วันจันทร์ที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2564

ย้อนรอยเรื่องราวโควิดในลำปาง ตั้งแต่ระลอกแรกถึงปัจจุบัน พบผู้ป่วยสะสมมากกว่า 1,900 คน เสียชีวิตสะสมแล้ว 11 คน

 



    

หลังจากต้นปี 2563 เริ่มเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่ประเทศจีน และได้แพร่กระจายไปยังหลายประเทศรวมทั้งประเทศไทยได้ระบาดมากในช่วงเดือน มี.ค. 63   จ.ลำปาง  นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง  ได้เตรียมการ เตรียมความพร้อมรับมือกับไวรัสโควิด-19 ในทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็น การรับมือคนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด การตั้งจุดตรวจจุดสกัด 4 มุมเมือง  การเตรียมแผนยกระดับพื้นที่แม้ว่ายังไม่พบผู้ป่วย การออกคำสั่งจังหวัดลำปางงดการเข้าออกพื้นที่  คำสั่งปิดสถานที่เสี่ยงต่างๆ ฯลฯ   ทำให้ จ.ลำปางเป็น 1 ใน 14 จังหวัดของประเทศไทย ที่ไม่พบผู้ติดเชื้อ 

โควิดระลอกแรก อ.งาว ติดเชื้อ 4 คน

        จนกระทั่ง วันที่ 4 เม.ย.63  จ. ลำปาง พบผู้ติดเชื้อ ในพื้นที่ อ.งาว รวม 4 ราย  เป็นหญิง อายุ 42 ปี ที่เดินทางกลับมาจากกรุงเทพฯ และนำเชื้อมาสู่ครอบครัว ติดแม่อายุ 57 ปี และญาติพี่น้อง  ป้าอายุ 64 ปี และน้องชาย อายุ 39  ปี  รวมทั้งหมด 4 คน และยังมีกลุ่มเสี่ยงสัมผัสใกล้ชิดอีก 38 คนที่ต้องเฝ้าระวัง  ทำให้ต้องปิดหมู่บ้านบ้านดง หมู่ที่ 7 ต.หลวงใต้  อ.งาว  ห้ามบุคคลไม่เกี่ยวข้องคนเข้า-ออกอย่างเด็ดขาด  ซึ่งมีบ้านเรือนอยู่ 137 หลัง ประชากร 272 คน ด้วยกันที่ต้องกักตัวเป็นเวลา 14 วัน

ในครั้งนี้ จ.ลำปาง ได้ประกาศขอความร่วมมือประชาชน และให้ปฏิบัติตามแนวทางดังนี้ โดยเคร่งครัด  คือ

1. งดเว้นการจัดงานสงกรานต์ในทุกระดับ

2. งดเว้นการเดินทางกลับภูมิลำเนา

3. งดเว้นการรดน้ำญาติผู้ใหญ่ทุกกรณี

4. งดการเข้าร่วมกิจกรรมที่มีการรวมตัวกันของคนหมู่มาก หรือเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคโดยเด็ดขาด

สำหรับประชาชนที่มีความจำเป็นต้องเดินทางเข้ามาในจังหวัดลำปาง ทุกคนจะต้องถูกคัดกรองจากเจ้าหน้าที่ประจำจุดตรวจ และต้องดำเนินการกักตัวเองเป็นระยะเวลา 14 วันทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น

นอกจากนั้นยังมีคำสั่งให้ปิดสถานประกอบการ สถานบันเทิง คาราโอเกาะ งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  เปิดร้านอาหารได้ถึงเวลา 19.00 น. , สนามชนไก่ , ร้านเกมร้านอินเตอร์เน็ต, ฟิตเน็ต บิลเลียต สนุกเกอร์ และงดการเรียนการสอน ปรับเป็นวิธีการสอนออนไลน์ทั้งหมด  

สถานการณ์โควิด-19 ในรอบแรก แม้ว่าสถานการณ์คลี่คลายได้เป็นอย่างดี พบผู้ติดเชื้อเพียง 4 คน และไม่มีผู้เสียชีวิต  แต่ก็เป็นปีแรกที่ต้องยกเลิกการจัดเทศกาลสงกรานต์ของประเทศไทย รวมถึงงาน “สลุงหลวง กลองใหญ่ ปี๋ใหม่เมือง” บ้านเรา

 

