วันพุธที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2566

ชาวบ้านถาม กฟผ.แม่เมาะ ถึงโครงการ "โซลาร์ฟาร์ม" พื้นที่มีมากมายทำไมต้องเอาป่าของชาวบ้านไปก่อสร้าง

 

ถกโครงการ "โซลาร์ฟาร์ม"  ชาวบ้านถาม กฟผ.มีพื้นที่มากมาย เหตุใดนำพื้นที่ป่าของชาวบ้านไปก่อสร้าง และขออนุญาตผ่านง่ายดาย ทั้งที่ชาวบ้านยังประสบปัญหาการเพิกถอนพื้นที่ป่า  ลั่นโครงการเกิดเร็วเกินไปชาวบ้านยังรับรู้ไม่ทั่วถึง

          เวทีการรับฟังความคิดเห็นฯ โครงการโซลาร์ฟาร์มแม่เมาะ  ที่จัดขึ้นที่วิทยาลัยเทคนิค กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.66 ที่ผ่านมา   โดยมีขอบเขตการศึกษารายงาน ESA ในรัศมี 3 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 2 ตำบล ได้แก่ ต.แม่เมาะ 5 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านห้วยเป็ดหมู่ 1, บ้านหางฮุงหมู่ 3, บ้านแม่เมาะสถานีหมู่ 4 บ้านปงชัยหมู่ 5 และบ้านห้วยดึง หมู่ 6   ต.สบป้าด 3 หมู่บ้าน ประกอบด้วย บ้านสบป้าดหมู่ 1, บ้านสวนป่าแม่จาง หมู่ 3, บ้านสบเมาะหมู่ 4  มีชาวบ้านเข้าร่วมรับฟังประมาณ 300 คน   และมีตัวแทนชาวบ้านได้ร่วมแสดงความคิดเห็น 8 คนด้วยกัน ซึ่งต่างมีความกังวลในหลายประเด็น      


เอนก แก้วกำพล 

นายเอนก แก้วกำพล  นายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ  กล่าวว่า  โครงการนี้เป็นโครงการใหม่ขับเคลื่อนความเจริญเติบโตของชาวแม่เมาะ  แต่สิ่งที่น่าห่วงระหว่างการก่อสร้าง ก็คือ เรื่อง เสียง ฝุ่น ระบบนิเวศ และการจราจร   รวมถึงกรณีกองทุนที่จะนำมาพัฒนาชุมชนหลังจากมีรายได้แล้ว  จึงฝากผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้พิจารณานำกองทุนมาใช้อย่างถูกต้องที่สุด สำหรับชุมชนที่ได้รับผลกระทบ 2 ตำบล 8 หมู่บ้าน  สิ่งที่น่าเป็นห่วงอีกอย่างคือ พื้นที่การเกษตรรอบข้าง ปลูกพืชผักต่างๆ เกรงว่าจะมีความร้อนแฝง เกิดความไวต่อแสง พืชจะไม่เจริญเติบโตไปตามระบบนิเวศ  ขอฝากให้ดูแลในเรื่องนี้ด้วย

จรัสศรี  พันธ์ศรีนวล  

ขณะที่ นางจรัสศรี  พันธ์ศรีนวล  ชาวบ้าน หมู่ 4 ต.สบป้าด กล่าวว่า ขอถาม กฟผ.ว่าพื้นที่มีมากมายทำไมไม่ทำ  ทำไมต้องนำป่าชุมชนที่เป็นแหล่งอาหารของชาวบ้านที่เหลือน้อยเต็มทีมาก่อสร้าง  ด้านสิ่งแวดล้อมได้รบผลกระทบมามากแล้ว คนแม่เมาะเสียสละมามากแล้วชาวบ้านได้รับอะไรดีๆจาก กฟผ.บ้าง   ที่ผ่านมาข้อมูลความคิดเห็นที่ผ่านเวทีประชาคมหลายเวทีได้รับความแก้ไขจาก กฟผ.หรือไม่ ชาวบ้านก็ไม่เคยได้รับคำตอบ  เวทีนี้เป็นเพียงพิธีกรรมเท่านั้น  ขอความจริงใจเพื่อแก้ปัญหาที่ชาวบ้านในเสนอในเวทีหลายๆด้านด้วย

วิวัฒน์ ปินตา

นายวิวัฒน์ ปินตา สมาชิกสภาเทศบาลตำบลแม่เมาะ เขต 2   กล่าวว่า   3 หมู่บ้าน ต.แม่เมาะ  หมู่ 1  หมู่ 3 และหมู่ 4 ที่จะได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างโซลาร์ฟาร์ม  ซึ่งประชาชนใช้ประโยชน์จากป่าผืนนี้ทำมาหากินมายาวนาน  เมื่อมาสร้างโซลาร์ฟาร์มแล้ว กฟผ.ได้ประโยชน์กิจการทำเหมือง แล้วชาวบ้านในพื้นที่ได้อะไร  พื้นที่มีมากมายทำไมจึงไม่นำร่องในพื้นที่ของ กฟผ.ก่อน เพื่อสร้างความเข้าใจกับชาวบ้าน


