วันพฤหัสบดีที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2564

“พิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิต”พัฒนาชุมชนตามศาสตร์พระราชา

 


พิพิธภัณฑ์มีหลายรูปแบบ ทั้งพิพิธภัณฑ์ศิลปะ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ ไปจนถึงพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์  แต่ในโอกาสนี้จะพาไปรู้จักกับ
พิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิตภายใต้ชื่อ พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ แหล่งเรียนรู้ด้านอุตสาหกรรมการเกษตรแปรรูป และแหล่งผลิตสินค้าแบรนด์ "ดอยคำ" ที่คนไทยคุ้นเคย

 


พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ไม่ใช่เพียงบันทึกเรื่องราวและจัดแสดงวัตถุสิ่งที่มีความหมาย  แต่เต็มไปด้วยแนวพระราชดําริพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้านและยั่งยืน ตลอดจนวิถีวัฒนธรรมในชุมชนที่ยังมีชีวิต 

 




ภายในพื้นที่ของพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) ประกอบไปด้วยโรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ ๑ (ฝาง) และพิพิธภัณฑ์ โดยแวดล้อมไปด้วยชุมชนบ้านยางที่เงียบสงบและสวยงามท่ามกลางทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ชาวบ้านยางยังทำกิจกรรมต่างๆ   ทำมาค้าขาย  ทำอาหาร เพาะปลูก สืบทอดวัฒนธรรมให้คงอยู่ ตามบ้านเรือนมีภาพวาดสตรีทอาร์ตถ่ายทอดเอกลักษณ์ชุมชนให้เดินชมอย่างเพลิดเพลินอีกด้วย

 


อาคารในพิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) มีการออกแบบให้นึกถึงสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์พลังงาน สถาปัตยกรรมมีรูปแบบที่เรียบง่าย เน้นใช้วัสดุและสีสันที่กลมกลืนกับธรรมชาติของป่าเขาและชุมชนรอบด้าน มีคลองแม่งอนอยู่ใกล้กับพิพิธภัณฑ์


นอกจากจัดแสดงวัตถุสะสม สิ่งของจากชาวบ้านชุมชนบ้านยางบริจาคให้พิพิธภัณฑ์โรงงานหลวงที่ ๑ (ฝาง) ยังมีนิทรรศการจัดแสดงภาพถ่ายขั้นตอนกระบวนการผลิตของโรงงานหลวง, ภาพถ่ายสมัยที่ในหลวง ร.9 เสด็จฯ เยี่ยมราษฎรในพื้นที่ภาคเหนือด้วย รับรองชมแล้วจะคิดถึงพ่อหลวงของปวงชน

 


พิพัฒพงศ์ อิศรเสนา ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด กล่าวว่า ย้อนกลับไปวันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ.2537  วันแรกที่ดอยคำจัดตั้งองค์กรเป็นนิติบุคคลภายใต้ชื่อ "บริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร จำกัด" ดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมผลไม้แปรรูป ด้วยการเป็นต้นแบบองค์กรธุรกิจที่ดำเนินกิจการตามศาสตร์พระราชา ควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาชุมชนให้เกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืนจนปัจจุบัน ปีนี้ครบรอบ 27 ปีของบริษัท ดอยคำฯ ทางดอยคำจะเดินหน้าพัฒนาพื้นที่การเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ในการพัฒนาประเทศอย่างรอบด้านและยั่งยืนในรูปแบบพิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิต (Living SITE MUSEUM) โดยจะพัฒนาโรงงานหลวงฯ และพื้นที่โดยรอบให้เป็นพื้นที่เพื่อการเรียนรู้ (A Platform for Learning Experience) เพื่อให้ผู้ที่เข้ามาเรียนรู้ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงในชุมชน ซึ่งจะทำให้สังคมชุมชนเกิดความเข้มแข็งและมีคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน อยากเชิญชวนมาเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์พื้นที่ที่มีชีวิต

 


นอกจากนี้ พิพัฒพงศ์ กล่าวต่อว่า ดอยคำดำเนินงานเพื่อพัฒนาสังคมและชุมชนโดยรอบพื้นที่โรงงานหลวงฯ ทั้ง 3 แห่ง เพื่อให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนตามศาสตร์ของพระราชา และโมเดลของดอยคำกว่า 2,000 ครัวเรือน ได้ทำนุบำรุงพุทธศาสนาด้วยการพัฒนาวัดให้เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจแก่คนในชุมชน ผ่านโครงการวัดของเรา วัดของชุมชน

ดอยคำพัฒนาการศึกษาด้วยการพัฒนาโรงเรียนในบริเวณโดยรอบโรงงานหลวงฯ มอบความรู้แก่เกษตรกรกับโครงการส่งเสริมความรู้ด้านพืชเกษตร การสนับสนุนทุนการศึกษาแก่ยุวมัคคุเทศก์ ยุวเกษตร และเยาวชนที่ช่วยเหลือสนับสนุนงานโรงงานหลวงฯ ทั้ง 3 แห่ง ทำให้เด็กเยาวชนได้มีโอกาสทางการศึกษาเพิ่มขึ้นนายพิพัฒพงศ์ บอก

 

นอกจากส่งต่อการเรียนรู้ ในโอกาส 27 ปี  ดอยคำ ได้แบ่งปันความช่วยเหลือช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 19   ส่งมอบผลิตภัณฑ์แทนความห่วงใยแด่บุคลากรทางการแพทย์และผู้ป่วยโควิดให้กับโรงพยาบาลสนามทั้งในกรุงเทพฯ และพื้นที่โรงงานอาหารสำเร็จรูป ทั้ง 3 แห่ง และหน่วยงานต่างๆ  รวมถึงร่วมบริจาคกล่องกระดาษทำเตียงสนาม ให้ผู้ป่วยวิกฤตโควิด-19  พร้อมสนับสนุนให้คนไทยฉีดวัคซีน

 

ในเดือนสิงหาคม 2564 ดอยคำจัดกิจกรรมดอยคำ ชวนรัก (ษ์) โลก มุ่งสู่สังคมไร้ขยะ 1 กล่อง มีมูลค่า 1 บาท กับกิจกรรม "แกะ ล้าง เก็บ" เพียงแค่นำกล่องยูเอชทีภายใต้แบรนด์ ดอยคำทั้งขนาด 200 มล. 500 มล.และ 1,000 มล. (ผ่านขั้นตอนแกะ ล้าง เก็บ อย่างสมบูรณ์แล้วเท่านั้น) ซึ่งทุกขนาดมีมูลค่า 1 บาท สามารถนำมาแลกซื้อผลิตภัณฑ์ตราดอยคำแทนเงินสดได้โดยไม่มีขั้นต่ำ ได้ที่ร้านดอยคำ ทุกสาขา  ตั้งแต่วันที่ 12 สิงหาคม 2654 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2564

 

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์