เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซาลำปาง อ.เมืองลำปาง นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยนายจำลักษณ์ กันเพชร รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นายแพทย์ประเสริฐ กิจสุวรรณรัตน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดลำปาง นายแพทย์พงษ์ศักดิ์ โสภณ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลลำปาง รวมถึงคณะกรรมการหอการค้าจังหวัดลำปาง ภาครัฐเอกชนในพื้นที่ จังหวัดลำปาง เข้าร่วมตรวจสอบและชี้แจงแนวทางการใช้สถานที่ห้างเซ็นทรัลฯ เป็นจุดฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด 19 นอกพื้นที่ ซึ่งถือว่าเป็น 1 ใน 6 สถานที่ ที่ได้ยื่นเสนอตัวขอร่วมบริการแก่คณะทีมแพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายเพื่อใช้สถานที่ ในการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด 19 นอกพื้นที่
ทั้งนี้
คาดว่าตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2564 เป็นต้นไป จังหวัดลำปางจะทยอยฉีดวัคซีน
แก่ประชาชน ที่ลงทะเบียนไว้ และหากจะใช้โรงพยาบาลลำปาง หรือสถานบริการสุขภาพต่างๆ อาจจะไม่เพียงพอต่อการเข้ามาใช้บริการ
ดังนั้นจุดบริการฉีดวัคซีนนอกสถานที่ จึงจำเป็นที่จะต้องมีความพร้อมในทุกด้าน
นายณรงค์ศักดิ์
โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
การลงพื้นที่ตรวจความพร้อมสถานที่ฉีดวัคซีนนอกพื้นที่ ทั้งนี้ เป็น 1 ในมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดไวรัสโควิด
19 ในเบื้องต้นพบว่า ที่ห้างเซ็นทรัลพลาซ่าลำปาง มีความพร้อม
ทั้งความสะดวกของผู้ที่จะมาใช้บริการ ไม่แออัด อีกทั้งสถานที่แห่งนี้ยังอยู่ห่างจากโรงพยาบาลลำปาง
หรือโรงพยาบาลเอกชน เพียงแค่ 1-2 กิโลเมตร ซึ่งหากเกิดการผิดพลาดหรือเหตุฉุกเฉินสามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปรักษาได้อย่างทันท่วงที
ด้านสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดลำปาง
รายงานสถานการณ์โรคโควิด-19 ของจังหวัดลำปางระลอกเดือนเมษายน 2564 ตั้งแต่วันที่ 6
เมษายน 2564 ถึงวันที่ 20 พฤษภาคม 2564 ข้อมูล ณ เวลา 09.00 น.
ไม่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 255 คน กระจายอยู่ในพื้นที่ทั้ง 12
อำเภอ ยกเว้นอำเภอสบปราบ โดยรักษาหายแล้ว 234 คน อยู่ระหว่างการรักษา 19 คน
และเสียชีวิตสะสม 2 ราย
สำหรับการเตรียมความพร้อมของหน่วยบริการสถานพยาบาล
ซึ่งโรงพยาบาลประจำอำเภอทุกอำเภอของจังหวัดลำปาง
ได้มีการปรับบทบาทในการรับการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 โดยข้อมูล ณ วันที่ 19
พฤษภาคม 2564 มีเตียงรองรับผู้ป่วยทั้งหมด 478 เตียง แยกเป็นโรงพยาบาลของรัฐ 298
เตียง และโรงพยาบาลสนาม 3 แห่ง รวม 180 เตียง มีผู้ป่วยเข้ารับการรักษา
(ครองเตียง) 29 เตียง เหลือเตียงว่าง 449 เตียง นอกจากนี้
จังหวัดลำปางได้เตรียมโรงพยาบาลสนาม 3 แห่ง ได้แก่
โรงพยาบาลสนามภายในศูนย์วิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง
จำนวน 80 เตียง ที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาสตรีและครอบครัวภาคเหนือ จำนวน 60 เตียง
และที่สถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 10 ลำปาง จำนวน 40 เตียง
พร้อมรองรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 หากเตียงในโรงพยาบาลมีไม่เพียงพอ
อีกทั้งมีโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ (โรงพยาบาลเวชชารักษ์/โรงพยาบาลมะเร็งลำปาง)
โรงพยาบาลสังกัดกระทรวงกลาโหม (โรงพยาบาลค่ายสุรศักดิ์มนตรี) และโรงพยาบาลเอกชน
(โรงพยาบาลเขลางค์นคร-ราม) พร้อมรองรับสถานการณ์โควิด-19
ด้านการรักษาพยาบาลและการตรวจตัวอย่างผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น