วันพฤหัสบดีที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2564

ผอ.ท่าอากาศยานเผยความคืบหน้างานขยายรันเวย์งบกว่า 230 ล้านบาท คาดเสร็จกลางปี 65 รองรับเครื่องโบอิ้ง 737 ขณะที่สายการบินยังคงเปิดเพียง 2 สายเหมือนเดิม

 



นายประวัติ ดวงกันยา ผอ.ท่าอากาศยานลำปาง เปิดเผยถึงความคืบหน้า โครงการปรับปรุงและขยายท่าอากาศยานลำปางว่า จ.ลำปาง เป็นศูนย์กลางการเชื่อมโยงการเดินทางไปยังชุมชนต่างๆ ของกลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบนได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว เช่น เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย พะเยา แพร่ ตาก เป็นต้น จึงเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญที่จะได้รับการพัฒนาให้เป็นศูนย์กลางการคมนาคม ขนส่งทางอากาศอีกแห่งหนึ่งของประเทศ  ปัจจุบันมีการเปิดให้บริการเส้นทางการบินพาณิชย์แบบประจำในเส้นทาง ลำปาง – สุวรรณภูมิ และ ลำปาง - ดอนเมือง ทุกวันๆละหลายเที่ยวบิน จึงเห็นควรได้รับการพิจารณาส่งเสริม สนับสนุนให้มีการเปิดเส้นทางการบินพาณิชย์ เชื่อมในเส้นทางต่างๆ ไปยังท่าอากาศยานในส่วนภูมิภาคของประเทศเพิ่มขึ้น เช่น ภาคใต้ ภาคอีสาน และประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงในอนาคต 



 ในปี พ.ศ. 2560 มีจำนวน ผู้โดยสาร 280,091 คน และเที่ยวบิน 4,652 เที่ยวบิน แสดงให้เห็นว่า แนวโน้มกิจกรรมด้านการบินเพิ่มสูงขึ้น  และจากการพยากรณ์จำนวน ผู้โดยสารในปี พ.ศ. 2568 พบว่าท่าอากาศยานลำปางจะมีผู้โดยสาร ประมาณ 500,000 คน และมีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันท่าอากาศยานลำปางมีทางวิ่งกว้าง 30 เมตร ยาว 1,975 เมตร  ซึ่งตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO) จัดเป็นทางวิ่งที่ไม่สามารถรองรับอากาศยานขนาด 180 ที่นั่ง ที่ สายการบินส่วนใหญ่นิยมใช้ได้ จึงเป็นข้อจำกัดที่สำคัญที่ทำให้ไม่ สามารถพัฒนาท่าอากาศยานลำปางได้ นอกจากนี้ พื้นที่ปลอดภัยรอบ ทางวิ่ง และพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่งยังมีขนาดไม่เป็นไปตามที่ ICAO แนะนำ ดังนั้น กรมท่าอากาศยานจึงมีความจำเป็นที่จะต้องขยายทางวิ่ง พื้นที่ปลอดภัยรอบทางวิ่งและพื้นที่ปลอดภัยปลายทางวิ่ง ทางขับ ลานจอดเครื่องบิน พร้อมระบบไฟฟ้าสนามบินและส่วนประกอบอื่น ๆ รวมทั้งก่อสร้างอาคารที่พักผู้โดยสารหลังใหม่ เพื่อให้สามารถ รองรับอากาศยานที่มีขนาดใหญ่ เช่น อากาศยานขนาด B737 และ รองรับกิจกรรมด้านการขนส่งทางอากาศที่จะเพิ่มมากขึ้นได้อย่างปลอดภัยตามมาตรฐานสากล



ผอ.ท่าอากาศยานลำปาง กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างขยายความกว้างทางวิ่ง จาก 30 เมตร เป็น 45 เมตร ส่วนความยาวทางวิ่งยังเท่าเดิมคือ 1,975 เมตร และจัดการระบบไฟฟ้า งบประมาณ 229 ล้านบาท  ซึ่งจะไม่กระทบกับเที่ยวบินที่เปิดบินอยู่ทุกวันนี้  การก่อสร้างตอนนี้เป็นการทำในพื้นที่ที่มีอยู่เดิม คาดว่าจะเสร็จช่วงกลางปี 65  ส่วนการขยายความยาวทางวิ่งและส่วนอื่นๆ จะมีการดำเนินการในเฟสต่อไป อยู่ระหว่างรอผลการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม  

