“วัดจองคําพระอารามหลวง” ตั้งอยู่ที่ตำบลบ้านหวด ห่างจากตัวอำเภองาวไปทางทิศใต้ประมาณสิบกิโลเมตรตามถนนพหลโยธินลำปาง-งาว เป็นวัดศิลปะไทยใหญ่ผสมพม่า เป็นปูชนียสถานที่สำคัญของจังหวัดลำปาง ได้รับการสถาปนาให้เป็น พระอารามหลวงชั้นตรี เมื่อปีพุทธศักราช 2549 ในวโรกาสมหามงคลที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี
อีกหนึ่งที่เป็นความภูมิใจของชาวลำปาง “วัดพระเจดีย์ซาวหลัง” ตั้งอยู่ที่ตำบลต้นธงชัย
ห่างจากตัวเมือง 1.5 กิโลเมตร
ตามถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม ลักษณะการก่อสร้างเป็นศิลปะแบบพม่าผสมศิลปะล้านนา องค์ใหญ่สุดอยู่ตรงกลาง
แวดล้อมด้วยเจดีย์อีกสิบเก้าองค์ รวมกันแล้วเป็นยี่สิบองค์ ชาวบ้านจึงเรียกว่า “วัดเจดีย์ซาวหลัง”
โดยคำว่า “ซาว” เป็นภาษาเหนือแปลว่า “ยี่สิบ”
ด้านหน้าของเจดีย์แต่ละองค์ทำเป็นซุ้ม มีพระพุทธรูปประดิษฐานอยู่ข้างใน
จากประวัติมีว่าเมื่อ 500 ปี หลังจากพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว
มีพระอรหันต์จากอินเดียสองรูป ได้จาริกเผยแผ่พระพุทธศาสนามาถึงยังบริเวณนี้
เห็นสถานที่เงียบสงบเหมาะที่จะบำเพ็ญธรรม จึงใช้เป็นที่พำนักอาศัยปฏิบัติวิปัสนา
และอบรมสั่งสอนพุทธศาสนิกชนในละแวกนั้น จนมีผู้ศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น
ในครั้งนั้น “พญามิลินทร” ผู้แตกฉานในหลักธรรม
ได้มาสนทนาซักถามปัญหาธรรมกับพระอรหันต์เถระทั้งสองรูป
และมีความประสงค์จะทะนุบำรุงพระพุทธศาสนา พระอรหันต์ทั้งสองรูปได้ใช้มือลูบศีรษะ
มีเส้นเกศาติดมือมารูปละสิบเส้น แล้วมอบให้ พญามิลินทร นำมาสร้างเจดีย์ขึ้นยี่สิบองค์
แล้วนำเอาเส้นเกศาบรรจุในเจดีย์องค์ละเส้น
เชื่อกันว่าหากใครนับได้ครบ 20 องค์ถือว่าเป็นคนมีบุญ
ข้างหมู่พระเจดีย์มีวิหารหลังเล็ก ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน
ชาวบ้านเรียกว่า “พระพุทธรูปทันใจ” พระอุโบสถหลังใหญ่ซึ่งประดิษฐานพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยที่มีพุทธลักษณะงดงาม
บานประตูทั้งสามเป็นของโบราณ เขียนลวดลายรดน้ำละเอียดสวยงาม
เสาซุ้มประตูหน้าต่างประดับลวดลายกระจกสีเป็นลักษณะศิลปะสมัยใหม่
และที่ศาลาการเปรียญเรือนไม้ชั้นเดียว ด้านหลังพระอุโบสถเป็น “พิพิธภัณฑสถานเขลางค์นคร”
แสดงโบราณวัตถุที่ชาวบ้านนำมาถวาย เมื่อปี พ.ศ. 2526 ชาวบ้านได้ขุดพบพระพุทธรูปทองคำบริสุทธิ์หนัก
100 บาทสองสลึง
มามอบให้แก่ทางวัดซึ่งพระพุทธรูปองค์นี้ชื่อว่า “พระแสนแซ่ทองคำ” เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย
