เมื่อเข้าสู่ยุคที่โลกประสบกับปัญหาวิกฤตพลังงาน
หลายประเทศได้มีการเตรียมแผนรับมือต่างๆ
ควบคู่กับการกำหนดมาตรการประหยัดพลังงานอย่างเข้มข้น รวมไปถึงประเทศไทย ที่ต้องเตรียมรับมืออย่างหนักหน่วง โดยคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ ได้เห็นชอบให้จัดหาก๊าซฯ
เพิ่มเติมจากทั้งแหล่งก๊าซฯ ในอ่าวไทยและพื้นที่พัฒนาร่วมไทยมาเลเซีย
รวมไปถึง เลื่อนแผนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 8 กำลังผลิต 300 เมกะวัตต์ ออกไปจนถึงสิ้นปี 2565 และให้โรงไฟฟ้าบางปะกงและโรงไฟฟ้าในภาคตะวันตกเปลี่ยนมาใช้เชื้อเพลิงน้ำมันดีเซลและน้ำมันเตาทดแทนก๊าซฯ ในการผลิตไฟฟ้า
จนกระทั่ง กฟผ. ได้เริ่มทำการศึกษาเชิงเทคนิค ถึงความเป็นไปได้ในการนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่หยุดเดินเครื่องไปแล้วกลับมาเดินเครื่องใหม่ตั้งแต่ต้นปี
2565 เนื่องจากสถานการณ์วิกฤตด้านพลังงาน
ที่ค่าเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้ามีราคาสูง และเชื้อเพลิงการผลิตในประเทศไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนงานตามนโยบายของกระทรวงพลังงาน
ที่จะช่วยบรรเทาผลกระทบต่อต้นทุนผลิตไฟฟ้า
จากการศึกษาพบว่า
โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 มีความเหมาะสมมากที่สุด โดยโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่
4 จะถูกเดินเครื่องผลิตในกรณีที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องอื่นๆ
ขัดข้องหรือหยุดเดินเครื่อง
และควบคุมกำลังการผลิตให้ไม่เกิน 2,455
เมกะวัตต์ (เท่ากำลังการผลิตปัจจุบัน)
ตลอดจนมีการทดสอบประสิทธิภาพการควบคุมด้านมลสารที่มั่นใจได้ว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดเช่นเดียวกับโรงอื่นๆ
ที่เดินเครื่องอยู่ในปัจจุบัน
ที่สำคัญคือ
จะช่วยลดผลกระทบด้านต้นทุนค่าไฟฟ้าต่อภาคประชาชนโดยตรง
ลดการพึ่งพาการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศ
ทั้งช่วยกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงเพื่อความมั่นคงในระบบไฟฟ้า
นอกจากนั้นยังทำให้เกิดการจ้างงานใน อ.แม่เมาะอย่างต่อเนื่อง
และรักษาสัดส่วนเงินนำเข้าของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ
โดยผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย
(กฟผ.) แม่เมาะ ได้ชี้แจงความสำคัญและที่มาการนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่
4 กลับมาเดินเครื่อง ให้แก่คณะกรรมการร่วมติดตามตรวจสอบการดำเนินงานและพัฒนาสิ่งแวดล้อม
ระดับอำเภอ ผู้บริหารท้องถิ่น และชาวบ้าน
44 หมู่บ้าน ทั้ง 5 ตำบล อ.แม่เมาะ
แผนงานได้เดินหน้าไปอย่างต่อเนื่องและราบรื่น
โดยวันที่ 9 ธ.ค.65 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน
(กกพ.) ไฟเขียวให้ กฟผ. เดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4
ภายใต้มาตรการ EHIA เสริมกำลังการผลิตช่วงโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องอื่นๆ
หยุดซ่อมบำรุง รองรับสถานการณ์วิกฤตราคาพลังงาน
ตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 65 ถือฤกษ์งามยามดีที่ กฟผ.แม่เมาะ นำโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 ที่ปลดออกจากระบบไฟฟ้ามาปรับปรุงสภาพให้สามารถกลับมาเดินเครื่องใหม่ เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้า ลดการนำเข้า LNG ช่วยเหลือภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน

นายประเสริฐศักดิ์
เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
เปิดเผยว่า กฟผ.
ได้ทดสอบการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 ทั้งระบบการผลิต
และระบบกำจัดมลสาร ให้มีประสิทธิภาพเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด
และไม่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดย กฟผ.จะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าภายใต้ EHIA
ที่ กกพ. อนุมัติ ซึ่งได้จ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่ระบบแล้วเมื่อวันที่
11 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา โดยมีกำหนดเดินเครื่องระหว่างเดือนธันวาคม 2565 -
ธันวาคม 2568 คิดเป็นค่าพลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้ประมาณ 1,643 ล้าน
ซึ่งจะช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติเหลวในตลาดจร
(Spot
LNG) จากต่างประเทศที่มีความผันผวนและมีราคาสูงลงได้ประมาณ 10,800
ล้านบาท เป็นการช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของประชาชนได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากนั้น
กฟผ. ได้ปรับการผลิตไฟฟ้า
โดยเลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 จากเดือนธันวาคม 2564
ออกไปจนถึงเดือนธันวาคม 2568 ซึ่งตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 ถึงเดือนธันวาคม 2565 ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงแล้วประมาณ
13,623 ล้านบาท
และปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงของโรงไฟฟ้าบางปะกงเป็นน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล
ซึ่งตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงเดือนกันยายน 2565
ช่วยลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลงแล้วประมาณ 2,378 ล้านบาท รวมถึงปรับแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็ก
(SPP)
เมื่อวิกฤตพลังงานยังไม่คลี่คลายในเวลาอันใกล้ กฟผ.ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ
ตามสโลแกนที่ว่า “ผลิตไฟฟ้าเพื่อความสุขคนไทย” จึงต้องลดความเสี่ยงการขาดแคลนพลังงาน
ตลอดจนลดการนำเข้าพลังงานราคาสูง เพื่อลดต้นทุนการผลิตและต้นทุนค่าไฟฟ้าของประชาชนให้ได้มากที่สุด และสิ่งที่ช่วยได้ประสบผลสำเร็จนั้น คือ ประชาชนต้องช่วยกันประหยัดพลังงาน เพื่อให้ประเทศอยู่รอดในวิกฤตพลังงานไปได้
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น