วันศุกร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ. 2566

ย้อนรอยประวัติศาสตร์ ภาพเขียนสีประตูผา



อย่างที่ทราบกันดีว่าจังหวัดลำปาง อุดมสมบูรณ์ไปด้วยแหล่งเรียนทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมต่างๆ ด้วยเหตุนี้ และตอกย้ำว่าที่กล่าวมาเป็นเรื่องที่ไม่เกินจริง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สำนักงานลำปาง ชี้เป้า “แหล่งภาพเขียนสีประตูผา" อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับ “ศาลเจ้าพ่อประตูผา”  โดยตามหลักฐานมีการยืนยันว่าในปี พ.ศ.2541 มีการขุดค้นศึกษาทางโบราณคดีและคัดลอกภาพเขียนสีพบโครงกระดูกมนุษย์กับวัตถุโบราณยืนยันว่าแหล่งโบราณคดีแห่งนี้ เป็นแหล่งฝังศพของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่สุดในภาคเหนือ สันนิษฐานได้ว่ามีอายุอยู่ในราว 4,0005,000 ปีมาแล้ว

 


ไฮไลท์ของ “แหล่งภาพเขียนสีประตูผา” คือการค้นพบภาพเขียนสีซึ่งกล่าวขานกันว่ายาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีอายุมากกว่า 3,000 ปี แบ่งได้ถึง 7 กลุ่ม ประกอบด้วย กลุ่มผาเลียงผา, กลุ่มผานกยูง, กลุ่มผาวัว, กลุ่มผาเต้นระบำ, กลุ่มผาหินตั้ง, กลุ่มผานางกางแขน และ กลุ่มผาล่าสัตว์และผากระจง โดยภาพส่วนใหญ่ยังปรากฏเห็นได้อย่างชัดเจนบริเวณหน้าผาถึง 1,872 ภาพ ทั้งหมดเป็นภาพเขียนสีแดงที่ใช้เทคนิคทั้งเป็นลายเส้นและการลงสีทึบ พบว่าเป็นภาพมือรูปแบบต่างๆ ที่มีทั้งมือซ้ายและมือขวามากที่สุด นอกจากนี้ก็มีภาพของคน สัตว์ พืช เครื่องมือเครื่องใช้  ภาพเหตุการณ์ รวมถึงภาพกราฟฟิกด้วย  อย่างไรก็ตามก็มีบางส่วนค่อนข้างลบเลือนไป ส่วนมากภาพที่เห็นจะเป็นภาพมือ คน สิ่งของเครื่องใช้ สัตว์พืช และภาพเชิงสัญลักษณ์ นอกจากนี้ยังมีการขุดพบหลุมศพโครงกระดูกมนุษย์โบราณ ภาชนะดินเผา ซึ่งปัจจุบันได้มีการปรับทางเดินเท้าให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นไปชมได้อย่างสะดวก

 



ทั้งนี้ “ประตูผา” คือ ช่องเขาที่มีแนวเขาหินปูนล้อมรอบแอ่งที่ราบเล็กๆ อยู่ในเขตเทือกเขาผีปันน้ำซึ่งกั้นระหว่างที่ราบแม่วังในจังหวัดลำปางและที่ราบเชียงราย-พะเยา “แอ่งประตูผา” มีสภาพอุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูกและเป็นที่รวมของธารน้ำเล็กๆ หลายสาย และสำหรับเพิงผาซึ่งมีภาพเขียนนั้น อยู่ในตำแหน่งที่สูงจากพื้นราบราว 40-50 เมตร นักท่องเที่ยวสามารถเดินขึ้นไปได้สบายๆ ลักษณะเป็นผาชะโงกเอียงเข้าด้านใน ดังนั้น พื้นผิวที่เขียนภาพและบริเวณพื้นดินซึ่งมีการฝังศพจึงเป็นสถานที่ปลอดภัยจากน้ำฝนและความชื้นได้ค่อนข้างดี ซึ่งจะมีผลอย่างมากต่อการรักษาสภาพของภาพเขียนส่วนใหญ่ และสภาพของอินทรีย์วัตถุในหลุมฝังศพที่ยังคงสภาพอยู่ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ในประเทศไทย เราแทบจะไม่เคยพบหลุมศพสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่ยังคงหลงเหลือหลักฐานจากพิธีกรรมการฝังศพได้มากขนาดนี้ เท่าที่เคยพบและนึกออกก็คงมีเพียงเมล็ดข้าว เมล็ดพืช เศษผ้าทอเล็กๆ น้อยๆ ติดอยู่กับเครื่องมือสำริดหรือเหล็กเท่านั้น

 



แหล่งโบราณคดี “แห่งภาพเขียนสีประตูผา” ปัจจุบันเป็นสถานที่ท่องเที่ยวทางประวัติศาสตร์วัฒนธรรมแห่งหนึ่งในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ดำเนินการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์โดยค่ายฝึกการรบพิเศษประตูผา (กองร้อยฝึกรบพิเศษที่ 3 (ร้อย.ฝรพ.3) กองทัพภาคที่ 3) ซึ่งเป็นมีการจัดนำเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในพื้นที่ค่ายและบริเวณใกล้เคียง (แหล่งโบราณคดีตั้งอยู่ภายในค่าย) จัดฝึกอบรมวิชาการเดินป่า แนะนำการดำรงชีวิตในป่า การไต่หน้าผาจำลอง การตั้งค่ายพักแรม การเดินชมทิวทัศน์บนยอดเขา และมีวิทยากรนำชมแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีค่ายประตูผา

 



และจากหน้าผาหินที่ถูกเรียกว่า “ประตูผา” ยังมีความสวยงามของหินงอกหินย้อยที่มีให้ชมอยู่บริเวณเหนือศีรษะ ขณะที่เดินชมภาพเขียนสีโบราณแห่งนี้ อีกทั้งตลอดระยะทาง 800 เมตร ที่เดินขึ้นไปนั้น ทางเจ้าหน้าที่ยังอำนวยความสะดวกสบายด้วยการสร้างขั้นบันไดคอนกรีต รวมถึงมีการจัดที่นั่งให้นักท่องเที่ยวได้ชมความสวยงามของป่าเขาอันอุดมสมบูรณ์อีกด้วย ในขณะเดียวกันระหว่าทางยังมีความสวยงามของหน้าผาหินให้ผู้ไปเยือนได้บันทึกภาพเก็บไว้เป็นที่ระลึก โดยเฉพาะตรงบริเวณจุดที่เรียกว่า “ผาหินตั้ง” ซึ่งจะมีหินขนาดใหญ่ตั้งเป็นแนวกันหน้าผาอันสวยงามถือเป็นอีกหนึ่งไฮไลท์

 



สำหรับนักท่องเที่ยวที่สนใจเข้าไปเที่ยวชมสามารถเดินทางจากตัวเมืองลำปาง ไปตามถนนพหลโยธิน หรือทางหลวงหมายเลข 1 (ลำปาง-งาว) ประมาณกิโลเมตรที่ 48 ถึงศาลเจ้าพ่อประตูผา เดินเลียบไปตามหน้าผาระยะทางประมาณ 300 เมตร จะพบกับภาพเขียนสีอยู่ทางขวามือ หรือติดต่อสอบถามเพิ่มเติม : ค่ายฝึกการรบพิเศษประตูผา โทร 054-247712, 054-225441

 

กอบแก้ว แผนสท้าน...เรื่อง

ททท.สำนักงานลำปาง...ภาพ

 

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์