นช่วงที่พญายมราชได้ปล่อยวิญญาณผู้ตายกลับมาสู่เมืองมนุษย์เพื่อมาขอรับส่วนบุญจากญาติพี่น้องลูกหลาน จึงมีการทำบุญอุทิศถึงผู้ตายกันมาก หากเป็นการทานหาผู้ที่ตายปกติก็จะมีการ นำอาหารไปถวายพระที่วัดตามปกติ พระจะกรวดน้ำแผ่กุศลโดยเอ่ยนามผู้ตายที่ถูกระบุชื่อ ถ้าทานถึงผู้ที่ตายโหง ญาติจะนิมนต์พระมารับถวายอาหารนอกวัด เพราะเชื่อกันว่าผีตายโหงเข้าวัดไม่ได้

 


อย่างที่ทราบกันดีว่าเมืองล้านนามีประเพณีและวัฒนธรรมอยู่มากมาย และเรื่องราวของประเพณี 12เดือนของชาวล้านนานั้น ก็ยังมีรายละเอียดในข้อปลีกย่อยอีกไม่น้อย ที่กล่าวมานี้เป็นเพียวส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง และสำหรับประเพณีที่เหลืออีก 6 เดือน จะว่ามาต่อกันในสัปดาห์หน้านะคะ

กอบแก้ว แผนสท้าน....เรื่อง

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์