เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2564 นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยว่า สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายของกำแพงวัดยางกวง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งพังถล่มลงมาหลังจากเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงในพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ เมื่อคืนวันที่ 2 พฤษภาคมที่ผ่านมา พบว่า กำแพงวัดด้านทิศตะวันออกซึ่งเป็นกำแพงก่ออิฐเดิมสูงประมาณ 1.50 เมตร หนา 0.40 เมตร มีอายุการสร้างประมาณ 80-100 ปี อยู่ในเขตประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานวัดยางกวง ได้พังเสียหายลงมาเป็นระยะทางยาวประมาณ 15 เมตร จากการตรวจสอบและวิเคราะห์ความเสียหายเบื้องต้นพบว่า บริเวณด้านในของกำแพงที่พังเสียหาย มีการก่อสร้างศาลาบาตรและลานประทักษิณรอบ ๆ องค์เจดีย์วัดยางกวง ซึ่งก่อสร้างมาประมาณสิบปีแล้ว มีการถมดินปนเศษอิฐหักรองพื้น และยกพื้นสูงกว่าพื้นถนนด้านนอก เมื่อมีปริมาณน้ำฝนที่มาก ทำให้น้ำฝนซึมลงสู่ชั้นดินด้านล่าง ด้วยความสูงของการถมดินพื้นด้านในกำแพงมากกว่า 1.50 เมตร โดยอาศัยกำแพงก่ออิฐเดิมเป็นผนังที่รับแรงดันด้านข้าง ประกอบกับอายุการก่อสร้างกำแพง ซึ่งชำรุดทรุดโทรมตามกาลเวลาอยู่แล้ว กำแพงก่ออิฐจึงไม่สามารถรับแรงดันดินด้านข้างจากภายในนี้ได้ทำให้เกิดเหตุดังกล่าว
อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า เบื้องต้นทางสำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่
ได้ประสานกับหน่วยงานในท้องถิ่นในการขนย้ายเศษอิฐกำแพงที่พังทลายออก
และขอความอนุเคราะห์องค์การบริหารส่วนจังหวัด, เทศบาลนครเชียงใหม่
ใช้กระสอบทรายปิดกั้นแนวกำแพงและใช้เป็นผนังรับแรงดันดินด้านข้างเป็นการชั่วคราวก่อน
จากนี้จะส่งผู้เชี่ยวชาญจากกลุ่มวิศวกรรม สำนักสถาปัตยกรรม
มาดำเนินการสำรวจและแนะนำแนวทางการบูรณะซ่อมแซม พร้อมทั้งมอบให้สำนักศิลปากรที่
7 เชียงใหม่
เร่งทำรูปแบบเพื่อบูรณะคืนสภาพเดิม ทั้งนี้
เจ้าอาวาสวัดยางกวงได้รับทราบและยินดีจัดหางบประมาณในการบูรณะซ่อมแซมวัดยางกวงภายใต้การกำกับดูแลและคำแนะนำของกรมศิลปากร
“วัดยางกวง” ตั้งอยู่ในเขตกำแพงดิน ทางทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ มีชื่ออีกอย่างว่า
วัดน่างรั้ว บางครั้งก็เรียกว่า
วัดหน่างรั้ว คำว่า หน่างรั้วเป็นคำพิ้นบ้านล้านนาตามพจนานุกรรมล้านนาของ
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร. มณี พยอมยงค์ ให้ความหมายไว้ว่า หน่างรั้ว คือ รั้ว
หรือแนวกัน ที่ทำให้คนหรือสัตว์เข้ามาติดแล้วออกไปไม่ได้
ซึ่งปรากฏในตำนานเมืองเชียงใหม่ว่า
พญามังรายพญามังรายทรงโปรดให้ทำหน่างรั้วป้องกันข้าศึกไว้รอบเวียง
สันนิษฐานว่า วัดหน่างรั้ว
น่าจะสร้างขึ้นในยุคต้นของราชวงศ์มังราย จากตำนานตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ได้กล่าวไว้ว่า
เมื่อครั้งพญามังรายทรงออกแสวงหาชัยภูมิเพื่อสร้างเมืองใหม่
พระองค์เสด็จออกจากเวียงกุมกาม และทรงแวะตั้งค่ายพักแรม ณ บริเวณแห่งนี้
โดยให้ทหารและเสนาอำมาตย์สร้างหน่างรั้ว กั้นรอบล้อมค่ายพักแรมไว้
เพื่อป้องกันภัยอันตรายทั้งมวล ในเวลาต่อมาที่แห่งนี้จึงได้ชื่อว่า วัดหน่างรั้ว
แต่ยังไม่พบหลักฐานที่แน่ชัดว่าวัดนี้สร้างในสมัยใดและใครเป็นผู้สร้าง
มีเพียงหลักฐานปรากฏในนิราศหริภุญชัย (พ.ศ. 2060)
นับแต่ล้านนาถูกพม่ายึดครอง
เป็นเวลา 200 กว่าปี
ทำให้วัดวาอารามต่าง ๆ ในเมืองเชียงใหม่ถูกละทิ้งตกอยู่ในสภาพวัดร้างเป็นจำนวนมาก
วัดยางกวงก็เป็นหนึ่งในจำนวนวัดร้างทั้งหลายเหล่านั้น จวบจนปี พ.ศ. 2339 พญากาวิละได้ยกทัพกลับมาขับไล่พม่าครั้งสุดท้ายออกจากล้านนา
