วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2564

ปริศนาจารึกโบราณที่วัดส้มสุก จ.เชียงใหม่



ระหว่างการขุดแต่งทางโบราณคดีวัดส้มสุก  แหล่งโบราณสถานขนาดใหญ่ที่สุดในแอ่งที่ราบฝางครั้งล่าสุด โดยโบราณสถานแห่งนี้อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราว 170 กิโลเมตร  ทีมนักโบราณคดีกรมศิลปากรยังค้นพบโบราณวัตถุที่สำคัญอย่างต่อเนื่อง   หลังจากบูรณะขุดค้นโบราณสถานวัดส้มสุกระยะแรกเมื่อปี 2558 ซึ่งนำมาสู่การศึกษาและไขปริศนาในอดีตที่ไม่มีใครรู้มาก่อน

 

โครงการดังกล่าวเกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างสำนักศิลปากรที่ 7  เชียงใหม่ กรมศิลปากรและชุมชนในตำบลมะลิกา อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ที่ต้องการอนุรักษ์และพัฒนาวัดส้มสุกโบราณสถานอันเป็นมรดกทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่ทรงคุณค่าของท้องถิ่น ซึ่งโบราณสถานแห่งนี้เป็นหลักฐานยืนยันอิทธิพลวัฒนธรรมสุโขทัยที่แพร่หลายเข้าสู่ดินแดนล้านนาโบราณเมื่อกว่า 600  ปีมาแล้ว

 

    จากรายงานความคืบหน้าปัจจุบันมีโบราณสถานที่ดำเนินการขุดค้นแล้ว ได้แก่ เจดีย์ประธานทรงระฆังมีช้างล้อมรอบฐาน วิหารขนาดใหญ่ พบร่องรอยการปฏิสังขรณ์ 3 ครั้ง ซุ้มประตูโขงและอาคารใหญ่น้อยอีกประมาณ 10 หลัง ที่สำคัญพบโบราณวัตถุล้ำค่า คือ พระพิมพ์เนื้อชินมีจารึกคาถา จะภะกะสะซึ่งเป็นคาถาที่ปรากฏในคัมภีร์วิชรสารัตนสังคหะ รจนาโดยพระรัตนปัญญาเถระภิกษุในนิกายวัดสวนดอกเมื่อ พ.ศ. 2078

 

ความน่าสนใจของโบราณสถานวัดส้มสุก ทีมนักโบราณคดีของกรมศิลปากร ค้นพบจารึกอักษรฝักขามบนแผ่นอิฐหน้าวัวและอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีทั้งที่จารเป็นอักษร 1-2  ตัว  และเป็นข้อความหรือภาพลายเส้นเป็นลวดลายต่างๆ มากกว่า 200 ก้อน เจ้าหน้าที่ของกรมศิลปากร  ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญค่อยๆ เช็ดทำความสะอาดคราบดินและสิ่งสกปรกที่จับแน่นตามก้อนอิฐและเสาทุกต้น  จนจารึกตัวอักษรและลวดลายที่ยังคงมีปรากฏออกมาชัดเจน

 

 นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร กล่าวว่า วัดส้มสุก อาจกล่าวได้ว่าเป็นวัดที่มีจารึกมากที่สุดในประเทศไทย เบื้องต้นนักโบราณคดีได้จำแนกจารึกบนก้อนอิฐที่พบออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่เขียนเป็นข้อความ ส่วนใหญ่ระบุชื่อบุคคลที่อาจหมายถึงผู้ปั้นหรือผู้บริจาคอิฐก้อนนั้นๆ และกลุ่มที่เขียนเป็นตัวอักษร 1-2  ตัว ส่วนใหญ่พบบนอิฐหน้าวัวที่ประกอบกันเป็นเสาอาคาร

 

“มีข้อสังเกตว่า ในเสาต้นเดียวกันส่วนใหญ่จะเป็นการจารึกตัวอักษรตัวเดียวกัน เบื้องต้นนักโบราณคดีสันนิษฐานว่าอาจเกี่ยวข้องกับการให้รหัสสำหรับการก่อสร้าง หรือเทคนิคการผลิต หรืออาจหมายถึงกลุ่มบุคคล กลุ่มข้าวัด หัววัด หรือศรัทธาวัดแต่ละหมู่บ้าน ที่ร่วมแรงร่วมใจกันซ่อมสร้างวัดโบราณแห่งนี้ขึ้น“ นายประทีป

 

 หลังพบจารึกเก่าแก่โบราณวัตถุทั้งหมดอยู่ระหว่างการศึกษา ตีความหมาย และเทียบเคียง โดยผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาโบราณ ซึ่งสำนักศิลปากรที่ 7  เชียงใหม่จะมีสรุปรายงานผลการศึกษาทั้งหมดอย่างเป็นทางการและเผยแพร่องค์ความรู้ให้สังคมทราบ  นอกจากนี้ จะนำไปสู่การต่อยอดสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้ชาวอำเภอแม่อายอีกด้วย

 

อย่างไรก็ตาม ในปีงบประมาณ 2564 นี้ กรมศิลปากรยังได้อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติมอีก  1.1  ล้านบาท สำหรับการขุดค้นและดำเนินการทางโบราณคดีให้ครบถ้วน เพื่อขยายผลการศึกษาเชิงประวัติศาสตร์และโบราณคดีให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น จึงเป็นเรื่องน่าสนใจที่บรรดานักโบราณคดีและนักภาษาโบราณจะติดตามศึกษา เพื่อไขความกระจ่างเรื่องจารึกปริศนาจากแหล่งโบราณสถานบนแอ่งที่ราบฝางนี้ต่อไป

 


1.โบราณสถานวัดส้มสุก  ตั้งอยู่อ.แม่อายห่างจากเมืองเชียงใหม่ 170 กม.



2.จารึกข้อความอักษรฝักขามบนอิฐรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า



3.วัด ชุมชน และกรมศิลปากร ร่วมอนุรักษ์วัดส้มสุกโบราณสถานคู่เมือง



4.จารึกอักษรฝักขามบนแผ่นอิฐหน้าวัว



5.วัดส้มสุกโบราณสถานมรดกทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรม


กอบแก้ว แผนสท้าน..เรื่อง

 

 


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์