วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2565

กิ่วลม-กิ่วคอหมา 2 เขื่อนใหญ่ลำปาง ที่ใครๆก็ชอบไปเที่ยว

 



 ช่วงนี้ฮิตไปเที่ยวเขื่อนกันมากๆ เลยพามาย้อนดูประวัติย่อของ 2 เขื่อนสำคัญใน จ.ลำปาง กัน

เขื่อนกิ่วลม เป็นเขื่อนในการดูแลของกรมชลประทาน ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองลำปางขึ้นไปทางทิศเหนือตามถนนพหลโยธิน ประมาณ 38 กิโลเมตรเศษ  กรมชลประทานสร้างเขื่อนเก็บกักน้ำกิ่วลมที่ตำบลบ้านแลง อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เพื่อเก็บกักน้ำบนแม่น้ำวัง และสามารถส่งให้ราษฎรทำการเพาะปลูกได้ตลอดปี เป็นการแก้ไขความเดือดร้อนเกี่ยวกับเรื่องน้ำเพื่อการเพาะปลูกของราษฎร  เขื่อนกิ่วลมเป็นเขื่อนเก็บน้ำแห่งแรกในภาคเหนือ และเริ่มเก็บน้ำได้ในปี 2515



ลักษณะเป็นเขื่อนเก็บกักน้ำคอนกรีตเสริมเหล็ก สูง 26.50 ม. ยาว 135 ม. มีช่องระบายกว้าง 13.00 ม. จำนวน 5 ช่อง ความจุ 106.22 ล้านลบ.ม. ปริมาณน้ำที่ระดับเก็บกักสูงสุด 112 ล้าน ลบ.ม.

ปัจจุบัน เขื่อนกิ่วลม มีปริมาณน้ำเก็บกัก 59.460 ล้าน ลบ.ม. (55.98%) ใช้การได้ 55.460 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลเข้า 0.334 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำ 0.125 ล้าน ลบ.ม. อยู่ในเกณฑ์ปกติ



ด้านการท่องเที่ยว เขื่อนกิ่วลมมีบริการล่องแพเที่ยวชมอ่างเก็บน้ำ ที่เรียกกันว่าเป็นกุ้ยหลินลำปางการล่องแพนั้นใช้เวลาอย่างน้อยครึ่งวัน โดยมีสถานที่น่าสนใจเช่น แหลมชาวเขื่อน ผาเกี๋ยงผางาม ทะเลสาบสบพุ หมู่บ้านชาวประมงบ้านสา ฯลฯ   ซึ่งมีแพให้บริการตลอดทั้งวัน สามารถสอบได้บริเวณสำนักงานโครงการกิ่วลม-กิ่วคอหมาฯ

 

เขื่อนกิ่วคอหมา เป็นเขื่อนในประเทศไทย เพื่อเก็บกักน้ำลุ่มแม่น้ำวัง ตั้งอยู่ที่ ตำบลปงดอน อำเภอแจ้ห่ม ลักษณะตัวเขื่อนเป็นเขื่อนดินสูง 43.5 เมตร ยาว 500 เมตร สันเขื่อนกว้าง 8 ม. สามารถกักเก็บน้ำได้  170 ล้าน ลบ.ม.ลำปาง  คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2546 อนุมัติให้เริ่มดำเนินการก่อสร้างโครงการกิ่วคอหมา วงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 3,670.05 ล้านบาท



สร้างขึ้นเพื่อเป็นแหล่งน้ำสำหรับการเกษตรกรรม ทั้งในฤดูฝนและฤดูแล้ง สำหรับโครงการแม่วังและกิ่วลมเดิม รวมทั้งขยายพื้นที่ส่งน้ำในเขตอำเภอแจ้ห่ม และพื้นที่กิ่วลมส่วนขยาย (กิ่วลม III) ด้านตะวันตกของน้ำแม่วัง เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 90,000ไร่  และใช้สำหรับอุปโภค-บริโภค ในเขตอำเภอแจ้ห่ม อำเภอเกาะคา และอำเภอเมือง จังหวัดลำปาง รวมทั้งส่งเสริมการประมงน้ำจืด โดยใช้อ่างเก็บน้ำฯเป็นแหล่งเพาะและขยายพันธุ์ปลา  ให้แก่ราษฎรในบริเวณเขตใกล้เคียง ที่สำคัญคือ ช่วยลดอุทกภัยบริเวณพื้นที่ด้านท้ายเขื่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตอำเภอเมืองลำปาง  น้ำส่วนหนึ่งสำรองใช้ในกิจกรรมของโรงไฟฟ้าแม่เมาะบางส่วน   และเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ของจังหวัดลำปางในอนาคต




ปัจจุบันเขื่อนกิ่วคอหมามีปริมาณน้ำเก็บกัก 97.035 ล้าน ลบ.ม. (56.98%) ใช้การได้ 91.035 ล้าน ลบ.ม. น้ำไหลเข้า 0.076 ล้าน ลบ.ม. ระบายน้ำ 0.000 ล้าน ลบ.ม.

ด้านการท่องเที่ยว เขื่อนกิ่วคอหมา ประชาชนสามารถเข้าไปเที่ยวถ่ายภาพวิวและบรรยากาศธรรมชาติสวยได้ แต่ยังไม่มีกิจกรรมการล่องแพ




Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์