และได้กวาดต้อนเอาชนเผ่าไทยจากเขตเชียงรุ้งสิบสองปันนาและเชียงตุงให้มาอยู่ในเมืองเชียงใหม่
หรือที่เรียกกันว่า เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง
ผู้คนทั้งหลายที่ถูกกวาดต้อนมาจากทางเหนือมีกลุ่มหนึ่งเป็นชาวไทยเขินมาจากบ้านยางกวงเมืองเชียงตุงเข้ามาอยู่รอบๆ
วัดหน่างรั้ง และได้ช่วยกันฟื้นฟูบูรณะวัดแห่งนี้จนเจริญรุ่งเรือง
และภายหลังได้เปลี่ยนชื่อวัดนี้เป็น วัดยางกวง เหมือนในเชียงตุง
เพื่อเป็นอนุสรณ์ว่าพวกเขามาจากบ้านนายางกวงเชียงตุง
ต่อมาภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2
วัดยางกวงแห่งนี้กับกลายเป็นวัดร้างอีก
สำหรับลักษณะความสำคัญของ “วัดยางกวง” รูปทรงเจดีย์เป็นทรงมณฑป 8 เหลี่ยม ที่มีเครื่องยอดเป็นทรงระฆัง 8 เหลี่ยม รวมถึงส่วนบัลลังก์ ปล้องไฉนและปลียอด ลักษณะเด่นที่ปรากฏพบเห็นนี้ มีเพียงเจดีย์ที่วัดยางกวงแห่งเดียว
ตามตำนานที่ได้ศึกษากันก็พอจะประมาณได้ว่า
สร้างขึ้นในช่วงเวลาที่ล้านนาเป็นเอกราชคือ ในระยะตั้งแต่ ปี พ.ศ. 1839-2100 หรือประมาณพุทธศตวรรษที่ 20 ซึ่งอยู่ในรัชกาลของพญาติโลกราช (พ.ศ.1985-2030)
และมีการบูรณะเจดีย์อีกครั้งในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 21
หรือราวต้นรัตนโกสินทร์ (ตรงกับสมัยพระเจ้ากาวิละ)
ต่อมาได้ทำการบูรณะอีกครั้งในสมัยรัชกาลปัจจุบัน
ซึ่งได้รับเมตตาจากพระเดชพระคุณพระเทพวรสิทธาจารย์ รองเจ้าคณะภาค 7 เจ้าอาวาสวัดพระธาตุดอยสุเทพราชวรวิหาร เป็นประธานในการบูรณะจนแล้วเสร็จ
ส่วนซุ้มจระนำขององค์พระเจดีย์นั้น
ประดิษฐานพระพุทธรูปปูนปั้นประทับนั่ง ที่ยังคงปรากฏอยู่ในบางซุ้ม
อย่างไรก็ตามเมื่อช่วงปลายปี
2563 ที่ผ่านมา สำนักศิลปากรที่ 7 เชียงใหม่ ได้เปิดเผยผลการศึกษาทางด้านโบราณคดีของวิหารวัดยางกวง
อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่
โดยเฉพาะประเด็นการพบฐานพระพุทธรูปประดับด้วยกระจกจีนซึ่งเป็นที่ฮือฮาอย่างมากเมื่อครั้งมีการเปิดเผยภาพ
ซึ่งจากการศึกษาได้พบพัฒนาการทางสถาปัตยกรรมถึง 4 ยุคสมัยด้วยกัน คือ
ยุคที่
1 เป็นอาคารสี่เหลี่ยมผืนผ้าแบบลดชั้น ด้านหน้า 3 ชั้น และด้านหลัง 3 ชั้น
ฐานอาคารเป็นฐานหน้ากระดานซ้อนกัน 3 ชั้น โดยในยุคที่ 1 นี้สามารถแบ่งได้เป็น 2
สมัยย่อย คือ สมัยที่ 1 ปรากฏร่อยรอยฐานพระและแนวแท่นบูชาที่ค่อนข้างเรียบง่าย
สะท้อนถึงสภาวะทางเศรษฐกิจของชุมชนผู้สร้างที่ยังไม่มั่นคงมากนัก
ยุคที่
2 ปรากฏร่องรอยการตกแต่งฐานพระด้วยลายปูนปั้นประดับกระจกจืน
จากลักษณะทางสถาปัตยกรรมผังอาคารที่ปรากฏแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลจากกลุ่มวัฒนธรรมเชียงตุง
ซึ่งสอดคล้องกับเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ที่พระยากาวิละได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองเชียงตุงลงมาตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่เมื่อปี
พ.ศ.2345 จึงกำหนดอายุของสิ่งก่อสร้างยุคที่ 1 ทั้ง 2 สมัย
ครอบคลุมช่วงระยะเวลาตั้งแต่ พ.ศ. 2350 – 2450
ยุคที่
3 อาคารวิหารเหลือสภาพเพียงฐานลานโล่ง มีเพียงหลังคาคลุมเฉพาะองค์พระประธาน
ส่วนฐานพระถูกสร้างทับด้วยคอนกรีตแบบเรียบง่าย
ซึ่งสภาพดังกล่าวเป็นผลมาจากการที่ผู้คนอพยพหนีภัยสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งผลให้สภาพอาคารทรุดโทรม สามารถกำหนดอายุวิหารยุคที่สามได้ระหว่าง พ.ศ.2500 – 2549
ยุคที่
4 เป็นอาคารวิหารสมัยใหม่คอนกรีตเสริมเหล็ก ส่วนฐานและผนังก่ออิฐ สร้างขึ้นในปี
พ.ศ.2549 และใช้มาจนถึง พ.ศ. 2560
กอบแก้ว
แผนสท้าน...เรื่อง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น