ศรีทน เปี้ยสืบ

นายศรีทน เปี้ยสืบ ราษฎรบ้านเวียงหงส์ล้านนา  กล่าวว่า ตนได้รับอพยพจาก กฟผ.เมื่อปี 51  อยากจะสะท้อนสิ่งที่ได้พบเห็นในการดำเนินการโครงการต่างๆ  รวมทั้งการอพยพยังมีอะไรคาใจอีกหลายประการ สิ่งที่ กฟผ.ทิ้งไว้คือชาวบ้านไม่ได้รับเอกสารสิทธิ์  พื้นที่บ้านเดิมยังไม่ได้รับการแก้ไข  ในฐานะที่เกิดบ้าน หมู่ 3 ต.แม่เมาะ  รู้ดีว่าพื้นที่ป่าที่จะนำไปสร้างโซลาร์เป็นแหล่งทำกินของชาวบ้านมาก่อน  เพราะฉะนั้นมองว่าการสร้างโซลาร์ฟาร์มเร็วเกินไป ชาวบ้านยังไม่ทราบอย่างทั่วถึง ขาดการประชาสัมพันธ์ เชื่อว่าชาวบ้านใกล้เคียงยังรับรู้น้อย  อยากให้รอบคอบกว่านี้ มองเห็นประชาชนพื้นที่โดยรอบให้มากกว่านี้




นายวุฒิชัย ปกแก้ว ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านใหม่มงคล หมู่ 10 ต.แม่เมาะ  เผยว่า อยากทราบเรื่องการใช้พื้นที่ เพราะมีสิ่งติดอยู่ในใจคือ ประชาชนยังคงประสบปัญหาเรื่องพื้นที่ของตัวเองติดเป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  เช่น บ้านเวียงหงส์ บ้านฉลองราช ก็ยังไม่สามารถยกเลิกพื้นที่ป่าได้  ทำไม กฟผ.ที่สามารถยกเลิกพื้นที่ป่าได้ และขอใช้พื้นที่ป่าได้โดยง่ายดาย  ขอให้ กฟผ.ให้คำตอบเรื่องนี่ด้วย

นายสท้าน มาสืบ ประธาน สภา ทต.แม่เมาะ  กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับโครงการโซลาร์ฟาร์ม เพราะพลังงานสะอาดเป็นสิ่งสำคัญ แต่เมื่อมีข้อดีในการปฏิบัติต่างๆก็มีข้อผิดเพี้ยน   ผิดตั้งแต่ข้อตกลงที่ผ่านมา เนื่องจากการขอใช้พื้นที่ผ่าน ทต.แม่เมาะ ปี 2559 มีการตกลงกันว่า จะรักษาป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร  การเดินท่อส่งน้ำจากอ่างแม่ขามส่งประชาชนใน ต.แม่เมาะ  และ กฟผ.จะให้บริการช่วยเหลือขอใช้พื้นที่ในป่าสงวนฯ พ.ศ.2484    



นอกจากนี้จากข้อตกลงที่เสนอในสภา ทต.แม่เมาะ สภาขอลงพื้นที่ดูพื้นที่ว่าจะสร้างพลังงานทดแทนอยู่ตรงไหน  ในครั้งนั้นผู้บริหาร กฟผ.ได้พาไปดูพื้นที่เหนืออ่างเก็บน้ำแม่ขาม  แต่ตอนนี้ทำไมจึงมาทำลายป่าอีกพื้นที่หนึ่ง เป็นการผิดข้อตกลงกัน  ทำให้สูญเสียทรัพยากรธรรมชาติ   และสิ่งที่อาจเป็นผลกระทบก็คือ แสงสะท้อนจากแผงโซลาร์อาจกระทบกับสิ่งแวดล้อมต่างๆ จะมีการแก้ไขอย่างไร   ขอชะลอการก่อสร้างให้ กฟผ.ทบทวนแก้ปัญหาให้เสร็จและนำมาเสนอให้กับชาวบ้านอีกครั้ง

นายสมมติ หารือ  ชาวบ้านห้วยคิง หมู่ 6  การจะสร้างอะไรต้องคำนึงถึงชาวบ้านด้วย ดูแลความปลอดภัยการใช้ถนนของชาวบ้าน  ขอสงวนดินมูลทรายหรือลีโอนาไดท์ หรือฮิวมัส ให้เฉพาะวิสาหกิจชุมชนแม่เมาะ   


