วันศุกร์ที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2565

เที่ยว “พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย สาขาลำปาง” เรียนรู้ประวัติศาสตร์-เศรษฐกิจ “เขลางค์นคร”



ในขณะที่คนรุ่นใหม่กำลังให้ความสนใจกับเงินดิจิทัลอย่างท่วมท้น วันนี้อยากจะขอพาคุณผู้อ่านย้อนหลังกลับไปเที่ยวชมและศึกษาในสถานที่สำคัญทางด้านการเงินแห่งหนึ่งในจังหวัดลำปางนั่นคือ “พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย สาขาลำปาง”

 

289473757_336164152028726_6172224102816063000_n

เพราะภายใต้อาคารก่ออิฐถือปูน 2 ชั้น สถาปัตยกรรมโคโลเนียล ลักษณะเด่นคือมีมุขยื่นด้านหน้ารับด้วยเสาลอยและซุ้มโค้ง นอกจากจะมีความสำคัญในฐานะที่เป็นธนาคารแห่งแรกในจังหวัดลำปาง และเป็นธนาคารแบงค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด สาขาลำปาง (ปัจจุบันคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) สาขาที่ 3 ในประเทศไทย ต่อจากสาขาทุ่งสงและสาขาเชียงใหม่) แล้ว ผู้ที่เข้าไปเที่ยวชมยังจะได้รับทราบถึงเรื่องราวต่างๆ ที่น่าสนใจของผู้คนในยุค 80 ปีก่อนหน้านี้อีกด้วย

 

289241642_336164778695330_388499436192442818_n

289334760_336164242028717_6909703683312074104_n

ตามประวัติระบุว่า “บริษัท แบงค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด สาขาลำปาง” ก่อตั้งและเปิดทำการเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน ปี พ.ศ. 2473 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ก่อนหน้าการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 2 ปี โดยดำริของคณะกรรมการการธนาคารดังกล่าว มีพระยาไชยยศสมบัติ เป็นนายกกรรมการ ได้เล็งเห็นว่านครลำปางมีความเจริญรุ่งเรืองทางธุรกิจทั้งด้านการค้าและการป่าไม้ แต่ยังขาดแคลนเงินบาทและเงินเหรียญไทย ประชาชนต้องใช้เงินรูปีของพม่าซึ่งอยู่ใต้การปกครองของอังกฤษ ทำให้เกิดการเสียดุล จึงได้ก่อสร้างที่ทำการสาขานครลำปางขึ้นและได้ใช้เป็นที่ทำการมาโดยตลอด

 

289365413_336165048695303_3281674782631374003_n

อีกหนึ่งความพิเศษของธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง คือนับเป็นสาขาต่างจังหวัดที่เก่าแก่ที่สุดของบริษัท สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ที่ยังเหลืออยู่ เพราะ 2 สาขาแรกก่อนหน้า คือ สาขาทุ่งสง และสาขาเชียงใหม่ ใช้วิธีเช่าและย้ายไปสร้างสำนักงานแห่งใหม่ ขณะที่สาขาลำปาง เป็นสาขาที่ทางธนาคารได้จัดซื้อที่ดินเพื่อก่อสร้างเอง จึงยังสามารถรักษาอาคารสำนักงาน และเครื่องมืออุปกรณ์ตลอดจนร่องรอยการดำเนินธุรกรรมในต่างจังหวัดตกทอดมาถึงยุคนี้ได้ 

 

289377430_336164478695360_5039687397711505016_n

นอกจากนี้ยังเคยเป็นที่พักของอดีตผู้จัดการสาขา บางท่านเป็นบุคคลสำคัญที่เป็นที่รู้จักกันดี โดยเฉพาะ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ก็เคยพำนักที่นี่ระหว่างที่ท่านดำรงตำแหน่งผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง

289394386_336164545362020_9919878964895468_n

ในปี 2540 ธนาคารได้ก่อสร้างที่ทำการใหม่ในบริเวณด้านข้างของอาคาร ส่วนอาคารนี้ก็ได้ปรับเป็นพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย มีการจัดแสดงเกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเงิน การธนาคาร จำลองห้องทำการธนาคาร ห้องพักผู้จัดการในอดีต และโดยเฉพาะตัวอาคารเอง ก็เป็นอาคารประวัติศาสตร์เช่นกัน สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้คัดเลือกให้อาคารนี้เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2540

289398887_336164965361978_8776947316175315696_n


สำหรับ “พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย สาขาลำปาง” จัดทำขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์สถานอันเอื้อประโยชน์ในการเผยแพร่ความรู้ประวัติการก่อกำเนิดธนาคารตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และ ชั้นล่างได้จัดแสดงสิ่งของต่างๆ ที่ใช้ในธนาคารในยุคเริ่มก่อตั้ง อาทิ สมุดบัญชีเงินฝาก เคาน์เตอร์ธนาคาร และเครื่องพิมพ์บัญชี ชั้นบน เป็นห้องพักของ ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช สมัยเป็นผู้จัดการสาขาที่นี่