สำหรับการเดินทางทางอากาศจังหวัดลำปาง มีเที่ยวบินพาณิชย์ 2 บริษัท เช่นเดิม  คือ บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) และบริษัท การบินกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดทำการบินแบบประจำ ในเส้นทาง ลำปาง - ดอนเมือง และ ลำปาง – สุวรรณภูมิ  แต่ในช่วงนี้จะเปิดบินเพียงเที่ยวเดียวเท่านั้น และไม่ได้บินทุกวัน เนื่องจากมีผู้ใช้บริการไม่มากจากสถานการณ์โควิด  ซึ่งสายการบินบางกอกแอร์เวย์ส จะมาถึงประมาณ 15.30 น. ส่วนนกแอร์มาถึงลำปาง 16.00 น.  ยังไม่มีสายการบินอื่นๆเข้ามาเพิ่มแต่อย่างใด ส่วนกรณีที่มีข่าวสายการบินแอร์เอเชียเปิดจองเส้นทางกรุงเทพฯ-ลำปางนั้น เป็นคู่ค้าทางธุรกิจกันเท่านั้น  



          นายประหยัด กล่าวอีกว่า  เป้าหมายที่จะพัฒนาต่อไปในเฟส2 คือ การขยายทางวิ่ง (Run way) ให้ยาว 2,500 เมตร  ทางหยุด (Stop way) ขนาด 60 x 60 บนปลายทางวิ่ง  ทางขับ (Taxi way) ขนาด 23 x 73.50 เมตร จำนวน 2 เส้น ลานจอดเครื่องบิน (Apron) ลานจอดใหม่ ขนาด 85 x 318 เมตร รองรับเครื่องบินขนาด B777 จำนวน 3 ลำ และ ATR-72 จำนวน 2 ลำ ในเวลาเดียวกัน พร้อมหลุมจอดเฮลิคอปเตอร์ 1 หลุม  อาคารที่พักผู้โดยสารและอาคารประกอบ 2 ชั้น และชั้นใต้ดิน 1 ชั้น มีพื้นที่ใช้สอยประมาณ 12,000 ตารางเมตร   ลานจอดรถยนต์ จอดรถยนต์เดิม 75 คัน เพิ่มพื้นที่ 10,000 ตารางเมตร จอดรถยนต์ได้ ประมาณ 250 คัน  ก่อสร้างทาง เข้า - ออก ใหม่ จำนวน 1 อาคาร ด้านทิศตะวันออกเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับลานจอดรถยนต์ใหม่  หอบังคับการบิน 1 อาคาร อยู่บริเวณด้านทางทิศใต้ของอาคารผู้โดยสารหลังใหม่  อาคารซ่อมบำรุงเครื่องจักรกล  และอาคารที่ทำการดับเพลิงและกู้ภัย  โดยใช้งบประมาณ 1,700 ล้านบาท



          ทั้งนี้ ท่าอากาศยานลำปาง ได้การดำเนินงานด้านการประชาสัมพันธ์และการรับฟังความคิดเห็น อ้างอิงตามแนวทางการมีส่วนร่วมของประชาชนในกระบวนการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบ สิ่งแวดล้อม ของสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พ.ศ. 2562 และระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน พ.ศ. 2548 โดยทางโครงการได้กำหนดให้มีการจัดกิจกรรมการมีส่วนร่วมของประชาชน ในชุมชนบริเวณโดยรอบพื้นที่โครงการ และหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับโครงการ พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็น ข้อห่วงกังวล และข้อเสนอแนะที่มีต่อโครงการ

การประชุมรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 เพื่อประชาสัมพันธ์และแนะนำโครงการ เหตุผลความจำเป็น และความเป็นมาของโครงการ วัตถุประสงค์ของโครงการ สาระสำคัญของโครงการ ผู้ดำเนินการ สถานที่ดำเนินการ ขั้นตอนและระยะเวลา ดำเนินการ ผลผลิตและผลลัพธ์ของโครงการ โดยรับฟังความคิดเห็นต่อร่างข้อเสนอ โครงการ รายละเอียดโครงการ ขอบเขตการศึกษา และการประเมินทางเลือกโครงการ ซึ่งเป็นการให้ข้อมูลกับประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับรายละเอียดโครงการ ที่จะเกิดขึ้นและผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นทั้งทางบวกและทางลบ (ดำเนินการเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2561)

การสำรวจความคิดเห็นในขั้นตอนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและจัดทำ รายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยการประชุมกลุ่มย่อย (กลุ่มเจ้าของที่ดินที่อยู่ในเขต เวนคืน) (ระหว่างวันที่ 14-17 มกราคม พ.ศ. 2562) และสำรวจสภาพเศรษฐกิจ-สังคม และความคิดเห็นของประชาชนระดับครัวเรือน ผู้นำชุมชน กลุ่มอ่อนไหวต่อผลกระทบ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ดำเนินการช่วงเดือนกรกฎาคม 2563) การประชุมรับฟังความคิดเห็น ครั้งที่ 2 เพื่อรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงาน การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม พร้อมรับฟังข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และข้อห่วงกังวล (ดำเนินการเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2563)




 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์