วันพุธที่ 29 กันยายน พ.ศ. 2564

“เที่ยวทิพย์” ให้หายคิดถึง...ลำปางหนา



เพราะเป็นหน่วยงานที่ทำงานด้านการท่องเที่ยว จึงเข้าใจหัวอกคนชอบเที่ยวได้เป็นอย่างดีว่าอาการโหยหาการเดินทางเพื่อออกไปสัมผัสกับธรรมชาติ สัมผัสกับศิลปวัฒนธรรมต่างๆ  นั้นเป็นอย่างไร ครั้งนี้ ททท.สำนักงานจังหวัดลำปาง จึงผุดโครงการ “คิดถึงจัง...ลำปางหนา” ด้วยการพาทุกท่านออกเดินทาง #กินทิพย์ #เที่ยวทิพย์ ให้คลายความอัดอั้นจากสถานการณ์ปัจจุบัน และให้หายคิดถึงลำปางไปในคราวเดียว

 

ทุ่งดอกบัวตอง กฟผ.แม่เมาะ อ.เมือง จ.ลำปาง จุดชมวิวและทุ่งบัวตอง เป็นภูเขาเทียมที่เกิดจากการนำดินในบ่อเหมืองมากองเก็บไว้ โดยบนยอดดอยมีสวนเฉลิมพระเกียรติ 84 พรรษา เป็นจุดชมวิวที่สามารถมองเห็นทัศนียภาพสวยงาม รวมทั้งทุ่งบัวตองซึ่งจะออกดอกสีเหลืองสดใสในช่วงเดือนพฤศจิกายนถึงกลางเดือนธันวาคม และภายใน กฟผ.แม่เมาะ ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอีกอาทิเช่น พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา, สวนพฤกษชาติ, ลานสไลเดอร์, สนามกอล์ฟ เป็นต้น

 


สตรีทอาร์ตลำปาง แสนน่ารักและชวนอมยิ้ม สอดแทรกความเป็นเอกลักษณ์ของเมืองลำปางไว้อย่างลงตัว ริเริ่มโดยนายทรงพล สวาสดิ์ธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ที่ชักชวนศิลปินมาร่วมสร้างสรรค์ผลงานศิลปะตามแนวกำแพงบ้านเรือนริมแม่น้ำวังให้ดูมีชีวิตชีวายิ่งขึ้น ภาพวาดส่วนใหญ่อยู่บริเวณฐานสะพานรัษฎาภิเศกและถนนเลียบริมแม่น้ำวังฝั่งใต้ใกล้กาดกองต้า อีกจุดหนึ่งคือถนนเส้นเล็ก ๆ ที่ตรงเข้าไปจะเป็นสะพานรัตนโกสินทร์ 200 ปี (สะพานวัดเกาะฯ) ถ้าเริ่มชมจากจุดนี้ สามารถเดินเลี้ยวขวาเลียบไปบนถนนริมแม่น้ำวังได้เลย ตลอดทางมีสตรีตอาร์ตให้ชมอย่างจุใจ ยาวไปจนถึงบริเวณด้านหลังจวนผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางเลยทีเดียว นอกจากนี้ ที่ตลาดเก๊าจาวก็ยังมีสตรีตอาร์ตน่ารักน่าชมด้วยเช่นกัน

 

พิพิธภัณฑ์เซรามิกธนบดี ภายในพิพิธภัณฑ์มีสิ่งที่น่าสนใจมากมาย เช่น นิทรรศการความเป็นมาของชามตราไก่นครลำปางและเซรามิกเพื่อการส่งออก อนุสาวรีย์ผู้ค้นพบแร่ดินขาว มีการสาธิตการผลิตเซรามิกชามไก่แบบดั้งเดิม ชามไก่ที่เล็กที่สุดในโลก เตามังกรโบราณที่มีอายุเก่าแก่ การผลิตถ้วยขนม และร้านจำหน่ายเซรามิกในเครือโรงงานธนบดีเซรามิก

 


อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน ฤดูที่เหมาะสำหรับการท่องเที่ยวและมีอากาศเย็นสบาย คือเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ ประกอบด้วย น้ำตกแจ้ซ้อน เป็นน้ำตกที่เกิดจากลำน้ำแม่มอญ มีน้ำไหลตลอดทั้งปีและมีแอ่งน้ำรองรับเป็นชั้นๆ อยู่ 6 ชั้น บ่อน้ำร้อนแจ้ซ้อน เป็นแหล่งน้ำพุร้อนทางธรณีวิทยา จำนวน 9 บ่อ ตั้งอยู่รวมกันในบริเวณพื้นที่ที่ทำการอุทยานฯ มีอุณหภูมิเฉลี่ย 73 องศาเซลเซียส มีกลิ่นกำมะถันอ่อนๆ และมีไอน้ำลอยปกคลุมรอบบริเวณ เป็นที่นิยมนำไข่ไก่และไข่นกกระทามาแช่ สำหรับไข่ไก่แช่นานประมาณ 17 นาที ไข่แดงจะแข็งมีรสชาติมันอร่อย ส่วนไข่ขาวจะเหลวคล้ายไข่เต่า ห้องอาบน้ำแร่ มีทั้งห้องอาบแช่ สำหรับ 3-4 คน ห้องส่วนตัว 50 บาท/คน บ่อกลางแจ้ง 10 บาท/คน น้ำแร่ที่ใช้ต่อท่อโดยตรงมาจากบ่อน้ำพุร้อน อุณหภูมิประมาณ 39-42 องศาเซลเซียส ประโยชน์ของการอาบน้ำแร่คือ ช่วยบำบัดความเมื่อยล้าของร่างกาย ช่วยให้ระบบไหลเวียนของโลหิตดีขึ้น แต่ไม่สามารถใช้ดื่มได้เพราะมีแร่ธาตุสูงกว่ามาตรฐาน นอกจากนี้ยังอาหารถิ่นต้องห้ามพลาด ยำไข่น้ำแร่แจ้ช้อน เมนูยำไข่น้ำแร่แจ้ช้อนนี้ได้คิดค้นขึ้นมา ม.ร.ว.ถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ จากการนำไข่ไก่ลงไปแช่ในบ่อน้ำร้อนของแจ้ซ้อน จากนั้นนำมาปรุงรสแบบยำครบเครื่อง ทั้งใส่กุ้งแห้งป่น 3 ช้อนโต๊ะต้นหอมซอย 1+1/2 ช้อนโต๊ะ หอมแดงซอย 1+1/2 ช้อนโต๊ะ พริกขี้หนูสวนซอย 1 ช้อนโต๊ะ ซีอิ๊ว ซอสปรุงรส และซอสเหยาะจิ้ม อย่างละมากน้อยตามความชอบสัดส่วนของกุ้งแห้ง ต้นหอม หอมแดง และพริกขี้หนู สามารถเพิ่มลดได้ตามความชอบของแต่ละคน ซึ่งประชาชนนักท่องเที่ยวสามารถแวะมาลองชิมรสชาติที่อร่อยของยำไข่น้ำแร่แจ้ช้อนที่ร้านอาหารสวัสดิการภายในอุทยานแห่งชาติแจ้ช้อนอำเภอเมืองปาน จังหวัดลำปางได้ทุกวัน

 



วัดพุทธบาทสุทธาวาส เดิมชื่อ วัดเฉลิมพระเกียรติพระจอมเกล้าราชานุสรณ์ (วัดพระบาทปู่ผาแดง) ชมความงดงามของทัศนียภาพจึงทำให้ได้รับการยกย่องเป็นแหล่งท่องเที่ยว “Unseen Thailand” วัดนี้มีรอยพระพุทธบาทของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจารึกไว้บนแผ่นหินขนาดใหญ่ และมีถ้ำผาสวรรค์ ปล่องลมมหัศจรรย์มีลายหินงาม เตาหินปูนแบบโบราณ และเมืองโบราณชื่อเมืองวิเชตนคร อยู่บริเวณใกล้เคียง วัดนี้แบ่งออกเป็น 2 ชั้น คือ วัดในบริเวณชั้นล่าง นักท่องเที่ยวสามารถขับรถไปจอดในบริเวณหน้าวัดได้ ส่วนวัดบริเวณชั้นบน ตั้งอยู่บนยอดเขา หากต้องการเที่ยวชมในจุดนี้ นักท่องเทียวต้องขับรถขึ้นไประยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ต่อจากนั้นเดินเท้าขึ้นเขา ด้วยระยะทางประมาณ 1 กิโลเมตร เป็นเส้นทางบันไดเหล็กค่อนข้างชัน อาจจะเหนื่อยหน่อยแต่คุ้มมาก

