เปิดเวทีรับฟังความเห็นประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท จ.ลำปาง ชาวบ้านยันข้อมูลแผนที่ไม่ชัดเจน ขาดส่วนร่วม หวั่นผลกระทบวิถีชีวิต พร้อมยื่นจี้ ‘เศรษฐา’ แก้นโยบายป่าไม้มรดก คสช.
4 ก.ย. 2566 สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.ลำปาง สมาชิกขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) ร่วมสะท้อนผลกระทบประกาศอุทยานแห่งชาติทับที่ชุมชนในเวทีรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียจากการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ณ ห้องประชุมที่ว่าการอำเภองาว จ.ลำปาง โดยชาวบ้านต่างยังไม่ยินยอมให้ประกาศอุทยานฯ ดังกล่าวเนื่องจากยังไม่มีความชัดเจนในแนวเขตว่าทับซ้อนกับชุมชนหรือไม่ รวมทั้งกระบวนการประชาสัมพันธ์ก่อนเปิดเวทีดังกล่าวก็ไม่ทั่วถึง อาจขัดกับหลักการมีส่วนร่วม
เวลา 08.30 น. สกน. จ.ลำปาง ประมาณ 300 คน ได้ตั้งขบวนหน้าปั๊ม ปตท. อ.งาว และเดินเท้าประมาณ 800 ม. มายังหน้าห้องประชุมที่ว่าการอำเภองาว และปราศรัยประมาณ 30 นาที ก่อนจะเดินเข้าห้องประชุมและร่วมสะท้อนความเห็นต่อการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
พีระเมศร์ ตื้อตันสกุล ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ลำปาง ชี้แจงว่าการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทนั้นเป็นไปตามนโยบายป่าไม้แห่งชาติ และ แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ที่กำหนดให้ประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่า 40 เปอร์เซ็นต์ โดยเป็นป่าอนุรักษ์ 25 เปอร์เซ็นต์ และ ป่าเศรษฐกิจ 15 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งอุทยานแห่งขาติถ้ำผาไทนั้นอยู่ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 25 เปอร์เซ็นต์นั้น
“ประเทศไทยนั้นมีเรื่องน้ำแล้ง น้ำหลาก ก็ต้องมีพื้นที่ป่าอุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศกลับมาเหมือนเก่า เราต้องดูในภาพรวม อยากให้พี่น้องเข้าใจว่าทุกอย่างมันเป็นไปตามนโยบาย เราจึงต้องมาคุยกันว่าจะอยู่ร่วมกันอย่างไรให้สมดุลและยั่งยืน” ผอ.สำนักฯ กล่าว
สมพงษ์ ยาง ชาวปกาเกอะญอบ้านขวัญคีรีนอก หมู่ที่ 11 ต.บ้านร้อง อ.งาว จ.ลำปาง กล่าวถึงความไม่ชอบธรรมจากการจัดเวทีรับฟังความเห็นครั้งนี้ว่า มีผู้นำหลายชุมชนไม่ได้มาเข้าร่วม แต่เป็นปัญหาที่การประสานงานของอุทยานฯ หรือไม่ และหากประกาศไปโดยไม่มีส่งนร่วมจะสร้างผลกระทบต่อชุมชน
“ถ้าประกาศอุทยานฯ ไปแล้วมันจะเป็นการตัดสิทธิของคนอยู่กับป่า อย่ามามีอคติกับชุมชน ที่บอกว่าจะมีการส่งเสริมและมีผลประโยชน์กับชุมชน นี่ขนาดตอนนี้ผมอยู่ป่าสงวนฯ ยังไม่ได้รับสิทธิเลย แล้วถ้าอยู่อุทยานฯ เราจะได้ได้ยังไง” สมพงษ์กล่าว
หลังจากนั้นชาวบ้านจากชุมชนอื่นๆ ก็ได้ร่วมสะท้อนความกังวล โดยเป็นความกังวลต่อกระบวนการสำรวจแนวเขตการประกาศอุทยานฯ ที่ไม่มีความชัดเจน ทับซ้อนกับชุมชน ความกังวลต่อข้อจำกัดทางกฎหมายในด้านการทำกิน เก็บหาของป่า เลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ป่า การพัฒนาสาธารณูปโภค และกระบวนการมีส่วนร่วมที่ไม่ใช่การมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
นอกจากนั้นยังพบว่าชาวบ้านไม่พอใจต่อหลักการและเหตุผลในเอกสารประกอบรับฟังความเห็น ที่ปรากฏมีอคติต่อชุมชนในเขตป่า อาทิ การกล่าวหาว่าชาวบ้านค้าไม้ บุกรุกป่า และทำให้เกิดไฟป่า โดยชุมชนต่างร่วมกันยืนยันว่าชาวบ้านอยู่กับป่ามาก่อน และต่อสู้กับการทำสัมปทานป่าไม้ ฟื้นฟูป่าจนอุดมสมบูรณ์ โดยเรียกร้องให้อุทยานฯ ขอโทษชาวบ้านในประเด็นนี้
ธนากร สิงห์เชื้อ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท (เตรียมการ) ได้ขอโทษชาวบ้านในประเด็นดังกล่าว
เมื่อชาวบ้านขอให้ชี้แจงแนวเขตแผนที่แต่ชุมชน โดยให้พิมพ์เอกสารรายละเอียดให้ทุกบุมชนที่เกี่ยวข้อง แต่หน่วยงานชี้แจงกลับว่าข้อมูลการสำรวจแผนที่นั้นยังต้องกลับไปทำต่อ ซึ่งทำให้ชาวบ้านยืนยันว่า ยังไม่สามารถรับฟังความเห็นได้ เนื่องจากข้อมูลการสำรวจแนวเขตและกระบวนการในระดับพื้นที่ยังไม่ชัดเจนเป็นที่ยุติ
