วันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2564

3 ผู้ชนะเลิศประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากล 2564

 


ก่อนหน้านี้ได้นำเสนอข่าวคราวการจัดงานแถลงข่าวการประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากล เพื่อการต่อยอดและพัฒนา (Cultural Textile Awards 2021) ภายใต้โครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2564 โดย กรมส่งเสริมวัฒนธรรม ร่วมกับ ศูนย์บริการวิชาการ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ซึ่งจัดขึ้นเพื่อส่งเสริมพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผ้าทอพื้นถิ่นของไทย และนักออกแบบลายผ้ารุ่นใหม่ ภายใต้แนวคิดจากหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทยและการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย (Thai Textiles Trend Book Spring/Summer 2022) นำเสนอการสร้างสรรค์ลายผ้าไทย เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และต่อยอดภูมิปัญญาสู่ความยั่งยืนสืบไป มาวันนี้จะบอกว่าโครงการดังกล่าวดำเนินผ่านไปเรียบร้อยแล้ว

 




โดยเมื่อวันก่อน นายชาย นครชัย อธิบดีกรมส่งเสริมวัฒนธรรม ให้เกียรติเป็นประธานในงานมอบรางวัลแก่ผู้ชนะการประกวดฯ จากประเภทต่างๆ ให้แก่ นางสาวเปมิกา เพียเฮียง เจ้าของผลงาน “โครมาโทกราฟี่” ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทสิ่งทอสร้างสรรค์, นางสาวสุพัฒตรา กล้าหาญ เจ้าของผลงานEfflorescence of Feminine (ความเปล่งปลั่งของหญิงสาว)  ได้รับรางวัลชนะเลิศ ประเภทผ้าฝ้าย และ นายประพนธ์ ชนะพล เจ้าของผลงาน “มนต์เสน่ห์สงขลา” คว้ารางวัลชมเชย ประเภทผ้าไหม ไปครอง โดยมีคณะกรรมการ อาทิ นายวิชระวิชญ์ อัครสันติสุข เจ้าของแบรนด์วิชระวิชญ์, นายธนันท์รัฐ ธนเสฏฐการย์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านผ้าไทย และ ผศ.ดร.อนุชา ทีรคานนท์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ฯลฯ ร่วมแสดงความยินดี

 

นายชาย นครชัย กล่าวว่า กระทรวงวัฒนธรรม โดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรม เปิดโอกาสให้นักออกแบบรุ่นใหม่และผู้ประกอบการได้สร้างสรรค์พัฒนาผ้าไทยให้ได้รับความนิยมในระดับสากล ส่งเสริมการต่อยอดผลิตภัณฑ์จากผ้าไทยและเครื่องนุ่งห่มตรงตามความต้องการของผู้บริโภคที่นำมาใช้งานได้จริงในชีวิตประจำวัน โดยผู้ประกอบการ และนักออกแบบรุ่นใหม่ ใช้แนวคิดหลัก “สังคมสรรค์สร้าง Social Creation” ซึ่งเป็นองค์ความรู้จากหนังสือแนวโน้มและทิศทางผ้าไทย และการออกแบบเครื่องแต่งกายด้วยผ้าไทย (Thai Texiles Trend Book Spring/Summer 2022) มาเป็นแนวทางในการสร้างสรรค์ผลงาน โดยรางวัลแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ ผ้าไหม ผ้าฝ้าย และสิ่งทอสร้างสรรค์ ซึ่งผลงานเหล่านี้ถือเป็นสิ่งหนึ่งที่จะส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชน จะเห็นว่าผ้าแต่ละผืนที่ออกมามีความสวย มีวิธีคิด มีการนำภูมิปัญญามาต่อยอดซึ่งถือเป็นก้าวแรก และคงไม่หยุดที่ก้าวนี้ แต่จะต้องก้าวต่อไปเพื่อให้วงการผ้าไทยไปสู่สากล และเป็นที่ยอมรับของทุกคนให้อยากใช้ผ้าไทยในชีวิตประจำวันมากขึ้น โดยนักออกแบบไทยถือว่าไม่ธรรมดา ทั้งมีชื่อเสียงและฝีมือระดับสากลมากมาย เพียงแต่ทำอย่างไรจึงจะสามารถมัดใจคนได้ ตรงนี้เป็นสิ่งที่พยายามผลักดันให้สำเร็จ

           