ศิลปะสมัยล้านนา อายุราวพุทธศตวรรษที่ 21 ขนาดหน้าตักกว้าง 9
นิ้วครึ่ง สูง 15 นิ้ว
เป็นพระพุทธรูปทองคำองค์แรกที่ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณวัตถุแห่งชาติ
“วัดพระธาตุจอมปิง” เป็นวัดศิลปะแบบล้านนา และกลิ่นอายช่างชาวเมียนมาอยู่ด้วย
พระธาตุสูง 34 เมตร
โดดเด่นเห็นได้ชัดที่ลักษณะตัวของพระธาตุที่สวยงามอร่ามด้วยสีทอง
และฐานเป็นลักษณะย่อมุม องค์พระธาตุภายในบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้ สันนิษฐานว่าวัดสร้างขึ้นสมัยพระนางจามเทวี
และมีการบูรณะอีกครั้งในช่วงสมัยพระเจ้าติโลกราช
จุดเด่นสำคัญของวัดพระธาตุจองปิง
คือ การเกิดเงาสะท้อนเป็นภาพสีธรรมชาติขององค์พระธาตุผ่านรูเล็กบนหน้าต่างมาปรากฏบนพื้นภายในพระอุโบสถ
ทันทีที่ประตูไม้ของพระอุโบสถเล็กๆ ปิดสนิท ความมืดก็ครอบคลุมไปทั่วบริเวณ
จนมองไม่เห็นแม้กระทั่งฝ่ามือตนเอง ภาพที่ปรากฏเบื้องหน้า คือ
เงาของพระธาตุกลับหัวทอดลงมาบนผืนผ้าสีขาวด้านใน
ซึ่งงดงามมีสีสันไม่ต่างจากองค์พระธาตุของจริงด้านนอก ซึ่งเงาพระธาตุที่เห็น
ก็คาดว่าเกิดจากหลักการทางวิทยาศาสตร์ของกล้องรูเข็มนั่นเอง นอกจากนี้
ภายในวัดยังมีพิพิธภัณฑ์จัดแสดงโบราณวัตถุต่างๆ เช่น เศษภาชนะดินเผา ตะขอสำริด
กำไลหิน กำไลสำริด ใบหอก เป็นต้น
ที่ขุดเจอในบริเวณวัดและพื้นที่ใกล้เคียงรวมถึงพระวิหารหลวง
และพระอุโบสถที่มีความงดงามเรียบง่าย ผู้หลงใหลในศิลปะแบบล้านนาไม่ควรพลาดชม
อีกหนึ่งวัดเล็กๆ ตั้งอยู่ที่ถนนป่าไม้
ตำบลเวียงเหนือ “วัดประตูป่อง” เจดีย์วิหารสร้างเมื่อ พ.ศ. 2409
โดย เจ้าญาณรังษี ผู้ครองนครลำปาง โบสถ์เป็นฝีมือช่างสิบสองปันนา มีศิลปะลายจีนผสม ส่วนวิหารที่มีสถาปัตยกรรมแบบล้านนาพื้นบ้าน
หากชื่นชอบศิลปะตามวัดแล้ว ไม่ควรพลาดชมวัด โดยวัดนี้มีสิ่งสำคัญทางประวัติศาสตร์ คือ
ประตูเมืองโบราณ (ประตูป่อง) ที่มีซากหอรบสมัยพระยากาวิละ ได้ครองนครลำปาง
โดยประตูแห่งนี้เป็นปราการต่อสู้ต้านทานทัพพม่าครั้งสำคัญเมื่อ พ.ศ. 2330
ที่ชื่อว่า “วัดประตูป่อง”
ก็เพราะว่า วัดนี้ตั้งอยู่บริเวณประตูเมืองเก่าลำปาง
คือประตูป่อง อันเป็นที่มาของชื่อวัด
เมื่อไปถึงวัดประตูป่องเราจะพบซุ้มประตูเข้าวัดที่มีความงดงามด้วยลวดลายปูนปั้นที่อ่อนช้อย
วิจิตรแบบศิลปะแบบล้านนา เมื่อเราเดินมาใต้ซุ้มประตูแล้วแหงนหน้าขึ้นไป จะพบรูป
“พระราหู” อยู่กลางเพดานซุ้มประตู เมื่อผ่านซุ้มประตูมาแล้วจะพบวิหารล้านนาแบบปิด
หลังคาด้านหน้าซ้อน 3 ชั้น
