วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2565

1ปี Mae Moh Smart City สร้างเมืองสู่ชุมชนเข้มแข็ง

แม่เมาะจะเป็นอย่างไร? ในวันที่ไม่มี กฟผ.

            เป็นคำถามที่ใครหลายคนอยากจะรู้คำตอบ ซึ่งทาง กฟผ.แม่เมาะ ได้วางแผนการดำเนินงานไว้ภายใต้ โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ หรือ Mae Moh Smart City    

            เนื่องจากกำลังผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.แม่เมาะ จะลดลงกว่าครึ่งในอีก 4 ปีข้างหน้า จะหยุดระบบลงทั้งหมดในปี 2593  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจการจ้างงานในพื้นที่ และกองทุนพัฒนาไฟฟ้าโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่จะลดลงเรื่อยๆ และหมดไป  

แม่เมาะเมืองน่าอยู่  จึงตั้งขึ้นมาเพื่อขับเคลื่อนโครงการส่งเสริมและพัฒนาพื้นที่อำเภอแม่เมาะให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว โดยเริ่มพัฒนาใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านการส่งเสริมสิ่งแวดล้อม (Smart Environment)  ด้านการส่งเสริมพลังงานสะอาด ( Smart Energy)  ด้านการส่งเสริมเศรษฐกิจ (Smart Economy)

·         ระยะเวลาผ่านไป 1 ปี แม่เมาะเมืองน่าอยู่ขับเคลื่อนไปอย่างไรบ้าง 

ลานนาโพสต์ได้มีโอกาสพูดคุยกับ  นางเกษศิรินทร์  แปงเสน  หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่   ถึงความคืบหน้าโครงการดังกล่าว   หัวหน้าโครงการฯ  เล่าให้ฟังว่า โครงการนี้ได้เริ่มต้นเมื่อต้นปี 65  จากการศึกษาบริบทของพื้นที่ และประเด็นปัญหาต่างๆของ อ.แม่เมาะ ส่วนใหญ่จะพบปัญหาหมอกควันไฟป่า ปัญหารายได้ที่มีแนวโน้มลดลง  ยิ่งถ้า กฟผ.ลดกำลังการผลิต การจ้างงานก็จะลดลง กระทบกับค่า GDP ของจังหวัดลำปาง รวมถึงลดจำนวนงบประมาณที่เข้าไปยังกองทุนพัฒนาไฟฟ้า  และจะหมดไปในปี 94 จึงทำโครงการขึ้นมาพัฒนาพื้นที่ อ.แม่เมาะให้อยู่ได้ด้วยตัวเอง ในวันที่ไม่มี กฟผ.  เมื่อทราบถึงประเด็นปัญหาแล้ว จึงนำมาทำเป็น   แผนปฏิบัติการเร่งด่วน (Quick Win) ในหลายโครงการด้วยกัน  และครอบคลุมการพัฒนาทั้ง 3 ด้าน




·         หนุนชาวบ้านผลิตชีวมวลอัดเม็ด 

ด้าน Smart Energy  นางเกษศิรินทร์ ได้ยกตัวอย่าง โครงการ  Biomass Co-firing  ตั้งแต่การรับซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลจากวิสาหกิจชุมชนตำบลจางเหนือ อ.แม่เมาะ  จำนวน 1,000 ตัน  เพื่อนำมาอัดเม็ดและเผาร่วมกับถ่านหินในโรงไฟฟ้า  เมื่อ กฟผ.ประสบความสำเร็จในการทดลองใช้ชีวมวลอัดเม็ดแล้ว  ก้าวต่อไปคือการต่อยอดไปยังชุมชนให้เป็นผู้ผลิตเอง  ในปีต่อไปจึงเตรียมการวางโมเดลขยายสู่ชุมชน  และเตรียมการรับซื้อจำนวนเชื้อเพลิงชีวมวลจำนวนมาก    ซึ่งในปีหน้าได้มีแผนการขอใบอนุญาตรับซื้อ  การขอเปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการโรงไฟฟ้าให้ถูกต้อง  การเพิ่มชนิดเชื้อเพลิง  เป็นต้น   



