วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2565

กฟผ.แม่เมาะ ผนึกกำลังภาคีเครือข่าย นำร่องสร้างป่าชุมชนต้นแบบ 20 แห่ง ส่งเสริมเห็ดป่าคืนถิ่น สร้างรายได้ สลายฝุ่นควัน อ.แม่เมาะ



โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ร่วมกับภาคีเครือข่าย เพิ่มศักยภาพชุมชน ส่งเสริมเห็ดป่าคืนถิ่น สู่ป่าชุมชนต้นแบบ อ.แม่เมาะ 20 แห่ง สร้างรายได้ สลายฝุ่นควัน ให้ชุมชนอยู่ร่วมป่าได้อย่างยั่งยืน
การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ โดยโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) จัดอบรม “เห็ดป่าคืนถิ่น เสริมป่า สร้างรายได้ สลายฝุ่นควัน เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” โดยมี นายพนมพร ตุ้ยกาศ นายอำเภอแม่เมาะ เป็นประธานกล่าวเปิดอบรม พร้อมด้วยนางเกษศิรินทร์ แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ ผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงาน กฟผ.แม่เมาะ นักวิชาการป่าไม้ชำนาญการ สำนักงานจัดการป่าชุมชน สำนักจัดการทรัพยากรป่าไม้ที่ 3 (ลำปาง) ประธานป่าชุมชน 20 แห่งใน อ.แม่เมาะ เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการ เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2565








ทั้งนี้ ดร.ดำรงค์ ปินทะนา ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมเห็ดป่าแม่โจ้ คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้ และ ดร. สุรีรัตน์ ลัคนาวิเชียร ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยป่าไม้และชุมชน คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เป็นวิทยากรถ่ายทอดองค์ความรู้กระบวนการเพาะและนำเชื้อเห็ดป่าคืนสู่ถิ่นระบบนิเวศอย่างถูกวิธี ตลอดจนความสำคัญในการอนุรักษ์เห็ดป่าเพื่อความสมบูรณ์ของป่าชุมชน ณ ป่าชุมชนบ้านเมาะหลวง (ภูเขาไฟจำป่าแดด) ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง






นางเกษศิรินทร์ แปงเสน หัวหน้าโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ กล่าวถึงความเป็นมาของโครงการเห็ดป่าคืนถิ่น เสริมป่า สร้างรายได้ สลายฝุ่นควันว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ใน อ.แม่เมาะ มีสภาพภูมิประเทศเป็นป่า ซึ่งการเผาป่าเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เห็ดป่าน้อยลง ตลอดจนไฟป่าจะทำลายไม้หนุ่มและกล้าไม้ขนาดเล็กไม่ให้เติบโตเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ได้ โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่เล็งเห็นความสำคัญในอนุรักษ์ป่าชุมชนให้เป็นแหล่งอาหาร และแหล่งสร้างรายได้ให้กับชุมชนในระยะยาว จึงจัดตั้งโครงการฯ นี้ขึ้นภายใต้แผนงานด้านสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้ชุมชน ขยายผลสู่การเป็นเครือข่ายป่าชุมชนที่มีความเข้มแข็ง บูรณาการรักษาและฟื้นฟูป่าให้สมบูรณ์ผ่านการเสริมสร้างองค์ความรู้และศักยภาพให้แก่ตัวแทนป่าชุมชน นำร่องทั้ง 20 แห่งของ อ.แม่เมาะ โดยเพิ่มทักษะการเพาะเห็ดป่า และนำเชื้อเห็ดป่ากลับคืนสู่ระบบนิเวศป่า

นอกจากนี้ ประธานป่าชุมชนที่เข้าร่วมการอบรม ได้รับมอบต้นยางนาที่ผสมเชื้อเห็ดป่า และขวดหัวเชื้อเห็ดป่ารวม อาทิ เห็ดเผาะ เห็ดหล่ม เห็ดแดง เห็ดตับเต่า เห็ดระโงก เพื่อนำไปขยายพันธุ์ในป่าชุมชนของตนเอง โดยนำองค์ความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติจริง ตลอดจนเผยแพร่ไปยังชุมชนและผู้ที่สนใจต่อไป






Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์