 



พระธาตุลำปางหลวง มีมาตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี ราวปลายพุทธศตวรรษที่ 20 นอกจากเป็นวัดไม้ที่มีความสมบูรณ์ที่สุดแห่งหนึ่งของไทยซึ่งงดงามด้วยสถาปัตยกรรมเก่าแก่แล้ว พระธาตุลำปางหลวงยังเป็นพระธาตุประจำปีเกิดของคนปีฉลู ด้วยเริ่มสร้างในปีฉลูและเสร็จสิ้นในปีฉลูเช่นเดียวกัน มีสิ่งที่น่าสนใจ ดังนี้ พระธาตุลำปางหลวง มีฐานเป็นบัวลูกแก้ว ส่วนองค์พระธาตุเป็นทรงกลมแบบล้านนา ภายนอกบุด้วยทองจังโก ยอดฉัตรทำด้วยทองคำ มีลายสลักดุนเป็นลวดลายประจำยามแบบต่างๆลักษณะเจดีย์แบบนี้เป็นต้นแบบของพระธาตุหริภุญไชยและพระบรมธาตุจอมทองด้วย นอกจากนี้วัดพระธาตุลำปางหลวงยังเป็นที่ประดิษฐาน พระแก้วดอนเต้า” (พระแก้วมรกต) พระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของจังหวัดลำปาง เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ศิลปะล้านนาสลักด้วยหยกสีเขียว มีงานนมัสการพระแก้วดอนเต้าในวันเพ็ญเดือน 12 ของทุกปี วัดพระธาตุลำปางหลวงเปิดทุกวัน เวลา 07.30-17.00 น.

 

จังหวัดลำปางมีจุดชมเงาพระธาตุเลื่องชื่ออยู่ที่ วัดพระธาตุลำปางหลวง นับเป็นไฮไลท์อยู่ที่ มณฑปพระพุทธบาทหรือ ซุ้มพระพุทธบาทอาคารเล็กๆ แคบๆ ที่ภายในประดิษฐานรอยพระพุทธบาท เงาพระธาตุนั้นเกิดจากแสงที่ส่องลอดผ่านรูปรากฏในลักษณะของเงาพระธาตุหัวกลับที่มีสีสันสวยงามตามจริง

 


รถม้าลำปาง เป็นสัญลักษณ์หรือเอกลักษณ์อีกหนึ่งอย่างของนครลำปางซึ่งเป็นยานพาหนะในการเดินทางของยุคสมัยก่อน โดยมีที่มาจาก เดิมรถม้าเข้ามาในประเทศไทยครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 ต่อมาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 5 ทรงสั่งรถม้าเข้ามาเป็นจำนวนมากเพื่อใช้เป็นรถหลวง กระทั้งรถยนต์เริ่มเข้ามามีบทบาท รถม้าจึงได้ถูกกระจายออกจากกรุงเทพฯ และในช่วง พ.ศ.2458 ได้มีการวางรางรถไฟขึ้นมาจนถึงลำปาง รถม้าจึงมีบทบาทสำคัญด้วยการเป็นยานพาหนะรับส่งผู้โดยสารจากสถานีรถไฟจังหวัดลำปางเข้าสู่ตัวเมือง ปัจจุบันให้บริการสองเส้นทาง ได้แก่ 1.เส้นทางรอบเมืองเล็ก ใช้เวลาประมาณ 30 นาที ราคา 300 บาท 2.เส้นทางรอบเมืองใหญ่ ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง ราคา 400 บาท  และหากเช่าเป็นชั่วโมง นักท่องเที่ยวสามารถเลือกเส้นทางชมเมืองได้ตามความต้องการ เช่น ข้ามแม่น้ำวังบนสะพานรัษฎาภิเศก ชมบ้านเสานัก ชมวัดต่าง ๆ และนมัสการหลวงพ่อเกษม เขมโก

