วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

ล่องใต้ชมนิทรรศการ “ภูเก็ตเมืองท่องเที่ยวจากขุมเหมือง”

 


สัปดาห์นี้ขอเปลี่ยนบรรยากาศเที่ยวใกล้บ้าน โดยจะพาพี่น้องชาวลำปางล่องใต้ไปเที่ยวที่  “เกาะภูเก็ต” หรือ “ไข่มุกแห่งอันดามัน” ตามกระแส “ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์” (Phuket Sandbox) สักหน่อย

 



ใครไปเที่ยวภูเก็ตช่วงนี้ต้องมี ”มิวเซียมไกด์ เที่ยวแหล่งเรียนรู้ภูเก็ต” เพราะสถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยาม)  ร่วมกับแทศบาลนครภูเก็ต และเพื่อนครือข่ายแหล่งเรียนรู้ 40 แห่ง ทั่วจังหวัดภูเก็ต จัดกิจกรรม “เที่ยวประทับแลกลุ้น เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมือง“ สนับสนุนนโยบายภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) ของรัฐบาล กระตุ้นเศรษฐกิจที่ซบเซา และแสดงให้นักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศที่เข้ามาภูเก็ตเห็นถึงศักยภาพของเมืองที่องค์การยูเนสโกประกาศเป็น ”เครือข่ายเมืองแห่งการเรียนรู้” เพราะเมืองนี้ใช้เทคโนโลยีทันสมัยสนับสนุนการเรียนรู้ ผนึกกำลังสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่นจากรุ่นสู่รุ่นต่อยอดเศรษฐกิจ

 

กิจกรรมคิกออฟไปแล้ว ทุกคนร่วมสนุกได้ง่ายๆ โดยขอรับมิวเซียมไกด์ได้ที่แหล่งเรียนรู้ที่เข้าร่วมโครงการ แล้วไปเที่ยวให้ครบ  หนึ่งในพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นของคนภูเก็ตที่น่าไป คือ มิวเซียมภูเก็ต ตอนนี้ชวนย้อนสำรวจอดีตเมืองภูเก็ตกว่าจะเป็นเมืองท่องเที่ยวที่คนรู้จักระดับโลกผ่าน “นิทรรศการภูเก็ตเมืองท่องเที่ยวจากขุมเหมือง” นำเสนอองค์ความรู้เรื่องราวความเปลี่ยนแปลงของภูเก็ต

 


ตั้งแต่ยุคเหมืองแร่รุ่งเรือง แต่วิกฤตสงครามโลกครั้งที่ 2 “เหมืองดีบุกหัวใจของเศรษฐกิจภูเก็ตไม่สามารถกลับมาทำธุรกิจได้ดีเช่นเดิม ชาวเมืองมองหาช่องทางในการประกอบอาชีพอื่นควบคู่กันไป ธุรกิจยังถดถอยจากความกังวลของชาวภูเก็ตด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมๆ กับการเบียดเข้ามาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่เติบโตอย่างก้าวกระโดด  โดยเฉพาะเมื่อในหลวง รัชกาลที่ 9 เสด็จฯ ภูเก็ตครั้งแรกปี 2502 นอกจากพสกนิกรปลื้มปีติแล้ว ความสวยงามของทะเลภูเก็ตโด่งดังในระดับประเทศมากขึ้น ก่อนที่ทะเลภูเก็ตกลายเป็นหมุดหมายสำคัญในการส่งเสริมการท่องเที่ยว  

 

เส้นทางกำลังไปได้สวย  แต่ปี 2547 เกิดคลื่นยักษ์สึนามิ  ส่งผลกระทบต่อภูเก็ตอย่างรุนแรง  การท่องเที่ยวที่สร้างรายได้มหาศาลหยุดชะงัก พร้อมบาดแผลในใจจากโศกนาฏกรรมทางธรรมชาติที่ไม่มีใครคาดคิด อย่างไรก็ตาม เมืองเก่าและวัฒนธรรมท้องถิ่นถูกชุบชีวิตขึ้นมาอีกครั้งเพื่อสร้างรายได้จากท่องเที่ยว  จะเรียกว่า เปิดศักราชการท่องเที่ยววัฒนธรรมของภูเก็ตก็ได้

 


หลังจากนั้นประเทศเร่งฟื้นฟูและสร้างความเชื่อมั่น เกิดการท่องเที่ยวแนวใหม่ขึ้นมากมาย โดยเฉพาะท่องเที่ยววัฒนธรรมและท่องเที่ยวแบบ MICE ทำเม็ดเงินมากมาย แต่ 2 ปีมานี้จากโควิดทำให้เกิดการท่องเที่ยววิถีใหม่ ผู้ประกอบการปรับตัวตามมาตรฐานความปลอดภัยสุขอนามัย และส่งเสริมท่องเที่ยวรูปแบบใหม่

 

