วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2566

7 กุมภาพันธ์ 2566 ครบรอบ 38 ปี พิธีเปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เคียงข้างคนไทยท่ามกลางวิกฤตพลังงาน พร้อมก้าวสู่ยุคแห่งพลังงานสะอาด


ย้อนกลับไปเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2528 ถือเป็นวันอันทรงเกียรติของชาวแม่เมาะ ที่ได้ร่วมรับเสด็จพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมราชบพิตร พร้อมด้วยพระบรมวงศานุวงศ์ ในวโรกาสเสด็จพระราชดำเนินมาทรงประกอบพิธีเปิดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4-7 ซึ่งโรงไฟฟ้า ทั้ง 4 เครื่องได้ปลดระวางไปเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2562 โดยมีโรงไฟฟ้าพลังความร้อนแม่เมาะเครื่องที่ 14 หรือ MM-T14 ที่เป็นโรงไฟฟ้าเทคโนโลยีใหม่ มีประสิทธิภาพทั้งการผลิตและการควบคุมมลสารได้เท่ากับและดีกว่าโรงไฟฟ้าเดิมมารับช่วงต่อการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน ไปพร้อมๆ กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8-13


ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนในปี 2565 ทำให้เกิดความต้องการพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นประกอบกับเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากโรคระบาดส่งผลให้ราคาค่าเชื้อเพลิงไม่ว่าจะเป็น ก๊าซธรรมชาติ น้ำมัน หรือแม้กระทั่งถ่านหินนำเข้ามีมูลค่าสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ กฟผ. จึงต้องปรับแผนการผลิตไฟฟ้าเพื่อช่วยลดผลกระทบจากต้นทุนค่าไฟฟ้า ทำให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินต้นทุนต่ำเข้ามามีบทบาทสำคัญในการบรรเทาวิกฤตครั้งนี้ ทั้งการเลื่อนการปลดโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8-11 จากเดือนธันวาคม 2564 ออกไปจนถึงเดือนธันวาคม 2568 การนำโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 ขนาดกำลังผลิต 150 เมกะวัตต์ กลับมาผลิตไฟฟ้าเพื่อเป็นกำลังเสริมในช่วงที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องอื่นๆ ขัดข้องหรือหยุดเดินเครื่อง ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชนไปได้กว่า 24,000 ล้านบาท 


โรงไฟฟ้าแม่เมาะยังมีแผนระยะยาวในการสนองนโยบายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ของประเทศ ไปพร้อมๆกับการวางรากฐานความมั่นคงด้านพลังงานและความเป็นอยู่ที่ดีแก่ชุมชน อ.แม่เมาะ โดยดำเนินโครงการนำเศษวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นชีวมวลอัดแท่งเผาร่วมกับถ่านหินลิกไนต์ (Biomass Co-Firing Project) ปัจจุบันทดลองใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าที่โรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 12 และ13 ตลอดจนเตรียมศึกษาความเป็นไปได้ที่จะปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 8 เป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล และการจัดตั้งโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) ซึ่งเป็นศูนย์กลางการขับเคลื่อน อ.แม่เมาะ สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะทั้งด้านพลังงาน เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดยมีเป้าหมายให้ อ.แม่เมาะ มีการบริหารจัดการการใช้พลังงานอย่างคุ้มค่า ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียน ทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยว ยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน เสริมสร้างรายได้ชุมชน รวมถึงการพัฒนาด้านสาธารณูปโภคและความเป็นอยู่ขั้นพื้นฐาน ให้ชุมชนสามารถปรับตัวก้าวผ่านไปสู่การเป็นเมืองศูนย์กลางด้านพลังงานสะอาดของภาคเหนือได้ในอนาคต  


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์