หน้าบันของวิหารเป็นไม้แกะสลักลวดลายปิดทองประดับกระจกแบบล้านนา มีรูป “พระราหู”
อยู่เหนือประตูเข้าวิหาร ด้านหน้าบันไดขึ้นวิหารมีรูป “มกรคายนาค” และ
“รูปปั้นสิงห์” ที่ดูแปลกตาสีสันจัดจ้านสวยงาม
ถัดมาด้านขวาคือ โบสถ์
(ห้ามผู้หญิงเข้า) ด้านหน้าโบสถ์มีเสาหงส์ และ ตุงกระด้าง มีลวดลายประดับสวยงามมาก
บันไดขึ้นอุโบสถ จะมีรูปปั้นคชสีห์ที่สวยงาม ด้านหน้าโบสถ์นั้นมีวิหารเล็กๆ
อยู่ด้วย เป็นวิหารน้อยประดิษฐานพระอุปคุต ตามความเชื่อว่า พระอุปคุตมหาเถระ
เป็นพระอรหันต์ที่มีพุทธานุภาพและมีฤทธิ์มาก สามารถปราบพญามารและสิ่งชั่วร้ายที่จะมาทำลายพิธีกรรมใหญ่ๆ
ได้ จึงนิยมสร้างวิหารเล็กๆ ประดิษฐานพระองค์ท่าน เพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้าย
และมารต่างๆ ที่จะเข้ามาที่โบสถ์
วัดสำคัญคู่กับจังหวัดลำปางมาช้านานอีกแห่ง “วัดปงสนุก”
หรือ “วัดปงสนุกเหนือ” ตั้งอยู่ในเขต ต.เวียงเหนือ อ.เมือง สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นในสมัยเจ้าอนันตยศ
ซึ่งเป็นราชบุตรของพระนางจามเทวีแห่งหริภุญไชย (จังหวัดลำพูนในปัจจุบัน)
เมื่อครั้งเสด็จมาสร้างเขลางค์นคร (จังหวัดลำปางในปัจจุบัน) เมื่อปี พ.ศ. 1223
ทั้งนี้ชื่อของ “วัดปงสนุก”
มีบางตำนานกล่าวไว้ว่าเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2364 เมืองลำปางและเมืองเชียงใหม่ยกทัพเข้าตีเมืองเชียงแสน
แต่เมื่อไม่สามารถต้านทานความแข็งแกร่งได้ชาวเมืองเหล่านั้นจึงถูกต้อนมายังฝั่งเวียงเหนือของนครลำปาง
โดยหนึ่งในกลุ่มชนนั้นก็มีชาวปงสนุกรวมอยู่ด้วย และขณะเดียวนั้นชาวเมืองพะเยาก็ได้อพยพมายังฝั่งเวียงเหนือเพื่ออาศัยอยู่เช่นเดียวกัน
ต่อมาเมื่อบ้านเมืองสงบแล้วชาวพะเยาก็ย้ายกลับบ้านเกิดเมืองนอนของตน
เหลือไว้แต่เพียงชาวปงสนุกที่ยังคงอยู่
ดังนั้นจึงได้เรียกชื่อวัดและชื่อหมู่บ้านตามเผ่าพันธุ์ของตนเอง และคำว่า “ปงสนุก”
หมายถึง “พงศ์เผ่าแห่งความรื่นเริง”
“วิหารพระเจ้าพันองค์”
หลังนี้เองที่ได้รับรางวัลการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมดีเด่นจากยูเนสโก้เมื่อปี 2008 ที่ผ่านมา (Award of Merit Wat
Pongsanuk; Asia-Pacific Heritage Awards for Culture Herritage Conservation from
UNESCO Year 2008)โดยวิหารพระเจ้าพันองค์ที่ได้รับรางวัลหลังนี้สร้างด้วยไม้
เป็นสถาปัตยกรรมเก่าแก่ ที่ยังคงหลงเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวของประเทศ
ตัวอาคารแสดงถึงการรวบรวมทั้งงานด้านจิตรกรรม สถาปัตยกรรมผสมผสานระหว่างไทย จีน