ไทม์ไลน์ภูเก็ตเมืองท่องเที่ยวผ่านจุดเปลี่ยนและเหตุการณ์สำคัญๆ  ซึ่งถือเป็นพัฒนาการของเมืองได้ถ่ายทอดผ่าน 6 โซนจัดแสดง โซน 1 ภูเก็ตที่ทุกคนรู้จัก : สำรวจภาพจำที่ผู้คนมีต่อภูเก็ต เช่น เหมืองแร่ ทะเล เมืองเก่า อะไรคือสิ่งที่ทุกคนนึกถึง เมื่อพูดถึงภูเก็ต

 

โซน 2 เส้นทางสู่เมืองท่องเที่ยว: เปิดไทม์ไลน์ของภูเก็ตจากยุคเหมืองแร่รุ่งเรื่องสู่เมืองท่องเที่ยว 
ความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจดีบุกหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนเปลี่ยนเข้าสู่ยุคท่องเที่ยวในทุกวันนี้

 


โซน 3 เมืองท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม: จากความรุ่งเรืองของเหมืองแร่ ได้นำพาผู้คนและวัฒนธรรมอันหลากหลายมาสู่ดินแดนแห่งนี้ ผสมผสานจนเกิดอัตลักษณ์เฉพาะถิ่น ในยุคการท่องเที่ยว มรดกทางวัฒนธรรมเหล่านี้ได้ถูกฟื้นฟูอีกครั้งเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก

 

โซน 4 ภูเก็ตในสายตานานาชาติภูเก็ต เมืองท่องเที่ยวที่มีมาตรฐานและได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ

 

โซน 5 แหล่งการเรียนรู้จากขุมเหมือง: เปิดเรื่องราวของแหล่งการเรียนรู้ที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวของภูเก็ต ซึ่งเป็นสถานที่สำคัญที่เกิดขึ้นในยุคเหมืองแร่รุ่งเรืองไปสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ขององค์การยูเนสโก เครือข่ายระดับโลก

 


โซน เที่ยว ประทับ แลก ลุ้น: ชวนทุกคนมาเปิดประสบการณ์ เที่ยว เรียนรู้ ภูเก็ต เครือข่ายระดับโลกเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารและเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก พร้อมขับเคลื่อนเศรษฐกิจเมืองไปกับการ ชิม ช้อป ร้านอาหารแนะนำ เที่ยวครบแลกลุ้นรางวัลพิเศษมากมายกับมิวเซียมภูเก็ตและเครือข่ายแหล่งการเรียนรู้ทั่วภูเก็ต

 

กฤชณรัตน์ สิริธนาโชติ ผู้อำนวยการฝ่ายเครือข่ายพิพิธภัณฑ์ สถาบันพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้แห่งชาติ (มิวเซียมสยามได้กล่าวว่า พิพิธภัณฑ์และแหล่งเรียนรู้ในยุคใหม่ ต้องขับเคลื่อนองค์ความรู้ของเมืองและสังคม ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงและรับฟังสิ่งที่คนกับเมืองต้องการ เป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยพัฒนาเมือง ยกตัวอย่างนครภูเก็ตจะจัดงานประเพณีพ้อต่อ งานกินผัก หรือประเพณีสำคัญของเมือง มิวเซียมแห่งนี้จะมีหน้าที่ค้นคว้าและส่งต่อความรู้ให้กับคนภูเก็ตและนักท่องเที่ยวเข้าใจที่มาและความสำคัญของงาน ด้วยรูปแบบกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลายและน่าสนใจ อีกทั้งยังสร้างสรรค์องค์ความรู้ใหม่ๆ ให้ทันสถานการณ์เพื่อเผยแพร่ไปสู่สาธารณะอย่างมีประสิทธิภาพ 

 


กิจกรรม เที่ยวประทับแลกลุ้น รอทุกคนมาเปิดประสบการณ์เที่ยวเมืองสร้างสรรค์ด้านวิทยาการอาหารและเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก นำมิวเซียมไกด์ไปประทับตราสัญลักษณ์แหล่งเรียนรู้ 2 แห่งและร้านอาหารแนะนำ 1 แห่ง สามารถนำไปแลกเป็นเหรียญดีบุกภูเก็ต เหรียญที่ระลึก ผลิตจำนวนจำกัด พร้อมรับสิทธิ์ลุ้นรางวัลพิเศษกินเที่ยวพักมูลค่ากว่า 70,000 บาท ได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 31 ส.ค. และประกาศผลรางวัลวันที่ 9 ก.ย. นี้ ทาง Facebook: @museumphuket 

 

ถึงจะเที่ยวได้แล้ว แต่ก็ยังต้องเน้นย้ำถึงเรื่องการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโควิด-19 และมาตรการ D–M–H–T–T ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาพของทุกๆ คนนั่นแหละค่ะ


กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง

 

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์