ทั้งนี้ นางสาวเปมิกา เพียเฮียง เจ้าของผลงานชื่อ โครมาโทกราฟี่ เผยถึงแนวคิดที่นำมาใช้ในการทำงานครั้งนี้ว่า ได้ดูสีจาก Thai Texiles Trend Book แล้วเราก็คิดว่าสีดำมันเข้าได้กับทุกลุค สามารถนำมาปรับใช้ได้ทุกช่วงวัย ทุกช่วงอายุคน ถ้าเป็นวัยรุ่นเขาก็นิยมสีดำ ส่วนผู้ใหญ่เขาก็มักใช้โทนสีดำเหมือนกัน สีดำสามารถเข้าได้กับทุก generation ซึ่งจุดเด่นที่ทำให้ชนะวันนี้ น่าจะเพราะเรื่องการเลือกใช้เส้นใยที่หลากหลาย แล้วเราก็มีการย้อมสีหลายเฉดสี อย่างสีดำ เราก็ไม่ได้ย้อมสีดำแค่เฉดเดียว แต่ว่าเรามีทั้งดำที่ออกน้ำตาล ดำที่ออกแดง ดำที่ออกน้ำเงิน แล้วเส้นใยต่างๆ ที่ใช้ ให้ตรงกับการประกวดในหัวข้อสิ่งทอสร้างสรรค์ ซึ่งประกอบด้วย เส้นไหมอีรี่ เส้นใยเปลือกไหม โดยเส้นไหมควบเป็นการที่เอาเส้นใยขนแกะที่นำมาจากแม่ฮ่องสอนผสมกับเส้นไหมหลืบ เป็นการสร้างเส้นใยขึ้นมาใหม่ ให้มีความแปลกตามากขึ้น แล้วในผ้าทอผืนนี้ก็มีเส้นใย ส่วนใหญ่นำมาใช้ในการทำงานเพื่อทำให้สิ่งที่ใช้งานแล้วกลับมาใช้งานได้ใหม่อีกรอบหนึ่ง

 


ด้าน นางสาวสุพัฒตรา กล้าหาญ เจ้าของผลงานชื่อ Efflorescence of Feminine  (ความเปล่งปลั่งของหญิงสาว เผยแรงบันดาลใจว่า มาจากแนวคิดเรื่องความเปล่งปลั่งของหญิงสาว ในตัวผ้าก็จะมีสีสันที่ค่อนข้างสดใส อย่างสีเหลือง สีคราม สีน้ำตาล สีแดง ซึ่งสีที่ได้มาก็คือย้อมจากธรรมชาติ แต่ว่าใช้เทคนิคการทอเป็นการมัดหมี่แล้วก็นำไปทอจนเกิดชิ้นงาน แนวคิดอีกอย่างก็ได้มาจากหนังสือ Thai Texiles Trend Book ซึ่งตนเองก็นำคอนเซ็ปต์ของสีมาใช้ ส่วนลวดลายเป็นลวดลายที่ดีไซน์ออกแบบจากกระบวนการทำงานที่มีความซับซ้อน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสี เทคนิคการทอ เรื่องสีจากการย้อมธรรมชาติ หรือเป็นการทอด้วยเทคนิคมัดหมี่

 


ปิดท้ายที่ นายประพนธ์ ชนะพล เจ้าของผลงานชื่อ มนต์เสน่ห์สงขลา สะท้อนแนวคิดในการสร้างสรรค์ผลงานว่า ปัจจุบันเราจะเห็นเทคนิคการทำผ้าแบบใหม่ๆ แต่เรามองย้อนกลับไปว่าเทคนิคเก่าๆ ผ้าโบราณที่คนสมัยก่อนเขาได้ทำ การย้อมสีธรรมชาติจากสียางกล้วย จากคราม จะเริ่มหมดไป จึงได้นำการย้อมแบบโบราณกลับมาใช้ใหม่ จุดเด่นของผลงานชิ้นนี้จึงมีความโบราณ มีความคลาสสิค การออกแบบผ้านั้นปกติจะเน้นการใช้ผ้าไหม ผ้าฝ้าย ก็คือเป็นผ้าธรรมชาติ และใช้สีธรรมชาติ โดยจะทำลายธรรมชาติให้น้อยที่สุด เพื่อตอบโจทย์คนที่ไม่นิยมใช้ผ้าที่ทำมาจากใยสังเคราะห์”

 


อย่างไรก็ตาม สำหรับกิจกรรมการประกวดออกแบบลายผ้าไทยสู่สากลเพื่อการต่อยอดและพัฒนา (Cultural Textile Awards 2021) ภายใต้ โครงการพัฒนามรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมผ้าไทยสู่สากล ประจำปี 2564 จะเป็นการนำทุนทางวัฒนธรรมเรื่องผ้าไทย มรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมมาต่อยอดสู่สากล สร้างคุณค่าทางจิตใจและมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น ระดับภูมิภาค และระดับชาติต่อไป

 

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์