พม่า ผสมผสานเข้าไว้ด้วยกันอย่างสวยงาม โครงสร้างของวิหารมีลักษณะเป็นมณฑปเปิดโล่งตรงกลางประดิษฐานพระพุทธรูปสี่องค์
พระพักตร์แต่ละองค์ก็หันออกไปยังทิศทั้งสี่
ในส่วนของหลังคามีลักษณะซ้อนกันสามชั้นซึ่งตกแต่งไว้อย่างสวยงาม
รวมไปถึงเสาสี่เหลี่ยมที่ค้ำตัววิหารก็มีลวดลายอันน่าวิจิตรปรากฏให้เห็นอยู่แทบทุกต้น
และบริเวณด้านบนรอบในของตัววิหารนั้นได้รับการประดับด้วยพระพิมพ์องค์เล็กจำนวนมากถึง
1,080 องค์ นี่จึงเป็นที่มาของชื่อ วิหารพันองค์
ที่ใช้เรียกกันอย่างติดปาก
ปิดท้ายที่ “วัดอักโขชัยคีรี”
ตั้งอยู่บนเนินเขาริมถนนสายลำปาง-แจ้ห่ม ทางหลวงหมายเลข 1035 บริเวณกิโลเมตรที่ 50-51
ด้านซ้ายมือ มีทางขึ้น 2 ทางคือ
ทางเดินขึ้นบันไดด้านหน้าหรือขับรถขึ้นทางถนนด้านหลัง โบสถ์และเจดีย์เป็นแบบล้านนาอยู่ใกล้เคียงกัน
จุดเด่นของวัดอักโขชัยคีรี คือ วิหาร
เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปยืนองค์ใหญ่เรียกว่า “พระศากยมุณีคีรีอักโข” มีความสูง 5 วา 2 ศอก ปาง “พระพุทธรูปปางเปิดโลก” พระพุทธรูปอยู่ในพระอิริยาบถยืน
พระหัตถ์ทั้งสองห้อยลงข้างพระวรกาย เป็นกิริยาทรงเปิดโลกทั้ง 3 ได้แก่ เทวโลก ยมโลก และ มนุษยโลก ให้มองเห็นถึงกันหมดด้วยพุทธานุภาพ
เหล่าเทวดาในสวรรค์มองเห็นมนุษย์และสัตว์นรก มนุษย์มองเห็นเทวดาและสัตว์นรก
สัตว์นรกมองเห็นมนุษย์และเทวดา แล้วจึงเสด็จลีลาลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
สู่สังกัสสนครในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่ที่ชาวแจ้ห่มให้ความเคารพศรัทธามาก
อีกกิจกรรมที่ไม่ควรพลาดชมคือ
ปรากฏการณ์ภาพเงาสะท้อนพระธาตุเจดีย์ ลักษณะเช่นเดียวกับวัดพระธาตุจอมปิง
เงาพระธาตุเจดีย์นั้นจะปรากฏอยู่ที่เดิมตลอดทั้งวัน
ยิ่งอากาศดีฟ้าใสมีแสงส่องสว่างภาพยิ่งชัดเจน
ขณะชมจะต้องปิดวิหารไม่ให้แสงเข้าจนมืดภาพมหัศจรรย์เงาสะท้อนจึงจะปรากฏมี 2 จุด สามารถชมได้ตั้งแต่ เวลา 07.00-17.00 น.
นักท่องเที่ยวสามารถชมวิวทิวทัศน์รอบๆ ที่สวยงาม ของอำเภอแจ้ห่มได้แบบ 360 องศา อีกด้วย
ครบถ้วน “12 วัดในลำปาง...ที่ไม่ควรพลาด”
ไปแล้ว ทว่าภายในเมืองรถม้าแห่งนี้ เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าก็ยังวัดอีกจำนวนมากที่มีความน่าสนใจ
ทั้งในเรื่องของความงดงามทางศิลปะ วัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี การท่องเที่ยวและในเชิงประวัติศาสตร์
ในโอกาสหน้าจะรวบรวมมานำเสนอให้ผู้อ่านได้ทำความรู้จักกันอีกนะคะ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น