วันพุธที่ 6 กันยายน พ.ศ. 2566

กฟผ.แม่เมาะ ชูแนวคิดการปรับใช้เชื้อเพลิงชีวมวลร่วมกับถ่านหินในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อลดปัญหาหมอกควัน ในงานเสวนา รวมพลังสังคมไทย แก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน อย่างยั่งยืน




ผู้บริหารโรงไฟฟ้าแม่เมาะร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตหมอกควันไฟป่าในงานรวมพลังสังคมไทย แก้ไขปัญหา ไฟป่าหมอกควัน อย่างยั่นยืน โดยนำเสนอแนวทางการจัดการชีวมวลเหลือใช้จากภาคการเกษตรของชุมชนแม่เมาะเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน และผลการศึกษาการปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะเพื่อรองรับเชื้อเพลิงชีวมวลในอนาคต 



เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2566 ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จังหวัดเชียงใหม่ นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 พร้อมด้วยคณะผู้บริหารโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ร่วมงานกิจกรรมรวมพลังสังคมไทย แก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน อย่างยั่งยืน ภายใต้ชื่อ “ตื่น ฟื้น คืน ชีวิตสัมพันธ์” ภายในงานมีการประชุมสรุปผลการดำเนินงานของศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาไฟป่าหมอกควันและฝุ่นละออง ภาค 3 ประจำปี 2566  และการเสวนาแลกเปลี่ยนแนวคิดเพื่อการแก้ไขปัญหาวิกฤตหมอกควัน ไฟป่า เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และคุณภาพชีวิตของประชาชน รวมไปถึงการจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับการจัดการวัชพืชทางการเกษตร จากชุมชนต้นแบบที่ประสบผลสำเร็จในการจัดการเศษวัชพืช  โดย กฟผ.แม่เมาะ นำกิจกรรมปลูกป่า สร้างฝายชะลอน้ำ และงานทดลองการนำเชื้อเพลิงชีวมวลอัดแท่งมาเผาไหม้ร่วมกับถ่านหินลิกไนต์(Biomass Co-Firing) มาร่วมจัดแสดง โดยมี พล.ท.สุริยะ เอี่ยมสุโร แม่ทัพภาคที่ 3 นายพิชิต สมบัติมาก รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วยผู้ว่าราชการจังหวัด หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง 17 จังหวัดภาคเหนือ เข้าร่วมประชุมและเยี่ยมชมนิทรรศการ 



นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 ได้กล่าวถึงแนวทางการจัดการ  ชีวมวลเหลือใช้ในการเกษตรของชุมชนแม่เมาะเพื่อนำมาเป็นเชื้อเพลิงพลังงาน และแผนการปรับปรุงโรงไฟฟ้าแม่เมาะให้รองรับเชื้อเพลิงชีวมวล ตลอดจนการเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนของชุมชนว่า   ภายหลังจากที่รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานได้มาตรวจเยี่ยมและได้มอบโจทย์ให้โรงไฟฟ้าแม่เมาะช่วยลดปัญหาหมอกควันไฟป่า ทำให้ในปี 2565 โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้ทดลองสร้างโรงงานรับซื้อชีวมวลและนำมาอัดเป็นเม็ด (pellet) ทดลองนำไปผสมกับถ่านหินลิกไนต์ในการเผาไหม้ในสัดส่วน 2 % โดยโรงไฟฟ้าไม่จำเป็นต้องปรับปรุงอุปกรณ์ในการเผาไหม้ ซึ่งจำนวน 2 % คิดเป็นเชื้อเพลิงชีวมวลที่ต้องการต่อปีที่ 200,000 ตัน หากเป็นโรงไฟฟ้าชีวมวล 1 โรงผลิต 300 เมกกะวัตต์ จะใช้เชื้อเพลิงที่ 1.3  ล้านตันต่อปี ทั้งหมดเป็นตัวเลขที่ได้จากการคำนวณค่าความร้อนเทียบกับถ่านหินลิกไนต์ หลังจากที่ได้รับนโยบายได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ โดยคณะแรกจะศึกษาในเรื่องศักยภาพของเชื้อเพลิงในภาคเหนือ คณะที่สองศึกษาการปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้สามารถรองรับเชื้อเพลิงที่เป็นชีวมวลได้ 100 %  และ คณะที่สามศึกษาเกี่ยวกับใบอนุญาตขั้นตอนต่างๆ รวมไปถึงงบประมาณ และการลงทุน เป็นต้น โดยข้อมูลเหล่านี้จะนำเสนอต่อกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่กำกับดูแล กฟผ. จากการศึกษาเบื้องต้นพบว่า ราคาเชื้อเพลิงชีวมวลมีราคาที่สูงกว่าถ่านหินลิกไนต์ถึง  3 เท่า นั่นหมายความว่าหากมีการใช้เชื้อเพลิงชีวมวลจริงอาจส่งผลกระทบกับค่าไฟฟ้าของประเทศ แต่การแลกมาด้วยการลดฝุ่นควันไฟป่า อาจต้องยอมจ่ายเพื่อแลกกับการลดฝุ่นควันไฟป่า โดยขณะนี้ได้เปลี่ยนหัวข้อการศึกษาเป็นการศึกษาการเผาไหม้ชีวมวลร่วมกับถ่านหินลิกไนต์  (Co-Firing) โดยจะเพิ่มปริมาณการเผาไหม้เชื้อเพลิงชีวมวลจากเดิมที่ศึกษาไว้ที่ 2% เป็น 15 % 



หากการศึกษาดังกล่าวได้ผลลัพธ์ที่ดี กฟผ.จะนำข้อมูลเสนอต่อหน่วยงานที่กำกับดูแลและหากได้รับความเห็นชอบ กฟผ.พร้อมดำเนินการปรับปรุงโรงไฟฟ้ารวมถึงมีการรับซื้อเชื้อเพลิงชีวมวล ปัจจุบัน  กฟผ.แม่เมาะ มีการรับซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลจากชุมชนโดยรอบอำเภอแม่เมาะ 5 ตำบล และมีการส่งเสริมให้แต่ละตำบลมีโรงงานที่สามารถผลิต pellet เพื่อมาส่งให้ กฟผ.แม่เมาะ  และหากการศึกษาการเผาไหม้ชีวมวล 15 % ได้รับการอนุมัติจะต้องใช้เชื้อเพลิงมากกว่านี้ กฟผ.แม่เมาะอาจมีการขยายการรับซื้อเชื้อเพลิงชีวมวลจากภาคเหนือตอนบน หรือทั่วทั้งภาคเหนือก็เป็นได้


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์