·         ขยายอาคารประหยัดพลังงาน

อีกโครงการคือ  Nearly  zero  building  การศึกษาอาคารประหยัดพลังงานใกล้เคียงศูนย์   ในหน่วยงานราชการที่ใช้ไฟฟ้าสูง  เพื่อจะทำการติดตั้งโซลาร์รูฟท็อป  และนำโครงการให้หน่วยงานไปเสนอของบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้า  ซึ่งแต่ละพื้นที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด 10 แห่ง ได้รับงบมาบริหารจัดการกว่า 10 ล้านบาท ทำให้หน่วยงานได้ประหยัดพลังงาน  รวมทั้งแม่เมาะยังมีพลังงานสะอาด  ในปีหน้ามีแผนจะขยายผลต่อไปอีก 10 หน่วยงาน  และขยายศึกษาขอบเขตไปเรื่อยๆ


·         จดทะเบียนรถไฟฟ้าดัดแปลง4 คันแรกของไทย

สำหรับที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ โครงการ EV conversion   รถไฟฟ้าดัดแปลง  ซึ่งทาง กฟผ.แม่เมาะ ได้ร่วมลงนาม MOU กับวิทยาลัยเทคนิค กฟผ.แม่เมาะ   มรท.ล้านนา และบริษัท WPEV จำกัด เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการดัดแปลงรถไฟฟ้า   โดยมีการจัดฝึกอบรมจริง จากรถที่ปลดระวางของ กฟผ.เป็นจักรยานยนต์  4 คัน รถตู้ 1 คัน และรถกระบะ 1 คัน  และ มีนักศึกษาจากวิทยาลัยเทคนิค กฟผ. และวิทยาลัยเทคนิคลำปาง เข้าร่วมการอบรม จำนวน 30 คน  ปัจจุบันได้ดัดแปลงรถไฟฟ้าจนเสร็จเรียบร้อย   ทำไปทดสอบการใช้งานได้จริง และจดทะเบียนกับสำนักงานขนส่งฯเป็นรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง 4 คันแรกของประเทศเลยก็ว่าได้   ส่วนรถตู้และรถกระบะก็ดัดแปลงเสร็จแล้วอยู่ระหว่างนำไปขอจดทะเบียน




นอกจากนี้ยังได้ขยายเครือข่ายไปยังวิทยาลัยเทคนิคอื่นๆ ที่มีหลักสูตรยานยนต์ไฟฟ้าดัดแปลง แต่ไม่มีอุปกรณ์ และรถยนต์ ที่ทำมาทดลองฝึกปฏิบัติได้จริง  เช่น แพร่ น่าน นครสวรรค์  พิษณุโลก เป็นต้น    ในฐานะที่ กฟผ.เป็นผู้ริเริ่มโครงการ จึงได้ประสานกับ  EEC  (โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) ซึ่งดูแลเรื่องยานยนต์ไฟฟ้า มีบริษัทที่อยู่ในเครือหลายแห่ง สามารถรับเด็กเข้าไปฝึกงาน และมีเงินเดือนให้ เมื่อจบมาก็สามารถรับเข้าทำงานได้เลย   โดยในอนาคต กฟผ.แม่เมาะจะพัฒนาเป็น HUB  ที่รวมเครือข่ายวิทยาลัยเทคนิคเข้าด้วยกัน  และจะเชื่อมโยงส่งต่อให้บริษัทฝึกงานต่างๆ   เพราะความต้องการของจำนวนบุคลากรที่จบทางด้านนี้หลายแสนคน  แต่ประเทศไทยยังคงมีอยู่เพียง 2,000 คนต่อปี  และภาคเหนือมีเพียง 100 กว่าคนเท่านั้น



·         เล็งติดตั้งโซลาร์ฟาร์ม 400ไร่

หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่  ได้เล่าถึงโปรเจ็คที่น่าสนใจอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ   การติดตั้งโซลาร์ฟาร์มบนพื้นที่ 400 ไร่ ในพื้นที่ อ.แม่เมาะ ซึ่งอยู่ระหว่างการศึกษาในพื้นที่  คาดว่าในปี 2568 จะเริ่มติดตั้งโซลาร์ฟาร์มนำร่อง 50 เมกะวัตต์ได้  และจะมีโครงการพัฒนาพื้นที่ใต้แผงโซลาร์ให้เกิดการใช้พื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ  คือการปลูกพืชสมุนไพร   หรือทำการเกษตรแนวตั้ง (Vertical Farm) รวมไปถึงการตั้งโรงไฟฟ้าขยะในพื้นที่เดียวกัน เพื่อเกิดการบริหารจัดการที่ครบวงจร 

