วันพฤหัสบดีที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2564

กลุ่มนุ่งซิ่นลำปางเยือนถิ่นหัตถศิลป์ลำพูน


ในขณะที่เชื้อไวรัสโควิด-19 ต้องเฝ้าระวัง แต่ชีวิตก็ต้องดำเนินต่อไป...ททท.สำนักงานลำปาง นำเสนอกิจกรรมภายใต้การท่องเที่ยววิถีปกติใหม่ใส่หน้ากาก พกเจลล้างมือและรักษาระยะห่าง ภายใต้การท่องเที่ยวแบบ New Normal Tourism และ เที่ยวใกล้ เที่ยวง่าย ปลอดภัย เกิดการใช้จ่าย กระจายรายได้ให้กับชุมชนตลอดเส้นทางการท่องเที่ยว ด้วยการจัดกิจกรรม “นุ่งซิ่นปากันแอ่ว : เยือนนครหัตถศิลป์ถิ่นลำปางพลัสลำพูน”  โดยร่วมกับ “เพจกลุ่มนุ่งซิ่นปากันแอ่วจังหวัดลำปาง” นำสมาชิก 25 คนร่วมเดินทางท่องเที่ยวข้ามจังหวัดหลังสถานการณ์ผ่อนคลาย แวะสักการะองค์พระธาตุเจ้าหริภุญชัย ชมสถาปัตยกรรม วิถีวัฒนธรรมและการทอผ้าอัตลักษณ์ลำพูน ชมสล่าเลาเลือง สถาบันผ้าทอหริภุญชัยและบ้านดอนหลวง ฯลฯ


ถือโอกาสนี้เล่าถึง สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย ซึ่งเป็นไฮไลท์สำคัญของทริป ปัจจุบัน “สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย” ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นธง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน ภายใต้การดูแลขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน ด้วยว่าเห็นในความสำคัญของภูมิปัญญาการทอผ้าของคนลำพูน ที่มีความเป็นเอกลักษณ์และถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมสืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ และด้วยเกรงว่าจะสูญหายไปกับกาลเวลา จึงได้จัดตั้งสถาบันดังกล่าวขึ้น

 


ดั้งเดิมนั้นหญิงชาวลำพูนนั้นมีทักษะการทอผ้าอยู่แล้ว ประกอบกับ “ลำพูน” ถือเป็นจังหวัดที่มีความเก่าแก่ที่สุดในภาคเหนือ นับว่าเป็นเมืองที่มีผู้คนที่มีความหลากหลายของชาติพันธุ์เป็นอย่างมาก ไตหรือไท อย่างไตโยน ไตลื้อ ไตเขิน ไตใหญ่ (เงี้ยว) มอญ (เม็ง) ลัวะ ปกาเกอะญอ (กะเหรี่ยง) พม่า (ม่าน) เป็นต้น แต่กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีจำนวนมากที่สุดในเมืองลำพูน คือประมาณร้อยละ 80 ของประชากรทั้งหมด นั่นก็คือ คนยอง หรือ ไตยอง สอดคล้องกับเรื่องการทอผ้าของชนชาวยอง (ไทลื้อที่อพยพมาจากเมืองยอง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเมืองเชียงตุง ประเทศพม่า) ถือว่ามีเอกลักษณ์โดดเด่น

 


ส่วนเรื่อง “ผ้าทอ” ที่นำมาใช้เป็นเครื่องแต่งกายก็แบ่งอย่างชัดเจน โดยในกลุ่มชนชั้นสูง วัตถุดิบที่ใช้สำหรับการทอผ้าจะเน้นเป็นเส้นไหมมากกว่าเส้นฝ้าย ซึ่งจะใช้ในชนชั้นล่าง ต่อเมื่อกาลเวลาล่วงผ่านนับร้อยปี การทอผ้าไหมและผ้าฝ้ายยังประยุกต์ใช้กันอยู่ แต่ลวดลายนั้นไม่วิจิตรนัก

 

จวบจนกระทั่ง พระราชชายา เจ้าดารารัศมี (พระธิดาในพระเจ้าอินทวิชยานนท์ ผู้ครองนครเชียงใหม่ องค์ที่ 7) พระราชชายาในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5

 


ซึ่งภายหลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จสวรรคต พระราชชายา เจ้าดารารัศมี ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตกราบถวายบังคมลา พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จกลับไปประทับที่เชียงใหม่ ทรงนำความรู้ที่เรียนมาจากราชสำนักส่วนกลางขณะประทับ ณ วังหลวงในกรุงเทพฯ มาประยุกต์ใช้ในการประดิษฐ์ลวดลาย และได้ฝึกหัดให้คนในคุ้มเชียงใหม่ทอผ้ายก โดยเพิ่มลวดลายลงในผืนผ้าไหมเพื่อความโดดเด่นพิเศษขึ้น ด้วยการเพิ่มด้ายเส้นพุ่งพิเศษเป็น ดิ้นเงิน ดิ้นทอง การเก็บลายจึงต้องใช้ตะกอ เพื่อให้สามารถทอลวดลายที่สลับซับซ้อน ประณีต งดงามได้เทคนิคการทอลักษณะนี้เรียกว่า ยกดอก

