วันอังคารที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2564

กรมชลประทาน เดินหน้าศึกษาความเหมาะสมฯอ่างเก็บน้ำน้ำงาว หลังทำความเข้าใจกับชาวบ้านถึง 3 ปีเต็ม คาดเริ่มสร้างในปี68


    
  
           เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ นำคณะสื่อมวลชน ลงพื้นที่ร่วมกิจกรรมสัญจร ครั้งที่ 2 เพื่อตรวจติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอ่างเก็บน้ำน้ำงาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง
         นายเฉลิมเกียรติ คงวิเชียรวัฒน์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ครั้งนี้เป็นการติดตามความก้าวหน้าโครงการศึกษาความเหมาะสมและประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม อ่างเก็บน้ำงาว อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดลำปาง  ครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นโครงการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ ทั้งภาคการเกษตร อุปโภค-บริโภค ของประชาชนและปศุสัตว์ รวมถึงยังบรรเทาปัญหาอุทกภัยให้กับพื้นที่ อ.งาว ครอบคลุม 6 ตำบล ประกอบด้วย ต.บ้านร้อง ต.ปงเตา ต.นาแก ต.หลวงเหนือ ต.หลวงใต้ และ ต.บ้านโป่ง ซึ่งได้เริ่มศึกษาเพื่อการจัดทำรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่ปี 2561  โดยมอบให้กรมชลประทาน เข้าดำเนินการตามแผนงาน และเปิดให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำโครงการ เพื่อรับฟังความคิดเห็น และเสนอแนะจากผู้มีส่วนได้เสียในพื้นที่ โดยใช้เวลาสร้างความเข้าใจกับชาวบ้านถึง 3 ปีด้วยกัน 





       รองอธิบดีฯ กล่าวว่า ขณะนี้ โครงการอยู่ระหว่างการกำหนดรายละเอียดและประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม  จากการเปิดรับฟังและหารือร่วมกับผู้ที่เกี่ยวข้องในครั้งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่เห็นด้วยในการพัฒนาโครงการ เพื่อแก้ปัญหาภัยแล้งของอำเภองาว แม้ว่าจะมีประชาชนบางกลุ่มได้รับผลกระทบในพื้นที่ทำกิน กรมชลประทาน จึงได้เร่งดำเนินการ สร้างความเข้าใจ ทั้งในด้านความแข็งแรงของโครงสร้างอ่างเก็บน้ำ แผนการพัฒนาแนวทางการสร้างรายได้ และความชัดเจนในการจ่ายค่าชดเชยที่ดินและทรัพย์สิน หากทุกฝ่ายเห็นชอบ จะนำไปสู่การพัฒนาโครงการดังกล่าว ที่คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างได้ในปี 2568




         สำหรับโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำงาว มีแผนก่อสร้างในพื้นที่บ้านข่อย ม.4 และบ้านท่าเจริญ หม ู่6 ต.บ้านร้อง อ.งาว เก็บกักน้ำต้นทุนในลำน้ำงาวประมาณ 13.53   ล้านลูกบาศก์เมตร เก็บกักสูงสุดได้ถึง 15.71 ล้านลูกบาศก์เมตร สามารถช่วยแก้ไขปัญหาขาดแคลนน้ำเพื่อการเพาะปลูกในช่วงฤดูแล้ง รวมถึงในขณะที่เกิดฝนทิ้งช่วงหรือฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาลได้และช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมในช่วงน้ำหลาก และสามารถส่งน้ำให้กับพื้นที่ชลประทานได้ 8,477 ไร่ ชาวบ้านได้รับประโยชน์ 20,066 ครัวเรือน 




 
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์