ต่อเนื่องกันที่  Smart Economy หรือการส่งเสริมเศรษฐกิจในพื้นที่  ยกตัวอย่างโครงการทดลองการทำเกษตรแนวตั้ง  โดยนำเป็นเทคโนโลยีใหม่เข้ามาหรือที่เรียกว่า  Vertical Farm เป็นการปลูกผักออแกนิค 100% ใช้เวลาปลูกเพียง 1 เดือน เก็บเกี่ยวไปรับประทานได้เลย




·         นำร่อง Vertical Farm  ต.บ้านดง เพิ่มรายได้เดือนละแสน

นางเกษศิรินทร์   กล่าวว่า Vertical Farm  เป็นการปลูกผักแบบควบคุมทุกอย่างในระบบ  ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิ กระแสลม  การใช้น้ำระบบ รีเวอร์สออสโมซิส(RO)  แทบจะไม่มีการปนเปื้อนเลย   โดย กฟผ.ได้ร่วมกับบริษัทไดสตาร์เฟรช ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านเกษตรแนวตั้งระดับประเทศมาเป็นที่ปรึกษาให้ และในปีแรกจะมาช่วยเรื่องการตลาดให้ด้วย 

ผักที่ปลูกได้นี้จะมีความสะอาดมาก สามารถทานได้เลยโดยไม่ต้องล้าง รสชาติจะหวานกรอบ  ซึ่งจะต้องจองตามจำนวนหลุมปลูก  โดยตู้ทดลองของ กฟผ.ก็มีการจองเข้ามาเต็มหมดทุกเดือน  เมื่อผักโตก็จะนำใส่กล่องไปส่งให้ลูกค้าทานได้เลย   และจากการทดลองทำตู้สาธิต ได้รับเด็กจาก ต.บ้านดง มาฝึกปฏิบัติงาน เด็กกลุ่มนี้ก็จะไปต่อยอดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนและรับจ้างปลูกผักเหล่านี้ให้กับ ต.บ้านดงได้เลย   ในปีต่อไป  กฟผ.จะนำร่องทำ Vertical Farm  ที่ ต.บ้านดง เป็นแห่งแรก  จะส่งเสริมให้ชุมชนได้มีอาชีพ มีรายได้ประมาณ 1 แสนบาทต่อเดือนจากการขายผัก   สามารถนำเงินส่วนนี้ไปพัฒนาพื้นที่ต่อไปได้ 








·         ยกระดับงานวิ่งสู่มาตรฐานโลก

สำหรับโครงการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงกีฬา ก็คือ การจัดงานแม่เมาะฮาล์ฟมาราธอน ที่ยกระดับงานวิ่งสู่มาตรฐานสหพันธ์กรีฑาโลก (World  Athletics)  และจะจัดต่อยอดไปเรื่อยๆ เพื่อให้ได้รับมาตรฐาน  เมื่อถึงตอนนั้นสนามวิ่งของ กฟผ.แม่เมาะ จะเป็นแห่งแรกของภาคเหนือที่ได้รับรองมาตรฐานจากสหพันธ์กรีฑาโลก   นักวิ่งชาวต่างชาติ โดยเฉพาะชาวจีนที่มองหาสนามวิ่งที่มีมาตรฐานแบบนี้จำนวนมาก  ก็จะเข้ามายัง อ.แม่เมาะ เป็นการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในพื้นที่  ขณะเดียวกันก็ได้เชื่อมโยงสถานที่ท่องเที่ยวเชิงกีฬาที่จัดวิ่งเทรลกันเช่น ผาหอบ ผาก้าน  ปางป๋วย เป็นต้น    และยังมีเว็บไซด์ https://www.maemohtourism.com/  ประชาสัมพันธ์ที่กินที่เที่ยวทุกอย่างในพื้นที่ อ.แม่เมาะด้วย

อีกด้านที่มี กฟผ.แม่เมาะ ให้ความสำคัญอย่างมาก คือ การส่งเสริมสิ่งแวดล้อม  Smart Environment  ซึ่งมีการจัดโครงการและกิจกรรมหลากหลายด้วยกัน เพื่อส่งเสริมให้แม่เมาะเป็นเมืองคาร์บอนต่ำ