 

289400373_336164668695341_6013472516257464455_n

ตามข้อมูลของนิตยสารผู้จัดการ 360 องศา ซึ่งได้ทำการตีพิมพ์บทความเกี่ยวกับ “บริษัท แบงค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด สาขาลำปาง” ที่น่าสนใจระบุว่า...หากมองย้อนหลังกลับไปในยุคกว่า 80 ปีก่อน หัวเมืองต่างๆ ในภูมิภาคปัจจุบัน ก็คือชุมชนขนาดไม่ใหญ่มาก ส่วนมีขนาดเศรษฐกิจขนาดเล็กไม่คุ้มกับการออกไปตั้งสาขาในพื้นที่ 

289402147_336164275362047_8467470272501599871_n


ในยุคนั้นเป็นยุคปลายของขบวนการปฏิรูปการปกครอง กระชับอำนาจมาสู่ศูนย์กลาง (Centralization) ที่เริ่มต้นเมื่อประมาณปี พ.ศ.2440 ในสมัยรัชกาลที่ 5 อำนาจรัฐส่วนกลางจากกรุงเทพฯ ออกไปตั้งหน่วยงานและองค์กรในพื้นที่หัวเมืองต่างๆ ปรับเปลี่ยนรูปแบบและวิธีการทางการปกครอง การศึกษา ตลอดถึงระบบการเงินการคลังให้เป็นไปตามแบบแผนเดียวกัน

289408927_336164512028690_3000768009078370436_n


ทาง “รถไฟ” ถือเป็นเส้นทางคมนาคมหลักที่เป็นพลังหลักในกระบวนการเชื่อมโยงหัวเมืองกับอำนาจรัฐศูนย์กลางในยุคที่ถนนหนทาง หรือแม้แต่การเดินทางด้วยเรือยังล่าช้า ล้าสมัย จึงเป็นที่น่าสังเกตว่า เศรษฐกิจใหม่ในหัวเมืองจึงตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีทางรถไฟผ่าน หรือเป็นแหล่งชุมทางสำคัญ เช่นที่ทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นสาขาแห่งแรก เปิดเมื่อ พ.ศ.2463 เป็นชุมทางรถไฟ เป็นที่จอดพัก ซ่อมบำรุงของรถไฟในภาคใต้ ทางหนึ่งสามารถแยกไปตัวเมืองนครศรีธรรมราช อีกทางหนึ่งดิ่งลงไปถึงภาคใต้สุดเชื่อมโยงกับประเทศมาเลเซีย ทุ่งสง จึงเป็นแหล่งชุมทางการขนส่ง แร่ดีบุก เพื่อขนส่งไปถลุงที่เมืองปีนังต่อ

 

289451357_336164928695315_2852188020611295008_n


ขณะที่ทางรถไฟสายเหนือ ซึ่งแรกก่อสร้างมาหยุดอยู่ที่จังหวัดลำปาง นานกว่า 12 ปี เพราะต้องใช้เวลาก่อสร้างอุโมงค์ขุนตาล เริ่มตั้งแต่ปี พ.ศ.2450 แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2461 


ในระหว่างนั้น ทางรถไฟเป็นปัจจัยผลักดันให้ลำปาง ที่เดิมมีทำเลภูมิศาสตร์เป็นศูนย์กลางคมนาคมทางบกระหว่างหัวเมืองต่างๆ ในภาคเหนือตอนบนอยู่เดิมแล้ว กลายเป็นเมืองศูนย์กลางหลักของการคมนาคมเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ ไปโดยปริยาย

 

289452190_336164608695347_7827205600066487421_n


หน่วยงานสำคัญๆ ในระดับภาคที่จัดตั้งจากรัฐ อาทิ ศูนย์กลางการทหาร ศูนย์กลางตำรวจ รวมถึงหน่วยงานอื่นๆ ถูกตั้งขึ้นจังหวัดลำปางก่อนจังหวัดเชียงใหม่ และดำเนินการต่อเนื่องมาถึงประมาณปี 2535-2540 จึงย้ายไปสู่เชียงใหม่ อาทิ สำนักประชาสัมพันธ์เขต 3 (ภาคเหนือตอนบน) กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 หรือแม้แต่ ธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาภาคเหนือก็ถูกจัดตั้งขึ้นที่ลำปางก่อน เพิ่งย้ายไปอยู่เชียงใหม่ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้เอง

 

