วันจันทร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2564

การบริหารกองทุนพัฒนาไฟฟ้ายุคผู้ว่าฯทรงพล เริ่มฉายแววดีขึ้น มีการปรับเปลี่ยนหลายรูปแบบ โครงการซื้อหมู-ซื้อไก่ ก็เริ่มหายไป จนกระทั่งมาถึงช่วงเปลี่ยนผู้ว่าฯใหม่อีกแล้ว..



(2ความหวังกองทุน จาก “ทรงพล” ถึง “ณรงค์ศักดิ์”

          หลังจากที่ ทรงพล สวาสดิ์ธรรม ได้เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ช่วงเดือนกันยายน 2560 ก็ได้พ่วงตำแหน่งประธานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะไปโดยปริยาย   ความหวังของการใช้จ่ายเงินมหาศาลของกองทุนฯ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ได้เกิดขึ้นอีกครั้ง

          ในขณะที่ลานนาโพสต์ยังคงติดตามการดำเนินงานของกองทุนฯ อย่างต่อเนื่อง และมีโอกาสให้สัมภาษณ์แนวคิด และนโยบายจากผู้ว่าฯทรงพล ถึงการเข้ามาบริหารจัดการกองทุนฯที่วุ่นวายนี้

          นายทรงพล สวาสดิ์ธรรม  ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง  ได้ศึกษาข้อมูลในพื้นที่ จ.ลำปางพอสมควรก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่ง และยอมรับว่าการบริหารจัดการกองทุนฯ ขาดการประสานงานระหว่างคณะกรรมการระดับจังหวัด ระดับตำบล และหมู่บ้าน โดยมีแนวคิดที่จะนำเรื่องดังกล่าวมาถกปัญหาพูดคุยกันให้เกิดประโยชน์ รวมทั้งให้โครงการสอดรับกับแผนพัฒนาหมู่บ้านและอำเภอ

          “จากประสบการณ์ที่เคยดูแลกองทุนรอบโรงไฟฟ้าในหลายจังหวัด ตั้งข้อสังเกตได้หลายประเด็น เช่น สิ่งที่หลายคนห่วงจากการตั้งโรงไฟฟ้าคือ สุขภาพอนามัย ปัญหาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  แต่โครงการที่เกิดขึ้นกลับไมตอบโจทย์หรือป้องกันปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้   อีกประเด็นคือ โครงการซ้ำซ้อนกับโครงการของส่วนราชการ  และประเด็นเบี้ยหัวแตก ที่ไม่สามารถทำอะไรได้เป็นชิ้นเป็นอันที่จะสามารถเปรียบเทียบได้ชัดเจนระหว่างการที่มีกองทุนและไม่มีกองทุนฯ” ผู้ว่าฯ ทรงพล กล่าว

นอกจากนี้ ผู้ว่าฯ ทรงพล ได้มอบนโยบาย และให้คำแนะนำกับคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จ.ลำปาง โดยเน้นย้ำให้เข้มข้นในเรื่องการตรวจสอบโครงการร่วมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน ตำบล เพื่อไม่ให้เกิดการซ้ำซ้อน รวมถึงการตรวจสอบประเมินผลโครงการที่ดำเนินการไปแล้วให้สัมฤทธิ์ผลมากที่สุด เพื่อให้เห็นเด่นชัดว่า อ.แม่เมาะ มีความเปลี่ยนแปลงหลังจากเกิดกองทุนพัฒนาไฟฟ้าขึ้น และชาวบ้านได้ประโยชน์จากงบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ที่มีมากถึงปีละ 400 ล้านบาทอย่างแท้จริง 

          การบริหารจัดการกองทุนพัฒนาไฟฟ้าในยุคนี้ ได้มอบหมายให้ นายศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์ รองผู้ว่าฯ เข้าไปกำกับดูแลแทน การทำงานได้ขับเคลื่อนโดยการประชุมร่วมกันกับทุกฝ่าย  ไม่ว่าจะเป็น กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เทศบาล อบต. โรงเรียน   รพสต.  เพื่อพูดคุยถึงหลักการทำงานที่จะต้องเข้มงวดมากขึ้น เพื่อให้การใช้เงินเกิดประโยชน์สูงสุด   โดยมีการประชุมกลั่นกรองโครงการงบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้าอย่างเข้มข้น ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 

มีปรับแผนกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เน้นย้ำตรวจสอบการใช้พื้นที่ป่า  การตรวจประมาณการ เพื่อไม่ให้โครงการสะดุด  อีกทั้งการยื่นขอโครงการต้องเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจจัดซื้อจัดจ้างได้เท่านั้น  

เช่น  โครงการแต่ละโครงการที่ต้องใช้งบประมาณเกิน 3 แสนบาท ต้องขอในนามของหน่วยงานที่มีอำนาจจัดซื้อจัดจ้าง  เช่น  หาก รพสต.แห่งใดต้องการสนับสนุนงบประมาณบำรุงซ่อมแซม หรือจัดซื้ออุปกรณ์จะต้องได้รับการเห็นชอบจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ซึ่งต้องเป็นผู้เสนอโครงการเข้ามา 

ส่วนโครงการหมู่บ้านตำบลที่ต่ำกว่า 3 แสนบาท  คณะกรรมการหมู่บ้านจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ให้โครงการไม่ซ้ำซ้อนกับแผนพัฒนาหมู่บ้าน   และ การเข้มงวดเรื่องการตรวจประมาณการ   เคยพบว่าหลายโครงการมีการประมาณการไว้สูงกว่าปกติ   ต้องมีการควบคุมให้อยู่ในกรอบตามความเหมาะสมไม่สูงเกินจริงมากเกินไป

โดยเฉพาะโครงการซื้อหมู ซื้อไก่ ได้ตั้งคณะกรรมการจากคนภายนอกเข้ามาร่วมกลั่นกรองโครงการด้วย

          การคัดกรองโครงการมีหลักเกณฑ์ว่า ต้องเป็นโครงการที่กฎหมายรองรับ และเป็นโครงการที่มีการดูแลทรัพย์สินต่อ เช่น ครุภัณฑ์ คอมพิวเตอร์ เครื่องปรับอากาศ เป็นต้น เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการขึ้นทะเบียนกับหน่วยงาน  รวมไปถึงสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ประปา ถนน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่จะต้องรับไปดูแล ไม่ใช่การตั้งงบกองทุนเข้าไปดูแลรักษา

            จากการตรวจสอบแผนการเสนอโครงการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า งบประมาณประจำปี 2562 พบว่า โครงการที่มีงบประมาณไม่เกิน 3 แสนบาท ในพื้นที่ประกาศ อ.แม่เมาะ   เกือบ 500 โครงการ งบประมาณ ร่วม 100 ล้านบาท และโครงการที่มีงบประมาณเกิน 3 แสนบาท จำนวน 279 โครงการ งบประมาณ 300 กว่าล้านบาท   ไม่มีโครงการซื้อหมู  ซื้อวัว  ซื้อไก่ เหมือนที่ผ่านมา  แต่ด้านสาธารณูปโภคก็ยังเป็นโครงการที่ใช้งบประมาณสูงสุด

ผลจากการบริหารจัดการกองทุนฯ พบว่าเป็นไปในทางที่ดีขึ้น

พร้อมกับที่นายศรีโรจน์ นิมมานพัชรินทร์ รองผู้ว่าฯ ผู้กำกับดูแลกองทุนฯได้เกษียณอายุราชการ ในเดือนกันยายน 2561  และมีนายสุรพล บุรินทราพันธ์  รองผู้ว่าฯคนใหม่เข้ามาสานต่อหน้าที่แทน  การเบิกจ่ายงบประมาณกองทุนฯ เป็นไปอย่างราบรื่น

จนกระทั่ง ผู้ว่าฯทรงพล สวาสดิ์ธรรม เกษียณอายุราชการในปี 2562 และ ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร เข้ามาดำรงตำแหน่งผู้ว่าฯ ลำปาง ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา กองทุนก็ดูเหมือนล่องลอยหายไปในสายลมเช่นเคย

รอติดตามตอนที่ 3 .....

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์