·         แม่เมาะต้นแบบแจ้งเตือนคุณภาพอากาศ

การทำ City Data Platform เป็นฐานข้อมูลเมือง โดยเริ่มจากการติดตั้งเซนเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศที่แม่เมาะ  ปัจจุบันมีสถานีตรวจวัดมาตรฐานของ กฟผ.อยู่ 4 สถานี และของกรมควบคุมมลพิษ 3 สถานี   แต่ กฟผ.ได้ทำการติดตั้งเซนเซอร์เพิ่มเติมกระจายทุกพื้นที่ของ อ.แม่เมาะ รวมไปถึง ต.บ้านเสด็จ อ.เมืองลำปาง เพื่อใช้เป็นข้อมูลพยากรณ์และแจ้งเตือนล่วงหน้าได้ 3 วัน  ช่วงหน้าแล้งในปี 66 นี้ จะสามารถใช้งานได้ 

“อ.แม่เมาะเป็นโมเดลต้นแบบ  ใช้ข้อมูลพยากรณ์คุณภาพอากาศนำมาบริหารจัดการเผา ว่าจะสามารถทำได้ช่วงไหนที่ไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชน”  

นอกจากเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศแล้ว จะมีการเก็บข้อมูลพื้นที่สีเขียว การบริหารจัดการน้ำ จัดการขยะ กลิ่นคาวแก๊ส เป็นฐานข้อมูลเมืองให้กับนักธุรกิจที่จะมาลงทุนในพื้นที่  รวมไปถึงหน่วยงานต่างๆนำไปใช้ประโยชน์ได้ 



·         ส่งเสริมคัดแยกขยะส่งขายและโรงไฟฟ้า

นอกจากนั้นได้ส่งเสริมให้ประชาชนศึกษาเรื่องการจัดการขยะ มีต้นแบบการคัดแยกขยะในบ้างพื้นที่ เมื่อรู้ปริมาณขยะแล้ว ก็จะนำมาคัดแยกเป็นขยะเปียกที่จะนำไปทำปุ๋ย  ส่วนขยะแห้งที่นำกลับมารีไซเคิลได้ก็จะเปิดเป็นธนาคารขยะบางส่วนเพื่อสร้างรายได้ให้ชุมชน   และอีกส่วนจะนำไปป้อนเข้าสู่โรงไฟฟ้าขยะ จะเป็นการแก้ปัญหาจัดการขยะแม่เมาะได้ทั้งหมด  จากเดิมที่ส่งไปเผาที่ศูนย์ขยะฯ ของ อบจ.ลำปาง  ก็จะนำมาส่งที่นี่แทนเพื่อประหยัดค่าน้ำมัน ค่าใช้จ่าย  ซึ่งจะเป็นการเชื่อมโยงกับอีก 2  Smart ที่ได้กล่าวมาข้างต้น   

นางเกษศิรินทร์  กล่าวว่า  ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาในการขับเคลื่อนโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่  ยืนยันได้ว่าเราทำได้มากกว่าที่ทำข้อเสนอกับ depa  ทำให้ กฟผ.แมเมาะได้เป็นต้นแบบไปนำเสนอผลงาน  ในงาน Thailand Smart City 2022 ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์   ให้กับทางหน่วยงาน และเทศบาลต่างๆที่กำลังจะพัฒนาเมืองเป็น  Smart City





ใน 1 ปี  กฟผ.ใช้งบประมาณไป 20 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นงบตั้งต้นในการจ้างที่ปรึกษา หาผู้เชี่ยวชาญ การศึกษางาน  การหาพาร์ทเนอร์ชิพจากทั้งหน่วยงานราชการ และเอกชน เข้ามาช่วยขับเคลื่อนโครงการ   ส่วนงบของชุมชนนั้น  กฟผ.จะเป็นเพียงคนจุดประกายให้กับชุมชน ซึ่งชุมชนต้องต่อยอดในการขอสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเข้ามาดำเนินการ   

"เป้าหมายของโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ กำหนดให้ดำเนินการไว้ 3 ปี  แต่ กฟผ.คงจะไม่หยุดไว้เท่านี้  เพราะเรามองไปถึงความยั่งยืนในอนาคต"  

 ในวันที่ไม่มี กฟผ. ชาวบ้านและชุมชนในพื้นที่จะต้องอยู่ได้อย่างเข้มแข็ง









 

 






Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์