และนายชินภัทร วงเปี้ย ราษฎรบ้านใหม่นาแขม ม. 7  ได้กล่าวสนับสนุนการสร้างโซลาร์ฟาร์ม  แต่อยากให้ทาง กฟผ.มองเห็นความปลอดภัยทางถนน  ทุกวันนี้เกิดอุบัติเหตุตลอด  โดยเฉพาะทางแยกบ้านเมาะหลวงทางเข้าบ้านทุ่งกล้วย   การรับฟังความคิดเห็นหลายเวทีที่ผ่านมาก็มีการพูดคุยเรื่องนี้แต่ยังไม่มีการปรับปรุง   เรื่องกล้องวงจรปิดอยากให้มีการติดตั้งแต่ละแยกให้ชัดเจนและทันสมัย   ด้านการส่งเสริมอาชีพ อยากให้ทำเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อสร้างความมั่นใจกับชาวบ้าน



ขณะที่นางแสงจันทร์ มูลซาว ผู้ใหญ่บ้าน บ้านห้วยคิง ม.6 ต.แม่เมาะ ได้นำผู้ใหญ่บ้าน บ.ห้วยเป็ด ม.1 บ้านหางฮุง ม.3  บ.เมาะสถานี ม.4 ต.แม่เมาะ จ.ลำปาง พร้อมตัวแทนชาวบ้านทั้ง 4 หมู่บ้าน  เข้ายื่นหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พลังงานจังหวัดลำปาง กฟผ.แม่เมาะ นายอำเภอแม่เมาะ และตัวแทนบริษัทที่ปรึกษาโครงการนี้ ให้ติดตั้งท่อส่งน้ำดิบที่จะใช้ใน โครงการโซลาร์ฟาร์มแม่เมาะ ขึ้นด้วยตัวเอง ไม่ขอให้ใช้ท่อส่งน้ำดิบที่ทาง กฟผ.ส่งมาให้หมู่บ้านเหล่านี้ได้ใช้อุปโภคบริโภค เพราะจะส่งผลกระทบเรื่องการขาดแคลนน้ำอย่างแน่นอนเพราะปัจจุบันการใช้น้ำก็ไม่เพียงพออยู่แล้ว หากโครงการฯมาร่วมใช้น้ำจากท่อที่ส่งให้ชาวบ้านอีกจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอนจึงอยากให้ส่วนที่เกี่ยวข้องต่อท่อส่งน้ำดิบเข้าโครงการโซลาร์ฟาร์มแม่เมาะ อีกแห่งหนึ่ง

ทั้งนี้ ประชาชนในพื้นที่รัศมีโดยรอบโครงการฯ สามารถแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติม ได้จนถึงวันที่ 17 กรกฎาคม 2566 ผ่านช่องทางต่าง ๆ อาทิ กล่องรับฟังความคิดเห็นภายในสำนักงานเทศบาลตำบลแม่เมาะ ที่ทำการองค์การบริหาร       ส่วนตำบลสบป้าด และที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 1,3,4,5 และ 6 ตำบลแม่เมาะ หมู่ที่ 1,3 และ 4 ตำบลสบป้าด ช่องทางโทรศัพท์ 02 101 1272 หรือ 06 1418 0822 และอีเมล [email protected] เป็นต้น



สำหรับโครงการ Solar Farm แม่เมาะ ใช้พื้นที่ประมาณ 490 ไร่  บริเวณบ้านหางฮุง ต.แม่เมาะ เป็นจุดติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ กำหนดเริ่มก่อสร้างตามแผนภายในปี 2557 และเริ่มผลิต กระแสไฟฟ้าได้ในปี 2558 นำร่องจ่ายกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในกิจการเหมืองแม่เมาะ โดยมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาไฟฟ้าเพื่อพัฒนาด้านสาธารณสุข การศึกษา เศรษฐกิจชุมชน สิ่งแวดล้อม สาธารณูปโภค พลังงานชุมชนและอื่นๆ

ซึ่งระหว่างก่อสร้าง จะนำส่งเงินเข้ากองทุนที่ 50,000 บาท/เมกะวัตต์/ปี ในปีแรกของการก่อสร้างจะส่งเงินนำเข้ากองทุนจำนวน 2,500,000 บาท  ภายหลังจ่ายไฟเข้าระบบจะนำส่งเงินเข้ากองทุนปีละประมาณ 653,680 บาท นอกจากนั้น โครงการดังกล่าวยังเป็นแหล่งสร้างงานสร้างอาชีพให้กับคนในชุมชน ในการดูแลจัดการพื้นที่ โครงการอีกด้วย



Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์