วันพฤหัสบดีที่ 3 มิถุนายน พ.ศ. 2564

สมุนไพรไทยในวิกฤติโควิด-19

 


สมุนไพรไทย” หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่เป็นจุดแข็งของประเทศไทยเป็นภูมิปัญญารุ่นต่อรุ่น เปี่ยมคุณประโยชน์ ปลอดภัยไร้สารเคมี ผู้คนส่วนใหญ่นิยมนำมาใช้เป็นวัตถุดิบปรุงอาหาร ทำเครื่องสำอาง และยาทางการแพทย์

 

เริ่มจาก ฟ้าทะลายโจร  มีสรรพคุณแก้ไข้ แก้อักเสบ แก้เจ็บคอ  เป็นสมุนไพรพื้นบ้านรสขมที่นิยมนำมาใช้รักษาหวัดตั้งแต่โบราณ ซึ่งประกอบไปด้วยสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพหลากชนิด เช่น ไดเทอร์ปีนอยด์ (Diterpenoids) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) และโพลีฟีนอล (Polyphenols) ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบและการติดเชื้อ ช่วยกระตุ้นการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน และอาจช่วยบรรเทาอาการหวัดได้

 

โดย “กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก” พบว่า สารสำคัญแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ใน    ฟ้าทะลายโจร น่าจะมีศักยภาพในการช่วยป้องกันไม่ให้เชื้อโคโรนาเข้าเซลล์และป้องกันการแบ่งตัวของโคโรนาไวรัสได้

ทางกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก จึงได้ร่วมมือกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ดำเนินการศึกษานำร่องผลของยาสารสกัดฟ้าทะลายโจรขนาดสูง ต่อผู้ป่วยโรคโควิด-19 หลังจากการวิจัยในหลอดทดลอง พบว่า มีฤทธิ์ในการฆ่าเชื้อและยังยั้งการแบ่งตัวของไวรัสได้

 

อีกหนึ่งสมุนไพรไทย ที่กำลังมาแรง “กระชายขาว” ซึ่งได้รับการยืนยันว่า “สารสกัดกระชายขาว” เป็นอีกหนึ่งตัวช่วยหนึ่งที่มีฤทธิ์ในการช่วยต่อต้านโรครัสโควิด-19 ได้ ทำให้เชื้อไวรัสไม่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว เมื่อเชื้อไม่ขยายตัว เม็ดโลหิตขาวซึ่งมีหน้าที่สร้างภูมิคุ้นกันก็จะสามารถสร้างภูมิขึ้นมาคุ้มกันได้มากเพียงพอที่จะฆ่าเชื้อโรคได้ โดยในหลอดทดลอง นักวิจัย ม.มหิดล เร่งพัฒนาสารสกัดกระชายขาวเพื่อใช้เป็นยาสำหรับโรคโควิด-19  คาดว่าใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี ในการวิจัยและพัฒนาให้สำเร็จ โดยโครงการวิจัยต้านเชื้อไวรัสโคโรนาจากสมุนไพรไทย เป็นความร่วมมือระหว่าง คณะวิทยาศาสตร์ ม.มหิดล คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ม.มหิดล และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ TCELS ...แน่นอนว่าเมื่อมีข่าวเผยแพร่ออกจาก ทำให้ขณะนี้มีการนำกระชายขาวมาทำเป็นน้ำกระชายดื่มกัน ซึ่งเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของความหวังที่หลายคนเชื่อว่าจะช่วยป้องกันโควิด-19

 

อีกหนึ่งสุดยอดสมุนไพร พลูคาว มีชื่อท้องถิ่นได้หลายชื่อ เช่น พลูคาว ผักคาวตอง ผักก้านตอง ในประเทศไทยพบมากทางภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยภาคเหนือและอีสานใช้เป็นผักจิ้มน้ำพริก หรือกินกับลาบอย่างเอร็ดอร่อย ซึ่งยังมีข้อมูลจากสถาบันวิจัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในปี 2548 ได้ระบุว่า พลูคาวสามารถรักษาภาวะภูมิแพ้ หอบหืด เยื่อบุตาอักเสบจากภูมิแพ้ การแพ้อาหาร ทั้งยังสามารถรักษาภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง และช่วยเสริมภูมิต้านทานให้แก่ร่างกายได้อีกด้วย นอกจากนั้นยังได้มีงานวิจัยออกมาสนับสนุนอีกเช่นกันว่า พลูคาวมีฤทธิ์ทำลาย และยับยั้งเชื้อไวรัสได้หลายชนิด คือ ไวรัสไข้หวัดใหญ่ เอดส์ เริม และไวรัสที่ทำให้เป็นโรคมือเท้าปากเปื่อย โดยปัจจุบันนี้ในประเทศจีนมีการใช้พลูคาวเป็นส่วนผสมในตำรับยารักษาโรคที่เกิดจากไวรัส และมีการจดสิทธิบัตรไว้หลายรายการ

 

เช่นเดียวกับสมุนไพรพื้นบ้านที่ใช้กันมายาวนาน ขมิ้นชัน มีแทบทุกครัวเรือนไทย ได้มีการนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเพิ่มสีสันแต่งกลิ่น และรสชาติของอาหาร รวมถึงใช้เป็นเครื่องสำอาง นอกจากนั้นยังมีคุณประโยชน์มากมายที่แฝงอยู่ ซึ่งเรียกได้ว่า ขมิ้นชัน เป็นขุมทรัพย์แห่งเอเชียเลยก็ว่าได้ มีผลจากงานวิจัยพบว่า เคอร์คูมินอยด์ (curcuminoids) ในขมิ้นชัน สามารถช่วยต้านอาการอักเสบ บรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม ยับยั้งเซลล์มะเร็งได้หลายชนิด บรรเทาอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน รวมไปถึงต้านเชื้อแบคทีเรีย ไวรัสได้ดีเช่นกัน

