วันอาทิตย์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ. 2564

กฟผ.แม่เมาะ เดินหน้านำเชื้อเพลิงชีวมวลเผาไหม้ร่วมกับถ่านหิน ลดปริมาณการปล่อย CO2 และฝุ่นละอองขนาดเล็กจากการเผาพื้นที่เกษตรกรรม




โรงไฟฟ้าแม่เมาะเตรียมนำเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง ที่แปรรูปจากเศษวัสดุเหลือทิ้งในพื้นที่เก็บเกี่ยว มาใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วม โดยจะเริ่มนำเข้าใช้จริงในระบบการผลิตของโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 12 และ 13 ปลายปี 2564 ถือเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งแรกของประเทศไทยที่ใช้ระบบการเผาไหม้ร่วม (Co-Firing)

ทั้งนี้ การใช้เชื้อเพลิงชีวมวลร่วมกับถ่านหินในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้า จะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของ ก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่อสภาพภูมิอากาศและชั้นบรรยากาศของโลก ทั้งยังช่วยลดกิจกรรมการเผาวัสดุทางการเกษตรกลางแจ้ง อันเป็นแหล่งกำเนิด Hot Spot และ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ตลอดจนส่งเสริมรายได้แก่วิสาหกิจชุมชนในการรวมกลุ่มซื้อขายเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรอีกด้วย

เนื่องมาจากปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองขนาดเล็ก กลายเป็นปัญหาสำคัญของภาคเหนือซึ่งมักจะเกิดขึ้นทุกต้นปี ด้วยสาเหตุหลักจากการเผาชีวมวลในพื้นที่เกษตรและไฟป่า ทั้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่และเกิดขึ้นในฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้หลายปีที่ผ่านมาจังหวัดในภาคเหนือติดอันดับเมืองที่มีมลพิษทางอากาศน่าเป็นห่วงที่สุดในโลก

อีกทั้งปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกยังตื่นตัวกับการจัดการกับภาวะเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในประเด็นดังกล่าวโดยร่วมลงนามความตกลงเพื่อลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมต่างๆ ภายในประเทศ โดย กฟผ. เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่ตั้งเป้าลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกในระบบการผลิตกระแสไฟฟ้า ตลอดจนให้ความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ในการแก้ไขปัญหาหมอกควันและไฟป่าอย่างจริงจัง

ปี 2560 ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ทำวิจัยเกี่ยวกับการนำเศษวัชพืชทางการเกษตรอย่าง ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง และปาล์มน้ำมัน เป็นต้น มาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่ง (Biomass Pellet) ซึ่งผลการวิจัยพบว่าเชื้อเพลิงชีวมวลมีค่าความร้อนเพียงพอที่สามารถนำมาเผาไหม้ร่วมกับถ่านหิน (Co-Firing) โดยไม่ส่งผลกระทบต่อเครื่องจักรในระบบการผลิตกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ หากนำมาใช้ในสัดส่วนที่เหมาะสม  จึงเกิดแนวคิดการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลร่วมกับถ่านหินในกระบวนการผลิตกระแสไฟฟ้าดังกล่าว.

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์