 โควิดระลอก 2 หนุ่มกลับมางานแต่ง ติดเชื้อ 3 คน

หลังจากที่ จ.ลำปาง เงียบสงบไป 8 เดือน ซึ่งประชาชนยังสามารถเดินทางไปไหนมาได้ และใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ยังคงต้องระมัดระวังตัวเองและรักษามาตรการอย่างเข้มงวด  เตรียมพร้อมที่จะฉลองเทศกาลส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ แต่กิจกรรมทุกอย่างต้องยกเลิกไป เมื่อวันที่  28 ธันวาคม 63 จ.ลำปางพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เป็นชายอายุ 33 ปี ที่เดินทางมาจาก จ.ระยอง เพื่อมางานแต่งงานเพื่อนพื้นที่ ต.ต้นธงชัย ติดโควิด 1 ราย  ซึ่งในครั้งนี้มีกลุ่มเสี่ยงสูง 23 คน และกลุ่มเสี่ยงต่ำอีกเกือบ 1 พันคน

ชายรายนี้ ได้แพร่เชื้อไปยังเพื่อนอีก 2 คน คือ ชายอายุ 33 ปี  และ หญิง อายุ  24  ปี แฟนสาวผู้ป่วยรายที่ 2   ทำให้มีการปรับพื้นที่เป็นสีส้มใน 3 ตำบล คือ ต.ปงแสนทอง ต.ต้นธงชัย และ ต.สวนดอก  และยังคงมีคำสั่งปิดสถานที่เสี่ยง 5 แห่งเช่นเดิม  เพิ่มเติมคือจัดกิจกรรมชุมนุมกันได้ไม่เกิน 200 คน แต่ต้องขออนุญาตจากคณะกรรมการควบคุมโรคจังหวัดก่อนทุกครั้ง

ส่วนทางโรงเรียนกว่า 30 แห่ง  ได้ประกาศปิดเรียนเป็นกรณีพิเศษ โดยให้เรียนผ่านระบบออนไลน์เท่านั้น  สถานการณ์การแพร่ระบาดในครั้งที่ 2 นี้ ยังคงควบคุมได้โดยมีผู้ติดเชื้อเพียง 3 คนเท่านั้น  น่าเสียดายที่กิจกรรมส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ 64 ที่ได้วางแผนทั้งหมดแล้วต้องยกเลิกไป

 

 โควิดระลอกเดือนเมษายน 64  พบผู้เสียชีวิต 2 ราย

การเฝ้าระวังโควิด ยังดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์ 64  ซึ่งเป็นช่วงหยุดยาวที่ผู้คนต่างเดินทางกลับถิ่นฐานบ้านเกิด  ประกอบกับพื้นที่กรุงเทพฯ เกิดคลัสเตอร์ใหญ่ขึ้นอีกครั้ง คือ คลัสเตอร์สถานบันเทิง ผับย่านทองหล่อต่างๆ  ในครั้งนี้ นโยบายของผู้ว่าฯ ลำปาง ได้ขอความร่วมมือมาโดยตลอดว่า หากไม่จำเป็นขออย่าเดินทางกลับมา เนื่องจากอาจจะนำเชื้อมาแพร่สู่ครอบครัวได้  

แต่การเดินทางยังคงมีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ช่วงเดือน เมษายน 64  จ.ลำปาง มีผู้ติดเชื้อเพิ่ม โดยรายแรกของระลอกนี้ คือ หญิงอายุ 23 ปี ภูมิลำเนาอยู่ที่จังหวัดลำปาง ทำงานที่คลินิกเสริมความงามแห่งหนึ่งในจังหวัดนนทบุรี  มีประวัติไปเที่ยวสถานบันเทิงก่อนจะเดินทางมา จ.ลำปาง และมีการติดเชื้อ วันที่ 6 เมษายน 64 

การขอความร่วมมือไม่ให้กลับบ้านของผู้ว่าฯลำปาง ไม่เป็นผล มีผู้คนมากมายทยอยเดินทางกลับมา จ.ลำปางต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ติดจากคลัสเตอร์สถานบันเทิงทั้งนั้น และนำเชื้อเข้ามาสู่คนในพื้นที่ จนทำให้เกิด คลัสเตอร์งานบวช ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม  โดยหญิงสาวอายุ 36 ปี ที่เดินทางมาจากกรุงเทพฯ เพื่อมาร่วมงานบวชดังกล่าว หลังจากนั้นได้มีการแพร่เชื้อต่อกันในกลุ่มชาวบ้านในพื้นที่ ต.ทุ่งผึ้ง อ.แจ้ห่ม เนื่องจากมีการดื่มกินร่วมกัน ทำให้เชื้อติดต่อไปมากถึง 30 คน  แต่สุดท้ายก็ควบคุมได้ในวงจำกัด 

