วันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2566

สัตวแพทย์เผยผลตรวจ “พลายศักดิ์สุรินทร์” ปลอด 6 โรคติดต่ออันตรายในช้าง รอผลตรวจครั้งสุดท้ายก่อนจะย้ายไปรักษาที่ รพ.ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย

 



เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2566 เวลา 9.30 น.  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้แถลง ความคืบหน้าเกี่ยวกับสุขภาพ "ช้างพลายศักดิ์สุรินท์และแนวทางการรักษา" หลังจากเดินทางกลับมาจากประเทศศรีลังกา และกักตัวเฝ้าระวังโรค อยู่ที่ศูนย์วิจัยและควบคุมเฝ้าระวังโรคสถาบันคชบาลแห่งชาติในพระอุปถัมภ์ฯ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง

นายประสิทธิ์ เกิดโต รองผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้  กล่าวว่า ตั้งแต่ที่พลายศักดิ์สุรินทร์ได้ลงจากเครื่องบินเมื่อวันที่ 2 ก.ค.66 ที่ผ่านมา ได้เดินทางเข้ากักโรคที่ อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง จนถึงปัจจุบันได้มีการกักโรคครบแล้ว 1 เดือน 7 วัน  หลังจากเดินทางถึงสถานที่กักโรค ได้มีการตรวจเลือดเพื่อหาไข่พยาธิที่อาจจะมาจากประเทศศรีลังกา เป็นการตรวจไข่พยาธิในอุจาระ  พยาธิในเลือด พยาธิทางเดินอาหาร  วัณโรค แท้งติดต่อ และฉี่หนู  โรคปากและเท้าเปื่อยและเฮาร์ปีสไวรัส  ซึ่งผลการตรวจเลือดทั้ง  2 ครั้งไม่พบ  รวมทั้งค่าโลหิตวิทยาและชีวเคมีในเลือดปกติ  อยู่ระหว่างการตรวจเลือดในครั้งที่ 3 เมื่อทราบผลแล้วต้องแจ้งให้ทรางกรมปศุสัตว์ทราบ เพื่อสั่งย้ายพลายศักดิ์สุรินทร์ได้   เมื่อย้ายเข้ารักษาที่ รพ.ช้าง ศูนย์อนุรักษ์ช้างไทยฯ  จะทำการวินิจฉัยโรคที่มีอย่างละเอียด เช่น ขาซ้าย  ต้อที่ตาข้างขวา  

          ด้านชีวิตความเป็นอยู่ตอนนี้พลายศักดิ์สุรินทร์อ้วนขึ้น กินอาหารและน้ำได้ดีขับถ่ายปกติ ล้มตัวลงนอนได้ เริ่มคุ้นชินกับควาญช้าง 3 คน ของไทย ควาญช้างขึ้นขี่ช้างได้   โดยระหว่างนี้ได้ฝึกให้ช้างเดินขึ้นรถ ซึ่งสามารถทำได้อย่างดี  ช้างค่อนข้างคุ้นเคยอยู่แล้ว   




น.สพ.ดร.ทวีโภค  อังควานิช หัวหน้าฝ่ายอนุรักษ์ช้าง สถาบันคชบาลแห่งชาติ ในพระอุปถัมภ์ฯ  กล่าวว่า  การดูแลรักษาช้างในช่วงการกักโรค สัตวแพทย์ตรวจพบอาการความเจ็บป่วย ได้แก่ ตาขวา คล้ายเป็นต้อกระจก  ส่วนขาหน้าซ้าย มีอาการเหยียดตึง เกร็งผิดรูป  โดยใช้เชิญหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน จากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น จุฬาฯ  เกษตรศาสตร์ฯ  มหิดล  มช. ฯลฯ มาร่วมตรวจรักษาด้วย 

การตรวจสุขภาพของช้าง  5 ข้อที่ให้ความสำคัญคือ  

1.อาการขาหน้าซ้ายที่เหยียดเกร็ง จะต้องทำการวิเคราะห์การเดินเพื่อตรวจสอบหามัดกล้ามเนื้อที่มีปัญหา โดยจะมีการฉายรังสีเอ็กซเรย์ ตรวจด้วยคลื่นความถี่สูง อัลตราซาวด์  ใช้เครื่องวัดอุณหภูมิหาการอักเสบปวดบวม เป็นต้น   

2.อาการของตาด้านขวา อาจจะเป็นต้อกระจก ยังไม่ทราบระดับความรุนแรง เนื่องจากไม่สามารถเข้าใกล้ได้ เบื้องต้นให้ควาญช้างฝึกใช้มือพยายามลูบที่ตาขวาเพื่อให้ช้างคุ้นเคย เมื่อนำเข้ารักษาที่ รพ. จะสามารถใช้อุปกรณ์หรือเครื่องอัลตราซาวด์วินิจฉัยระดับความเสียหาย เพื่อวางแผนให้ทำการรักษาได้

3.การตรวจอื่นๆ ที่ต้องติดตาม เช่น  พบโปรตีนในปัสสาวะ การทำงานของไต การวัดระดับฮอร์โมนความเครียด  การตรวจวัดหัวใจ  จะทำได้ก็ต่อเมื่อได้ย้ายไปที่ รพ.ช้าง

4. ความเครียดของช้าง  ซึ่งพลายศักดิ์สุรินทร์ค่อนข้างที่จะปรับตัวได้ดี เปิดรับควาญทั้ง 3 คน  โดยใช้เวลาไม่นาน ซึ่งปกติแล้วช้างจะทำความคุ้นเคยไม่น้อยกว่า 3-6 เดือน 

5.สุดท้ายคือ ดูแลสุขภาพจิตของช้าง ถ้าศักดิ์สุรินทร์ต้องอยู่กับเรา ต้องอยู่อย่างมีความสุข อยู่ในพื้นที่ป่าธรรมชาติ มีช้างเชือกอื่นๆที่พร้อมจะเป็นเพื่อนในวันข้างหน้าได้  

ทั้งนี้ รองผู้อำนวยการองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ กล่าวย้ำว่า พลายศักดิ์สุรินทร์  เป็นช้างที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ร.10 รับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์  ยืนยันว่าไม่มีการรับบริจาคช่วยเหลือพลายศักดิ์สุรินทร์ใดๆทั้งสิ้น  ฝากถึงประชาชนให้ระมัดระวังกลุ่มมิจฉาชีพที่มาขอรับบริจาคด้วย




Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์