วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2564

กรมชลประทาน เลือกอ่างเก็บน้ำ จ.ลำปาง 3 แห่ง ปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์โดยรวมในพื้นที่ลุ่มน้ำ

 

นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ และสื่อมวลชนทุกแขนง เข้าร่วมการกิจกรรมสื่อสัญจรผ่านระบบออนไลน์ (Zoom) โครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดลำปาง เพื่อสรุปผลการศึกษาโครงการ ความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดลำปางขึ้น

 


โครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดลำปาง ดำเนินการก่อสร้างและบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2514  ทำให้อาคารหัวงานระบบชลประทาน และระบบระบายน้ำอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรม ประกอบกับความต้องการใช้น้ำเพื่อการเกษตรกรรมและภาคส่วนอื่น ๆ เปลี่ยนแปลงไป จึงจำเป็นต้องศึกษาความเหมาะสมเพื่อพิจารณาปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

 


วัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว รวบรวมข้อมูลพื้นฐานปัจจุบัน ตลอดจนความคิดเห็นที่มีต่อการพัฒนาโครงการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำ “แผนหลักการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลาง” และ “คัดเลือกโครงการ เพื่อนำมาศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการ” รวมถึงศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากการพัฒนาและปรับปรุงโครงการ

 


รองอธิบดีฝ่ายวิชาการกล่าวต่อว่า การดำเนินงานได้แบ่งแผนงานเป็น 4 กลุ่มคือ 1. แผนงานซ่อมแซม เป็นแผนงานที่สามารถดำเนินการได้เลย ตามแบบเดิม 2. แผนงานปรับปรุง เป็นแผนงานที่ต้องวิเคราะห์ สำรวจและออกแบบ 3. แผนงานศึกษาความเหมาะสม เป็นแผนงานที่ต้องศึกษาความเหมาะสมของโครงการทั้งด้านวิศวกรรม สิ่งแวดล้อม สังคมและเศรษฐศาสตร์ และออกแบบรายละเอียดโครงการก่อนการดำเนินการก่อสร้าง และ 4. แผนงานบริหารจัดการน้ำ เป็นแผนงานที่จะทำให้เกิดการบริหารจัดการน้ำ การใช้งานและบำรุงรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโครงการชลประทานขนาดกลางมีทั้งสิ้น 30 โครงการ คัดเลือก 3 โครงการ เพื่อนำมาศึกษาความเหมาะสมปรับปรุงโครงการซึ่งจะก่อให้เกิดประโยชน์โดยรวมในพื้นที่ลุ่มน้ำมากที่สุดดังนี้

 


1)โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ทะ บ้านผาลาด ต.พระบาท อ.เมือง อายุโครงการ 50 ปี ความจุเก็บกัก 2.54 ล้าน ลบ.ม. มีพื้นที่ชลประทาน 10,000 ไร่ แผนการปรับปรุงระบบชลประทาน คือ วางแนวท่อจากเขื่อนไปยังปากเหมืองของฝายทั้ง 7 แห่ง ส่วนการปรับปรุงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ คือ ขุดลอกอ่างเก็บน้ำ ก่อสร้างฝายดักตะกอนบริเวณพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงลดการรั่วซึมเขื่อน เพิ่มระดับเก็บกักของอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงอาคารและระบบควบคุมการเปิด-ปิดประตูน้ำ ปรับปรุงและติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อนพร้อมระบบรับ-ส่งข้อมูลอัตโนมัติ รวมถึงติดตั้งระบบโทรมาตร และจัดทำคู่มือการบริหารจัดการน้ำ

 


2) โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ทาน บ้านแม่กัวะ ต.แม่กัวะ อ.สบปราบ อายุโครงการ 36 ปี ความจุเก็บกัก 14.90 ล้าน ลบ.ม. โครงการอ่างเก็บน้ำแม่ทานมีขนาดใหญ่ที่สุดในอำเภอสบปราบ พื้นที่ชลประทาน 12,000 ไร่ ดำเนินการเสริมคันกำแพงสันเขื่อนแล้ว แต่มีปัญหาบริเวณพื้นที่ต้นน้ำทำให้ปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำลดลง จึงต้องดำเนินการศึกษาหาแหล่งน้ำต้นทุนเพิ่ม