แต่ก็ต้องหนักใจอีกครั้ง เมื่อเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ขึ้นในพื้นที่อีกครั้ง ที่ ต.บ้านแหง อ.งาว  ซึ่งเป็นการติดเชื้อมาจาก จ.กรุงเทพฯเช่นกัน โดยมีการดื่มกินสังสรรค์ช่วงสงกรานต์ รดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ ทำให้ติดเชื้อต่อๆกันไปในกลุ่มเครือญาติ ตั้งแต่เด็กวัย 4 ปี ไปจนถึงผู้สูงอายุ 85 ปี  ซึ่งมีคนติดเชื้อมากถึง 21 คน จังหวัดลำปางจึงมีคำสั่งยกระดับให้ ต.บ้านแหง เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด หรือพื้นที่สีแดง  พร้อมปิดล็อกดาวน์หมู่บ้าน 2 หมู่บ้าน คือบ้านแหงเหนือ หมู่ 1 และบ้านแหงใต้ หมู่ 7 เป็นเวลา 14 วัน

การระบาดครั้งนี้ ยังนำไปสู่การเสียชีวิตถึง 2 ราย  โดยรายแรก ชายอายุ 34 ปี  ได้ติดเชื้อโควิด-19 จากต่างจังหวัด มีโรคประจำตัวคือเป็นโรคอ้วน เดินทางมาขอรับการตรวจที่โรงพยาบาลลำปาง เมื่อวันที่ 25 เมษายน 64 โดยผู้เสียชีวิตขับรถยนต์ส่วนตัว (ไม่ได้เข้าบ้าน) กระทั่ง เสียชีวิต เมื่อเวลาประมาณ 11.00 น. วันที่ 10 พฤษภาคม 64 ด้วยโรคโควิด-19 ปอดอักเสบอย่างรุนแรง

รายที่สอง ชาย อายุ 72 ปี  ได้ติดเชื้อจากญาติที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด เข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลเวชชารักษ์ ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย. 64 และเสียชีวิตลงในเวลาประมาณ 09.50 น. ของวันที่ 19 พ.ค. 64 ด้วยอาการปอดติดเชื้ออย่างรุนแรง 

ระลอกนี้ จ.ลำปาง ยังคงมีมาตรการปิดสถานที่เสี่ยงอยู่ โดยเพิ่มเติมในส่วนของ ตลาดนัด สปา นวดแผนไทย คลินิกเสริมความงาม  สระว่ายน้ำ การแข่งกีฬาประทะ เป็นต้น  งดรวมกลุ่มเกิน 50 คน และควบคุมการเดินทางเข้ามาในพื้นที่เสี่ยงสีแดงเข้ม ต้องรายงานตัวและกักตัวเป็นเวลา 14 วัน  พร้อมสแกน ลำปางชนะ 

ตั้งแต่วันที่ 6 เม.ย.64-8 มิ.ย.64 มียอดผู้ป่วยสะสม 261 ราย เสียชีวิตจำนวน 2 ราย

 

โควิดล่าสุด เปิดกว้างรับกลับบ้าน พบป่วยกว่า 1,600 คน เสียชีวิต 9 ราย  

จากระลอกเดือนเมษายน จนถึงต้นเดือนมิถุนายน  จ.ลำปางไม่พบผู้ป่วยเป็นเวลา 30 วัน ขณะที่ จ.กรุงเทพ พบการแพร่ระบาดของแรงงานจำนวนมาก  พ่อเมืองลำปางไม่ได้นิ่งนอนใจ  มีคำสั่งให้ แรงงานออกตรวจสอบสถานประกอบการ และรายงานยอดคนงาน พร้อมยกระดับติดตามคนเดินทางเข้าในพื้นที่ เตรียมสถานที่กักกันกรณีฉุกเฉิน คาดว่าอาจจะมีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากกรุงเทพฯ และปริมณฑล เข้ามาในพื้นที่ จ.ลำปาง 

กระทั่ง วันที่ 27 มิถุนายน 2564 จ.ลำปาง ก็พบผู้ติดเชื้อรายใหม่ จำนวน 3 ราย ในพื้นที่ อ.เมืองลำปาง และ อ.เกาะคา  ในครั้งนี้จึงเป็นที่มาของการเปิดโครงการ “รับคนลำปางกลับบ้าน”  เพื่อต้องการให้ผู้ติดเชื้อทุกคนเปิดเผยข้อมูล ดีกว่าการลักลอบกลับมาเองแล้วนำเชื้อมาแพร่สู่ผู้อื่นภายใน จ.ลำปาง

