วันพฤหัสบดีที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2565

จัดพิธีจดทะเบียนสมรสนกกาฮัง ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน

 


องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมกับ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จัดพิธีจดทะเบียนสมรสนกกาฮัง ก่อนปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปาง หลังจากสูญหายไปจากผืนป่าภาคเหนือของประเทศไทย มานานกว่า 20 ปี                                                                   

วันที่ 27 ตุลาคม 2565 ที่ อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน - Chae Son National Park จังหวัดลำปาง นายจำลักษ์ กันเพ็ชร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย นายสักรินทร์ ปัญญาใจ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง  นายนพรัตน์ รักษ์ไพรสาณฑ์ นายอำเภอเมืองปาน   คณะผู้บริหารองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย หัวหน้าอุทยานแห่งชาติ-เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในพื้นที่ภาคเหนือ มูลนิธิศึกษาวิจัยนกเงือก นายเทวัญ จันทร์พรหม หัวหน้าอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน  องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น หัวหน้าหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน ผู้นำโรงเรียน ตัวแทนบริษัทเอกชน และชาวบ้านในจังหวัดลำปาง ร่วมงาน


พร้อมทั้งยังได้มีการจัดพิธีจดทะเบียนสมรส นกกาฮังคู่แรกของประเทศหรือของโลกก็เป็นได้ ท่ามลกางสักขีพยานจำนวนมากก่อนที่จะได้เดินทางไปยังจุดที่ตั้งกรงนกและได้ทำพิธีปล่อยคืนสู่ธรรมชาติทันที





นายอรรถพร ศรีเหรัญ ผู้อำนวยการองค์การส่วนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์การจัดงานครั้งนี้ สืบเนื่องจากองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย มีแผนการวิจัยในโครงการปล่อยนกกาฮัง สู่คืนสู่ธรรมชาติ ในเขตพื้นที่ป่าอนุรักษ์ภาคเหนือ ซึ่งในระยะแรกมีแผนการทดลองปล่อยนกกาฮัง ที่ได้รับการฟื้นฟูพฤติกรรมแล้ว 1 คู่ เข้าไปภายในพื้นที่อุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน เพื่อศึกษาการใช้พื้นที่เชิงนิเวศก่อน โดยได้เคลื่อนย้ายในพื้นที่แห่งนี้ตั้งแต่วันที่ 14  มิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา จำนวน 1 คู่ เข้าทำการฟื้นฟูพฤติกรรมต่อในกรงเตรียมปล่อย (กรง soft release) เพื่อสร้างความคุ้นชินกับสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ และได้รับพืชอาหารธรรมชาติ เพื่อศึกษาความหลากหลาย ทางพันธุกรรมของนกกาฮัง ในการเพาะเลี้ยง ประเมินพื้นที่อาศัย ที่เหมาะสม สำหรับการปล่อยนกกาฮัง คืนสู่ธรรมชาติ มีการติดตามการอยู่รอดในธรรมชาติ เพิ่มโอกาสในการฟื้นฟูประชากรขึ้นใหม่ เนื่องจากอยู่ในข่ายใกล้สูญพันธุ์ต่อจากนี้จะทำการประเมินความพร้อมทางด้านพฤติกรรมก่อนการปล่อย  และยังมีโครงการวิจัยที่ศึกษาติดตามในระยะยาวแบบ Long- term monitoring ตามหลักของ IUCN SSC และ AZA โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (สกสว.) จึงขอความร่วมมือประชาชน หน่วยงานทุกภาคส่วน ช่วยทำการประชาสัมพันธ์ในการอนุรักษ์นกกาฮัง (นกกก) ไว้ให้เป็นมรดกทางความหลากหลายทางชีวภาพไว้ให้กับลูกหลานชาวภาคเหนือทุกคนต่อไป




สำหรับนกกาฮัง หรือ นกกก เป็นนกขนาดใหญ่ จำพวกนกเงือก ชนิดที่ใหญ่ที่สุด มีความยาวลำตัวประมาณ 130 ถึง 150 เซนติเมตร ปีกสีดำพาดเหลือง ปลายปีกขาว ไม่มีขนปกคลุมใต้ปีก หางสีขาวพาดดำ ตัวผู้มีนัยน์ตาสีแดง ด้านหน้าโหนกที่อยู่บนปากมีสีดำ มีจะงอยปากที่ยาว ส่วนตัวเมียมีนัยน์ตาสีขาว ด้านหน้าโหนกไม่มีสี  มีถิ่นกำเนิดในอินเดียตะวันตกเฉียงใต้ ตลอดจนประเทศเมียนมา ไทย และ เกาะสุมาตรา อาศัยอยู่ตามป่าดิบชื้น ป่าดงดิบแล้ง และ ป่าดงดิบเขา ซึ่งมีต้นไม้สูง ๆ ในประเทศไทย เคยมีทั่วไปเกือบทุกภาคยกเว้นภาคกลาง และ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางส่วน และ เคยมีมาก ที่เกาะตะรุเตา แต่ปัจจุบันประชากร นกกาฮัง ลดน้อยลงไปมากจนใกล้สูญพันธุ์ จึงควรอนุรักษ์ไว้ เพื่อให้เป็นมรดกทางความหลากหลายทางชีวภาพ ไว้คงอยู่กับประเทศไทยต่อไป





Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์