 

วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม สร้างขึ้นราว พ.ศ.2325-2352 เมื่อครั้งชาวเชียงแสนถูกกวาดต้อนมาตั้งชุมชนในเมืองเขลางค์ เพื่อระลึกถึงคุณงามความดีของนางสุชาดาหลังจากได้รับโทษประหารชีวิตด้วยความเข้าใจผิดและมาปรากฎความจริงในภายหลัง เชื่อกันว่าที่ตั้งของวัดแห่งนี้คือบ้านและไร่แตงโมของ เจ้าแม่สุชาดาในอดีต ต่อมาเมื่อวันที่ 6 สิงหาคม 2527 กระทรวงศึกษาธิการได้ดำเนินการรวมวัดสุชาดารามเข้ากับวัดพระแก้วดอนเต้า และเรียกวัดแห่งนี้ว่า วัดพระแก้วดอนเต้าสุชาดาราม มีตำนานกล่าวว่า นางสุชาดา ได้พบแก้วมรกตในแตงโม (หมากเต้า) และนำมาถวายพระเถระรูปนั้นจึงจ้างช่างให้นำมรกตนั้นไปแกะสลักเป็นพระพุทธรูปซึ่งก็คือ พระแก้วดอนเต้า ซึ่งต่อมาได้รับการอัญเชิญไปประดิษฐานที่วัดพระธาตุลำปางหลวง แต่บางที่ก็มีการสันนิษฐานเพิ่มว่า น่าจะเป็นเพราะย่านนี้เป็นสวนหมากเต้า และเป็นที่ดอน จึงชื่อพระธาตุว่า พระบรมธาตุดอนเต้า และชื่อวัดว่า วัดพระธาตุดอนเต้า และต่อมาเมื่อมีการประดิษฐานพระแก้วดอนเต้า จึงเปลี่ยนชื่อเป็น วัดพระแก้วดอนเต้า

 

วัดเจดีย์ซาวหลัง เป็นวัดที่แค่ได้ยินชื่อก็รู้ว่าจะได้พบกับสิ่งใดเมื่อคำว่า ซาวแปลว่า ยี่สิบ และ คำว่า หลังแปลว่า องค์ วัดนี้จึงเป็นวัดที่มีเจดีย์ 20 องค์ และจากหลักฐานการขุดพบพระเครื่องสมัยหริภุญไชยที่องค์พระเจดีย์นั้น ทำให้สันนิษฐานได้ว่ามีการสร้างวัดนี้มานานนับพันปีแล้ว วัดนี้มีสิ่งที่น่าสนใจคือ องค์พระธาตุเจดีย์ซาว มีศิลปะล้านนาผสมศิลปะพม่า เชื่อกันว่าหากใครนับได้ครบ 20 องค์ถือว่าเป็นคนมีบุญ ทั้งนี้ ข้างหมู่พระเจดีย์จะพบกับวิหารหลังเล็ก ประดิษฐานพระพุทธรูปสำริดปางสมาธิ ศิลปะเชียงแสน ชาวบ้านเรียกว่า พระพุทธรูปทันใจ

 


สะพานรัษฎาภิเศก หรือ สะพานขาว เป็นสะพานร่วมสมัยกับยุคอารยธรรมรถไฟ ที่ยืนยงผ่านช่วงเวลาสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 มาแล้ว มีเรื่องเล่าว่าเพราะตัวสะพานได้รับการทาสีพรางตา จึงรอดพ้นจากการโจมตีทิ้งระเบิดของฝ่ายสัมพันธมิตร อีกทั้งนางลูซี สคาร์ลิง อดีตผู้อำนวยการโรงเรียนวิชานารี ซึ่งเป็นที่ปรึกษาของกองทัพสัมพันธมิตรในขณะนั้น ยังกล่าวอ้างว่า สะพานแห่งนี้ไม่มีประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ จึงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้สะพานรอดพ้นจากภัยสงคราม สะพานรัษฎาภิเศกเดิมเป็นสะพานไม้เสริมเหล็ก แต่ชำรุดผุพัง แต่ได้มีการก่อสร้างใหม่เมื่อเดือน มีนาคม พ.ศ. 2460 เป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่มีความคงทนมากกว่าสะพานรุ่นเดียวกัน ที่ไม่มีเหลืออยู่แล้วในปัจจุบัน และยังมีเครื่องหมายไก่ขาวและครุฑหลวงประดับไว้ตรงหัวสะพานอีกด้วยปัจจุบันสะพานดังกล่าวมีอายุยืนนานถึง 104 ปี เป็นสะพานแห่งวิถีชีวิตของชาวลำปางที่ใช้สัญจรกันอย่างแท้จริง