 มีผู้ป่วยติดต่อขอกลับมารักษาตัวที่ จ.ลำปาง เรื่อยๆ ในขณะที่มีผู้เดินทางมาเองโดยไม่ได้แจ้งผ่านโครงการฯ ก็มากเช่นกัน  ในครั้งนี้เกิดคลัสเตอร์เกิดขึ้นมากมาย และที่ใหญ่ที่สุดคือ  “คลัสเตอร์จิตต์อารีย์” มีเด็กนักเรียน และครูติดเชื้อ รวม 238 คน  ซึ่ง จ.ลำปาง สามารถควบคุมไว้ได้ในวงจำกัด โดยการใช้ระบบบับเบิลแอนด์ซิล  ทำให้เชื้อไม่แพร่กระจายไปสู่ภายนอก และยังนำไปเป็นต้นแบบของการจัดการกับคลัสเตอร์ที่พบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น คลัสเตอร์โรงเรียนวังเหนือ คลัสเตอร์บ้านแหง คลัสเตอร์แม่เมาะ ฯลฯ

ในระลอกนี้ถือว่าน่าใจหาย เพราะมีผู้เสียชีวิตถึง 9 คนด้วยกัน คือ

รายที่ 1 หญิง อายุ 56 ปี ชาว อ.งาว จ.ลำปาง เดินทางมาตามโครงการรับคนลำปางกลับบ้านเสียชีวิตในวันที่ 26 กรกฎาคม 64 รวมเวลาการรักษา 10 วัน

        รายที่ 2 หญิง อายุ 66 ปี ชาว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง อาชีพขายล็อตเตอรี่ อยู่กรุงเทพฯ เสียชีวิตในวันที่ 31 กรกฎาคม 64 รวมเวลารักษา 9  วัน

        รายที่ 3 ชาย อายุ 44 ปี ชาว อ.เถิน จ.ลำปาง อาชีพขับรถส่งสินค้า มีโรคประจำตัวโรคอ้วน เสียชีวิตในวันที่ 1 สิงหาคม 64  รักษาตัวได้ 10 วัน

        รายที่ 4 ชาย อายุ 46 ปี ชาว อ.วังเหนือ จ.ลำปาง อาชีพพนักงานโรงงาน จ.สมุทรปราการ เสียชีวิตในวันที่ 2 สิงหาคม 64 รวมเวลารักษาตัวอยู่ 25 วัน

        รายที่ 5  หญิง อายุ 69 ปี  ภูมิลำเนา จ.เชียงใหม่ พักอยู่ย่านสถานีขนส่งผู้โดยสาร ต.สบตุ๋ย อ.เมืองเมือง เสียชีวิตที่โรงพยาบาลลำปาง ผลการชันสูตรศพทราบหลังการเสียชีวิต 3 วัน พบเชื้อโควิด-19

          รายที่ 6 ชาย อายุ 52 ปี

        รายที่ 7 ชาย อายุ 83 ปี ชาว อ.งาว จ.ลำปาง

        รายที่ 8 หญิงชรา อายุ 89 ปี ชาวบ้านวังพร้าว ต.วังพร้าว เสียชีวิตวันที่ 11 สิงหาคม 64 รักษาอาการโควิดได้ 13 วัน

        รายที่ 9 ชายไทย อายุ 34 ปี ภูมิลำเนา อำเภอเกาะคา จังหวัดลำปาง เสียชีวิต  วันที่ 17 สิงหาคม 64  รวมเวลารักษา 11 วัน

แม้ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยที่ติดเชื้อมาจากต่างจังหวัด และเดินทางกลับบ้านตามโครงการรับคนลำปางกลับบ้าน แต่ทุกคนก็ล้วนเป็นคนลำปาง

        จากข้อมูลตั้งแต่วันที่ 27 มิถุนายน 64 ถึง วันที่ 23 สิงหาคม 64  จ.ลำปางมีผู้ป่วยสะสมทั้งหมด 1,663 คน  รักษาหายแล้ว 1,471   คน อยู่ระหว่างการรักษา 183 คน และเสียชีวิต 9 คน   หากย้อนไปรวมยอดผู้ป่วยสะสมตั้งแต่ที่มีการติดเชื้อครั้งแรก เท่ากับว่า จ.ลำปาง มีผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว จำนวน 1,924 คน และเสียชีวิตสะสม 11 คน

        และไม่รู้ว่า พวกเราจะต้องเผชิญกับสถานการณ์เช่นนี้ไปอีกนานแค่ไหน?


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์