 


ด้วยเพราะพระราชชายา เจ้าดารารัศมี ทรงเป็นพระญาติกับเจ้าเมืองลำพูน จึงทรงถ่ายทอดความรู้ด้านการทอผ้ายก ให้แก่ เจ้าหญิงส่วนบุญ พระราชชายาของเจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์ (เจ้าผู้ครองนครลำพูน องค์สุดท้าย) และ เจ้าหญิงลำเจียก (พระธิดา เจ้าจักรคำ ขจรศักดิ์) ทั้ง 2 พระองค์จึงได้นำความรู้การทอผ้ายกมาฝึกแก่คนในคุ้มหลวงลำพูน รวมถึงชาวบ้านให้เรียนรู้การทอผ้ายกจนเกิดความชำนาญ และในที่สุดยังได้เผยแพร่วิธีการทอไปทั่วชุมชนต่างๆ อีกด้วย

 

พระองค์ทรงฟื้นฟูผ้าไหมยกดอกลำพูน เพื่อให้เกิดความวิจิตรสวยงามยิ่งขึ้น โดยทรงใช้เทคนิคภาคกลางมาประยุกต์ ซึ่งการทอผ้านี้จะได้รับความสนใจมากในตำบลเวียงยอง และบริเวณใกล้เคียงที่เป็นชุมชนของเจ้านายยองในอดีต ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว

 

ทำให้ “ผ้ายก” ที่ทอด้วยฝีมือประณีตของคนลำพูนนั้นเป็นที่ต้องการของคนทั่วไป ไม่เฉพาะแต่ในราชสำนัก ซึ่งปัจจุบันการทอผ้าไหมยกดอกลำพูน ถือเป็นมรดกทางหัตถกรรมที่ถ่ายทอดมาสู่รุ่นลูกรุ่นหลาน และได้มีการขยายแหล่งทอผ้าไปในอำเภอลี้ และ อำเภอทุ่งหัวช้าง

 


ฉะนั้น จังหวัดลำพูน จึงถือเป็นศูนย์กลางการทอผ้าไหมยกดอกแหล่งสำคัญของประเทศไทย โดยลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์ อาทิ ลายดอกพิกุล, ลายกลีบลำดวน, ลายใบเทศ, ลายเม็ดมะยม, ลายพุ่มข้าวบิณฑ์ เป็นต้น สำหรับลวดลายโบราณดั้งเดิมและถือว่ายังเป็นที่นิยมในปัจจุบันคือ ลายดอกพิกุล ซึ่งปัจจุบันได้มีการคิดลวดลายให้หลากหลายขึ้น เช่น พิกุลเครือ พิกุลมีขอบ พิกุลก้านแย่ง พิกุลเชิงใหญ่ พิกุลถมเกสร พิกุลเล็ก พิกุลใหญ่ พิกุลสมเด็จ พิกุลกลม เป็นต้น ซึ่งแต่ละลายจะมีรูปแบบที่แตกต่างกัน

 

“ผ้ายกดอก ลำพูน” มีลักษณะเด่น คือ ในผืนผ้าจะมีลวดลายในตัว โดยผิวสัมผัสมีความนูนที่แตกต่างกันไปตามลวดลาย ซึ่งส่วนใหญ่ลายจะใช้ฝ้ายหรือไหมสีเดียวกันตลอดทั้งผืน บางครั้งอาจมีการจกฝ้ายเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มความเด่นของลวดลาย

 


ทั้งนี้ ในส่วนของสถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย ถือเป็นสถาบันส่งเสริมการเรียนรู้วิธีการทอผ้าด้วยมือและสืบทอดวัฒนธรรมการทอผ้าของจังหวัดลำพูน เพื่อพัฒนาตลาดผ้าทอ สร้างอาชีพที่มั่นคง และมีคุณค่าของจังหวัดลำพูน ถือเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านวัฒนธรรมการทอผ้าของคนลำพูน เป็นสถานที่จัดแสดงความเป็นมาของผ้าทอที่เชื่อว่าผู้เข้าไปสัมผัส จะเข้าใจลึกซึ้งถึงคุณค่าแห่งภูมิปัญญาไทยอย่างแท้จริง

 

สำหรับผู้ที่สนใจผ้าทอผืนสวยและผลงานสร้างสรรค์ของคนลำพูน สถาบันผ้าทอมือหริภุญชัย ได้จัดโซนร้านค้าที่มีผลิตภัณฑ์หลากหลายจากฝีมือคนลำพูนไว้ให้เลือกชม เลือกซื้อ

 

กอบแก้ว แผนสท้าน....เรื่อง

ททท.สำนักงานลำปาง...ภาพ

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์