 


กาดกองต้าถนนคนเดินหรือถนนตลาดจีน เดิมบริเวณนี้เป็นชุมชนทางเศรษฐกิจที่มีอายุกว่าร้อยปี ตั้งอยู่ริมน้ำวัง ซึ่งถือเป็นชัยภูมิชั้นดี ต่อมาได้พัฒนาสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าขายและส่งผ่านสินค้าสำคัญของเมืองลำปาง ในปี พ.ศ. 2459 ศูนย์กลางการค้าแห่งนี้ถูกลดบทบาทลง เนื่องจากมีการตัดเส้นทางรถไฟสายเหนือมาถึงลำปาง ผู้คนในจังหวัดจึงขยายถิ่นฐานไปตั้งอยู่รอบๆ สถานีรถไฟ ก่อเกิดชุมชนใหม่ที่เรียกว่า "ชุมชนเก๊าจาว" จนในปัจจุบันที่นี่ได้หวนกลับมาเป็นย่านการค้าที่สำคัญอีกครั้ง โดยความตั้งใจของชาวลำปางที่ต้องการอนุรักษ์วันวานและสร้างสีสันให้เมืองนี้น่าเที่ยว การเดินเล่นบนถนนคนเดินกาดกองต้าที่เต็มไปด้วยความคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งของเมืองลำปาง สองข้างทางเรียงรายด้วยตึกเก่าอันทรงคุณค่า โดยสถาปัตยกรรมเหล่านี้มีทั้งศิลปะตะวันตก พม่า-ไทใหญ่ และจีนซึ่งยังคงได้รับการดูแลรักษาอย่างดี

 


อาหารพื้นเมืองที่แสนคิดถึง นอกจาก #เที่ยวทิพย์ แล้วเรายังชวนทุกท่านมา #กินทิพย์ อีกด้วย อาหารพื้นเมืองที่น่าคิดถึงเหล่านี้ เสิร์ฟมาบนขันโตก และฟังเพลงบรยากาศล้านนาแท้ๆ ชิมรสชาติที่มีเอกลักษณ์ไม่เหมือนที่ไหน อาหารเหนือที่แสนอร่อย อาทิเช่น แกงฮังเล รสชาติหวานเปรี้ยวเค็มมันครบรสชาติ กลิ่นเครื่องแกงที่หอมอย่างเป็นเอกลักษณ์ แหนมหมู น้ำพริกตาแดง น้ำพริกหนุ่ม และแคบหมู เป็นของที่แยกกันไม่ได้อย่างยิ่ง ลาบหมูคั่วเองก็หอมเครื่องลาบที่เป็นของขึ้นชื่อของจังหวัดลำปาง แกงผักกาดและจอผักกาดเองก็เป็นอาหารพื้นเมืองที่เป็นของที่ขาดไม่ได้ของคนภาคเหนือ และที่ขาดไม่ได้นั่นคือข้าวเหนียวร้อนๆที่นำมาทานพร้อมกับ กับข้าวพื้นเมืองแสนอร่อยเหล่านี้ มากินทิพย์ด้วยกันให้หายคิดถึง ก่อนที่เราจะได้พบกันอีกครั้ง

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ททท.สำนักงานลำปาง เบอร์โทร.054-222-214 ทุกวันจันทร์-ศุกร์ ในเวลาราชการ สำหรับวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์ สามารถสอบถามมาได้ทาง Inbox Facebook ททท.สำนักงานลำปาง

 

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง

ททท.สำนักงานลำปาง...ภาพ

 


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์