289460829_336164198695388_2213191187241346843_n


เอกสารของพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ระบุถึงเหตุผลการก่อตั้งธนาคารสาขาในเชียงใหม่ และลำปาง หลังสาขาแรกในภาคใต้ได้เปิดดำเนินการว่า

 
"...ต่อมาอีก 7 ปี เมื่อพิจารณาเห็นว่า ในภาคเหนือของประเทศ กิจการป่าไม้ที่ชาวอังกฤษดำเนินการอยู่มีกิจการอย่างอื่นที่ต่อเนื่องกัน เช่น โรงเลื่อยเป็นจำนวนมากจึงได้เปิดสาขาขึ้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และเมื่อพบว่ากิจการผลิตใบยาสูบ ซึ่งเกี่ยวข้องกับโรงบ่มเป็นจำนวนมากในภาคเหนือเป็นธุรกิจ ที่สำคัญ จึงพิจารณาเป็นสาขาขึ้นที่จังหวัดลำปาง ใน พ.ศ.2473 นับได้ว่า แบงก์สยามกัมมาจลได้นำระบบธนาคารสาขาเข้ามาใช้ในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ซึ่งนอกจากจะเอื้ออำนวยให้เศรษฐกิจการค้าในภูมิภาคมีแหล่งเงินทุนที่สำคัญขึ้นแล้ว ยังช่วยให้ประชาชนในภูมิภาคมีการใช้เงินตราของไทยกันกว้างขวางมากขึ้นกว่าแต่ก่อนอีกด้วย" 

289468535_336164815361993_9092469572161170335_n


ยุคนั้น พม่ายังเป็นส่วนหนึ่งของราชอาณาจักรอังกฤษ จึงปรากฏว่ามีแรงงานชาวพม่า-กะเหรี่ยง-ไทใหญ่ ที่เป็นแรงงานในกิจการทำไม้จำนวนมากอพยพมาอยู่ในลำปาง

 
และที่สำคัญที่สุด แม้รัฐไทยจะพยายามปฏิรูปการเศรษฐกิจการเงินการคลังมาต่อเนื่องตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 สืบเนื่องมาถึงก่อนยุคการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทว่าเงินบาทของไทยกลับยังไม่มีบทบาทในพื้นที่ภาคเหนือ 

289534243_336164438695364_8690840878816904774_n


ในยุคนั้น อันเป็นยุคที่ทางรถไฟเพิ่งจะเชื่อมไปถึงพื้นที่ภาคเหนือตอนบนยังเป็นพื้นที่ใกล้ชิดกับพม่า ดินแดนในปกครองอังกฤษ แถมยังมีกิจการทำไม้สักมาดำเนินกิจการอยู่ทั้ง 2 หัวเมืองหลัก กิจการของมิชชันนารีตะวันตก ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล เป็นกิจกรรมสมัยใหม่ที่มีบทบาทอย่างสูง

 
บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัดจึงต้องมีบทบาทสำคัญทำหน้าที่แทนรัฐบาลในการสถาปนาระบบการเงินยุคใหม่ให้เป็นระบบเดียวกัน ด้วยการกระตุ้นให้คนในพื้นที่หันมาใช้เงินบาทแทนเงินรูปี ซึ่งตะวันตกนำมาใช้ และมีอิทธิพลครอบคลุมภาคเหนือตอนบนทั้งภาค

 

289577178_336164705362004_8456350125977346921_n


เรื่องดังกล่าวมาจากปัจจัย 2 ด้านผนวกกัน ด้านแรกคือความเป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับอิทธิพลของอังกฤษและธุรกิจทำไม้ อีกปัจจัยหนึ่งคือ รัฐไทยเองไม่สามารถจะส่งเงินตราไทย กระจายเข้าไปในพื้นที่ได้อย่างกว้างขวางพอเพราะไม่มีกลไกดำเนินการ

 
เอกสารของพิพิธภัณฑ์ระบุว่าในยุคนั้น "เงิน 1 บาทแลกเป็นเหรียญไทยได้เพียง 95 สตางค์เท่านั้น"

289581671_336164575362017_4776276355816071778_n


บันทึกประวัติหลายชิ้นของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในฐานะคนไทยคนแรกที่ถูกส่งมาทำหน้าที่ผู้จัดการ บริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด สาขาลำปาง ในยุครอยต่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เป็นเวลานานถึง 8 ปี (2486) ระบุว่า หน้าที่หนึ่งในฐานะผู้จัดการสาขาทำก็คือ "หาทางให้คนไทยหันมาใช้เงินบาทไทยแทนเงินรูปีของพม่า ซึ่งเคยเป็นที่นิยมกันในหมู่คนไทยทางภาคเหนือ" ในอีกมุมหนึ่ง บทบาทหน้าที่ของบริษัท แบงก์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด ก็คือ การทำหน้าที่สร้างเสถียรภาพทางการเงิน เป็นประโยชน์โดยตรงต่อรัฐบาล