 

นอกจากนี้ยังมี "กระเทียม" เป็นพืชที่นิยมนำมาใช้รักษาหวัดอย่างยาวนาน เพราะเชื่อว่ากระเทียมอาจมีคุณสมบัติต้านเชื้อไวรัสและเชื้อแบคทีเรีย อีกทั้งยังอุดมไปด้วยสารชีวภาพหลากชนิด เช่น อาร์จีนีน (Arginine) โอลิโกแซ็คคาไรด์ (Oligosaccharides) ฟลาโวนอยด์ (Flavoniods) ซีลีเนียม (Selenium) และอัลลิซิน (Allicin) ที่อาจช่วยรักษาหวัดได้การใช้กระเทียม จะช่วยรักษาอาการเจ็บคอ มีฤทธิ์ต้านแบคทีเรีย และช่วยส่งเสริมระบบภูมิคุ้มกันในร่างกาย โดยส่วนใหญ่นำกระเทียมมาปอกเปลือกสับให้ละเอียด แล้วรับประทานแบบสดๆ  แต่อย่างไรก็ตาม การบริโภคกระเทียมอาจทำให้เกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปากเหม็น มีกลิ่นตัว แสบร้อนกลางอก ปวดท้อง โดยเฉพาะการบริโภคกระเทียมสดอาจทำให้อาการเหล่านี้ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น

 

ในขณะเดียวกัน "หอมแดง" ซึ่งมีสรรพคุณช่วยให้หายใจสะดวกและโล่งขึ้น  จึงเป็นสมุนไพรที่คนเฒ่าคนแก่นิยมนำมาทุบให้แตกแล้ววางไว้ใกล้ ๆ ศีรษะเพื่อให้เด็กสูดดมตามความเชื่อว่าช่วยรักษาหวัดได้ ในทางวิทยาศาสตร์หอมแดงมีสารประกอบกลุ่มออร์กาโนซัลเฟอร์ (Organosulfur) เช่น ไดแอลลิลไดซัลไฟด์ (Diallyl Disulphide) ไดแอลลิลไตรซัลไฟด์ (Diallyl Trisulfide) เอสอัลลิลซิสเทอีน (S-Allyl Cysteine) และอัลลิซิน (Allicin) เชื่อว่ามีคุณสมบัติต้านการอักเสบและอาจช่วยรักษาโรคหวัดอันเกิดจากเชื้อไวรัสได้

 

มาต่อกันที่ "ขิง" มีสรรพคุณแก้ไอและขับเสมหะ โดยมีการทดลองพบว่า น้ำขิงแก่ ต้มน้ำเดือนนาน 30 นาที ทำให้เม็ดเลือดขาวชนิดแมคโครฟาส จับกินไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดีขึ้น ซึ่งวิธีการรับประทานนั้นก็คือนำเอาขิงแก่มาหั่นให้เป็นแว่น ตำและคั้นเอาน้ำ หรือนำมาต้มกับน้ำเปล่า 1 ลิตร โดยต้มประมาณ 5 นาที แล้วตักเอาขิงออก เอาแต่น้ำขิงมาดื่มขณะอุ่นๆ โดยดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า กลางวันและเย็น น้ำขิงจะช่วยลดน้ำมูกลงได้ หรือจะนำมาผสมกับน้ำมะนาว เติมเกลือเล็กน้อย แล้วดื่ม

 

และคุณทราบหรือไม่ว่า "ตะไคร้" สมุนไพรไทยที่เป็นส่วนหนึ่งในอาหารหลายๆ จานของบ้านเรานั้น สามารถใช้รักษาหวัด หวัดใหญ่ แก้ไข้ แก้ปวดหัว ปวดท้อง เป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์เพิ่มภูมิคุ้มกันได้ดีเยี่ยม ช่วยต้านอนุมูลอิสระ แก้อักเสบ และต้านไวรัสไข้หวัด เพียงแค่บุบต้นตะไคร้ 3-4 ต้นให้แตก นำมาต้มกับน้ำเปล่า 1 ลิตรให้เดือด แล้วยกลง รินเอาแต่น้ำมาจิบบ่อยๆ ตลอดทั้งวัน เพราะตะไคร้ก็เป็นสมุนไพรแก้คัดจมูกที่ได้ผลดีเช่นกัน แถมยังช่วยแก้อาการน้ำมูกไหลจากหวัดได้อีกด้วย

 

นับว่า สมุนไพรไทยอันเป็นผลิตผลจากธรรมชาติที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองคนไทยมายาวนานนั้น ล้วนมีสรรพคุณที่มีประโยชน์ หาได้ไม่ยาก อีกทั้งยังสามารถนำมาปรับใช้ได้ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันให้ร่างกายเราแข็งแรงได้อีกด้วย ทว่าต้องไม่ลืมว่าสมุนไพรแต่ละชนิดนอกจากจะมีคุณสมบัติในแง่ดีต่อสุขภาพแล้ว ในสมุนไพรบาง่ชนิดก็มีข้อจำกัดด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะในคนที่มีโรคประจำตัว จึงจะเป็นต้องศึกษาอย่างละเอียดหรือได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญประกอบด้วย

 

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง

 

 

 


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์