 

การปรับปรุงเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ ประกอบด้วย การขุดลอกอ่างเก็บน้ำ ก่อสร้างฝายดักตะกอนบริเวณพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงรถการรั่วซึมเขื่อน ปรับปรุงสันเขื่อน ปรับปรุงอาคารและระบบควบคุมการเปิด-ปิดประตูน้ำ ปรับปรุงและติดตั้งเครื่องมือวัดพฤติกรรมเขื่อนพร้อมระบบรับ-ส่งข้อมูลอัตโนมัติ รวมถึงติดตั้งระบบโทรมาตร และจัดทำคู่มือการบริหารจัดการน้ำ ส่วนการปรับปรุงระบบชลประทานและการเพิ่มน้ำต้นทุน อ่างเก็บน้ำแม่ทาน จะปรับปรุงคลองส่งน้ำฝั่งซ้าย พร้อมอาคารประกอบ และเพิ่มน้ำต้นทุน โดยการสูบน้ำจาก “แม่น้ำวัง” ไปเติมอ่างเก็บน้ำแม่ทาน ในช่วงเดือน ส.ค.-ต.ค.

 


3) โครงการอ่างเก็บน้ำแม่อาบ บ้านปากกอง ต.นาโป่ง อ.เถิน อายุโครงการ 36 ปี ความจุเก็บกัก 7.50 ล้าน ลบ.ม. เป็นโครงการอ่างเก็บน้ำขนาดกลางแห่งเดียวในอำเภอเถิน ระบบส่งน้ำยังไม่ครอบคลุมพื้นที่รับประโยชน์โครงการ และระบบส่งน้ำรวมถึงฝายต่าง ๆ ชำรุด ทำให้ไม่สามารถทำการเพาะปลูกได้เต็มพื้นที่



แผนการปรับปรุงโครงการอ่างเก็บน้ำแม่อาบ ประกอบด้วย การขุดลอกอ่างเก็บน้ำ ก่อสร้างฝายดักตะกอนบริเวณพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำ ศึกษาการเพิ่มระดับเก็บกักของอ่างเก็บน้ำ ปรับปรุงอาคารและระบบควบคุมการเปิด-ปิดประตูน้ำ ปรับปรุงและติดตั้งเครื่องมือตรวจวัดพฤติกรรมเขื่อน พร้อมระบบรับ-ส่งข้อมูลอัตโนมัติ ติดตั้งระบบโทรมาตร และจัดทำคู่มือการบริหารจัดการน้ำ ส่วนการปรับปรุงระบบชลประทาน คือ วางท่อส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่อาบ ไปปากเหมืองของฝายทุกแห่ง

 


สำหรับโครงการศึกษาความเหมาะสมการปรับปรุงโครงการชลประทานขนาดกลางในเขตจังหวัดลำปาง เริ่มดำเนินการเมื่อ 8 มิ.ย. 2563 31 ส.ค. 2564 ผลประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับคือ เขื่อนมีความมั่นคงมากขึ้น อ่างเก็บน้ำเก็บกักน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีปริมาณน้ำต้นทุนเพิ่ม มีระบบตรวจสอบความมั่นคงของเขื่อนทำให้สามารถติดตามตรวจวัดและเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำและใช้ประกอบการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่โครงการให้มีประสิทธิภาพและทันต่อสถานการณ์ทั้งอุทกภัยและภัยแล้ง ขณะที่การปรับปรุงระบบส่งน้ำ ทำให้การส่งน้ำมีศักยภาพสูงขึ้น ลดการสูญเสียน้ำและระยะเวลาการส่งน้ำไปยังพื้นที่เพาะปลูก ทำให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

 

ติดต่อฝ่ายประชาสัมพันธ์ : คุณช่อผกา คุระแก้ว 066-141-7337

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์