 

289586479_336164362028705_7366831661760279947_n


ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช มีความผูกพันกับจังหวัดลำปางมาก ผลงานหลายชิ้นของอดีตนายกรัฐมนตรีท่านนี้กล่าวถึงชีวิตและเกร็ดความรู้เกี่ยวข้องกับลำปางบ่อยครั้ง ได้สรุปความเป็นลำปางยุคนั้นว่า "ในลำปางมีพ่อเลี้ยงอยู่ 2 ประเภท คือ พ่อเลี้ยงค้าไม้ กับพ่อเลี้ยงค้าฝิ่น"

 
ในฐานะของผู้จัดการสาขา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์จึงต้องมีสัมพันธ์ที่ดีกับ "พ่อเลี้ยง" ต่างๆ ในการบริการธุรกรรมการเงินให้ ซึ่งบางครั้งต้องเดินทางร่วมไปกับชาวต่างประเทศที่กิจการทำไม้ในป่า นั่นจึงเป็นที่มาของการขอแบ่งซื้อที่ดินบนดอยขุนตาลจากชาวอังกฤษที่ได้สัมปทานทำไม้ หลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ในยุคนั้นยังไม่มีกฎหมายเกี่ยวกับป่าสงวนหรือเขตป่าของรัฐ จึงปรากฏว่าบ้านพักของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์บนยอด ย.-2 ดอยขุนตาล เป็นที่แปลงเดียวที่มีเอกสารสิทธิมาถึงบัดนี้

 

289719048_336164322028709_2500661439361625307_n


หลักฐานน่าสนใจที่ยังปรากฏในพิพิธภัณฑ์ธนาคารไทยพาณิชย์สาขาลำปาง อีกชิ้นหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงธุรกรรมการบริการการเงินให้กับลูกค้าผู้เป็น "พ่อเลี้ยงทำไม้" ก็คือ เอกสาร "สัญญาจำนองช้างเป็นประกัน" ซึ่งทางธนาคารได้เก็บรักษาไว้

 
เอกสารดังกล่าวคือหลักฐานประวัติศาสตร์เศรษฐกิจท้องถิ่นภาคเหนือที่น่าสนใจ เพราะช้างคือทรัพย์สินที่มีค่าในการประกอบการชักลากไม้ของท้องถิ่น แม้ในระบบการเงินท้องถิ่นดั้งเดิมก็มักจะมีการจำนองช้างเพื่อกู้ยืมเงินระหว่างบุคคลต่อบุคคลแล้ว เมื่อธนาคารพาณิชย์สมัยใหม่เข้ามาตั้งสาขาในพื้นที่ ก็เปิดให้บริการรับจำนองหลักทรัพย์ดังกล่าวด้วยเช่นเดียวกัน 

 

289748625_336164398695368_1095256253590238383_n

ด้วยความเป็นสำนักงานสาขาที่เก่าแก่ที่สุดที่เหลืออยู่ในภูมิภาค และเป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามประจำปี 2540 ปัจจุบัน พิพิธภัณฑ์อาคารไม้สักทองทั้งหลัง ก่อสร้างด้วยศิลปะผสมตามที่สมาคมสถาปนิกสยามฯ ระบุว่าเป็นอาคารรูปทรงอังกฤษ ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศของประเทศไทย


อาคารแห่งนี้จัดแบ่งพื้นที่ใช้สอยให้ชั้นล่างเป็นสำนักงานที่มีเคาน์เตอร์บริการ เครื่องมืออุปกรณ์ที่จำเป็น รวมถึงห้องมั่นคง (ตู้นิรภัย) ที่ออกแบบก่อสร้างอย่างหนาแน่นเท่าที่ยุคนั้นจะสามารถทำได้ ขณะที่ชั้นบนเป็นที่พักของผู้จัดการสาขาซึ่งปัจจุบันปรับปรุงเป็นพิพิธภัณฑ์ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ได้บรรจุอาคารแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวน่าสนใจของจังหวัดลำปางอีกแห่งหนึ่ง   

อย่างไรก็ตาม การเข้าชม “พิพิธภัณฑ์ธนาคารไทย สาขาลำปาง” สามารถเข้าชมเป็นหมู่คณะ โดยต้องทำบันทึกหนังสือแจ้งความประสงค์ขอเข้าชมแก่ผู้จัดการธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง ล่วงหน้าเท่านั้น สอบถามเพิ่มเติม ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาลำปาง โทร. 054-221454

289787004_336165012028640_5661567409593160490_n

กอบแก้ว แผนสท้าน..เรื่อง

ททท.สำนักงานลำปาง...ภาพ

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์