วันที่ 9 ก.พ.66 สภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดลำปางเกิดฟ้าหลัวมีหมอกควันปกคลุมอย่างเห็นได้ชัด ท้องฟ้าเป็นสีขาวโพลนไม่สามารถมองเห็นยอดดอยพระบาทได้ ซึ่งจากการตรวจสอบค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กPM2.5 จากสถานีตรวจวัดกรมควบคุมมลพิษ ราย 24 ชั่วโมง ที่สถานีอุตุนิยมวิทยา ต.พระบาท อ.เมืองลำปาง วัดค่าได้ 83 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร สถานี ต.สบป้าด อ.แม่เมาะ วัดได้ 56 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และสถานี ต.บ้านดง อ.แม่เมาะวัดได้ 58 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ด้านสถานีตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบเรียลไทม์ เว็บไซด์ cmuccdc.org จากเครื่องวัดของ กพร 10 เครื่อง ที่กระจายอยู่ทุกอำเภอของ จ.ลำปาง ข้อมูล ณ เวลา 12.00 น. สำนักงานเทศบาลนครลำปาง ต.สบตุ๋ย วัดได้ 207 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทม.เขลางค์นคร ต.ชมพู 93 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ศูนย์บริการสาธารณสุขบ้านโทกหัวช้าง ต.พระบาท 205 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ศูนย์บริการสาธารณสุขบ้านกาด ต.ปงแสนทอง 289 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทต.ไหล่หิน อ.เกาะคา 284 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ว่าการอำเภอแจ้ห่ม 147 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ว่าการอำเภอเถิน 126 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ที่ว่าการอำเภอแม่พริก 143 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เทศบาลตำบลวังเหนือ 113 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร และอบต.ปงเตา อ.งาว 116 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
ขณะที่ค่าดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ Air Quality Index : AQI ที่รายงานผ่านเว็บไซด์ IQAIR ได้มีการรายงาน อันดับ AQI ตามเมือง 10 อันดับ ที่มีมลพิษมากที่สุดของไทยแบบเรียลไทม์ ของวันที่ 9 ก.พ.66 เวลา 12.00 น. พบว่า จ.ลำปาง ติดอันดับสูงสุด 3 อันดับแรกด้วยกัน คือ อ.เมืองลำปาง อยู่ที่ 232 อ.ห้างฉัตร 220 และ อ.แม่เมาะ 203 รองลงมาเป็น จังหวัดพะเยาจังหวัดลำพูน จังหวัดเชียงราย จังหวัดตาก จังหวัดน่าน และจังหวัดสุโขทัย ตามลำดับ
ทั้งนี้ วันที่ 8 ก.พ.ที่ผ่านมา จ.ลำปางได้เกิดไฟป่าขึ้นทั่วทั้งจังหวัด ซึ่งพบจุดความร้อนมากถึง 155 จุด มากที่สุดที่ อ.งาว 31 จุด รองลงมา อ.แจ้ห่ม 24 จุด อ.แม่เมาะ 20 จุด อ.สบปราบ 20 จุด อ.เกาะคา 16 จุด อ.แม่ทะ 14 จุด อ.วังเหนือ 8 จุด อ.เมืองลำปาง 6 จุด อ.เถิน อ.เสริมงาม อ.ห้างฉัตร พบแห่งละ 5 จุด อ.เมืองปาน 1 จุด และ อ.แม่พริก ไม่มีไฟไหม้
****หมายเหตุ***
สำหรับค่า AQI ใช้เป็นตัวแทนค่าความเข้มข้นของสารมลพิษทางอากาศ 6 ชนิด ได้แก่ ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) ฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) ก๊าซโอโซน (O3) ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2)
แบ่งเป็น 5 ระดับ คือ ตั้งแต่ 0 ถึง 201 ขึ้นไป ซึ่งแต่ละระดับจะใช้สีเป็นสัญญลักษณ์เปรียบเทียบระดับของผลกระทบต่อสุขภาพอนามัย AQI 0 – 25 สีฟ้า คือ คุณภาพอากาศดีมาก 26 – 50 สีเขียว คือ คุณภาพอากาศดี 51 – 100 สีเหลือง คือ ปานกลาง 101 – 200 สีส้มคือ เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ และ 201 ขึ้นไป สีแดง คือ มีผลกระทบต่อสุขภาพ ทุกคนควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งหลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น