สกน. ลำปางยื่น ‘เศรษฐา-พล.ต.อ.พัชรวาท’ เร่งแก้ปัญหาป่าทับคน
ในช่วงท้ายของเวทีปรากฏว่าไร้ข้อยุติ ชาวบ้านยืนยันไม่ลงทะเบียนเข้าร่วมรับฟังความเห็น และยืนยันให้กลับไปทำความเข้าใจกับทุกชุมชนก่อน และยื่นหนังสือถึง เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี, พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และยื่นถึงผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 ลำปาง โดยมีข้อเรียกร้อง ได้แก่
1. ดำเนินการสำรวจข้อมูลการใช้ประโยชน์ที่ดินร่วมกับชุมชนให้เป็นที่ยุติร่วมกัน และกันแนวเขตที่ดินเดิมของชุมชนออกจากพื้นที่เตรียมการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท
2. กำกับดูแลหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในระดับพื้นที่ โดยเฉพาะหน่วยงานภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มิให้ดำเนินการใดๆ อันเป็นการกระทบต่อสิทธิมนุษยชน ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ละเมิดสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และวิถีวัฒนธรรมของชุมชน ไม่ข่มขู่ คุกคาม และผลิตซ้ำอคติทางชาติพันธุ์และอคติต่อคนอยู่กับป่า
3. เร่งปรับแก้กฎหมายด้านการจัดการป่าไม้ให้รับรองหลักสิทธิชุมชนท้องถิ่นตามรัฐธรรมนูญ และให้เร่งบรรจุแนวทางการบริหารจัดการที่ดิน ป่าไม้ รูปแบบสิทธิชุมชน โฉนดชุมชน ในนโยบายของรัฐบาล ให้เป็นไปตามปฏิญญาสากลที่ประเทศไทยได้ลงนามไว้ โดยเฉพาะปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง นายกรัฐมนตรีควรแถลงขอโทษต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยต่อกรณีการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยต้องแถลงต่อสาธารณะ
4. เร่งผลักดันกฎหมายส่งเสริมและคุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมือง ที่มีแนวทางตามมติคณะรัฐมนตรี วันที่ 3 ส.ค. 2553 ว่าด้วยแนวนโยบายและหลักปฏิบัติในการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยง
5. นายกรัฐมนตรีควรแถลงขอโทษต่อกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองในประเทศไทยต่อกรณีการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่ละเมิดต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยต้องแถลงต่อสาธารณะ
แถลงเรียกร้องสังคมจับตาประกาศอุทยานฯ ถ้ำผาไท
หลังยื่นหนังสือ สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.ลำปาง ได้อ่านแถลงการณ์ ระบุว่า พวกเราคือผู้คนในผืนป่า ชุมชนชาติพันธุ์-ชนเผ่าพื้นเมือง ที่เป็นแนวหน้าในการดูแลและจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้สมบูรณ์ เป็นผู้ฟื้นฟูผืนป่าจากการที่รัฐเปิดสัมปทานไม้ให้นายทุนมารุมทึ้งทำลายหลายทศวรรษ จนสามารถฟื้นกลับมาอุดมสมบูรณ์ เราได้ลงแรง ลงใจในการจัดการไฟป่า แต่กลับถูกกล่าวหาด้วยอคติว่าเป็นผู้ทำลาย แม้เราจะพิสูจน์ให้ภาครัฐและสังคมได้เห็นมาแล้วหลายชั่วอายุคนว่าวิถีวัฒนธรรมของเราคือสิ่งสำคัญที่ทำให้ผืนป่าอยู่ได้มาถึงปัจจุบัน
วันนี้ ณ ที่ว่าการอำเภองาว จ.ลำปาง พวกเราสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.ลำปาง ได้มาเข้าร่วมกระบวนการรับฟังความเห็นในฐานะผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท เพื่อส่งเสียงข้อเรียกร้องของเราต่อหน่วยงานรัฐภายใต้สังกัดของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้หยุดละเมิดสิทธิมนุษยชน หยุดลิดรอนสิทธิของคนอยู่กับป่า หยุดเพิกเฉยต่อปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิชนเผ่าพื้นเมือง และรูปธรรมการตอบรับข้อเรียกร้องเหล่านี้ที่ชัดเจนที่สุด คือการกันแนวเขตพื้นที่ชุมขนทั้งหมดออกก่อนประกาศเป็นอุทยานแห่งชาติ ซึ่งเราเรียกร้องมาแล้วหลายยุคสมัย
เราจึงขอส่งเสียงไปถึงสังคมไทย โปรดจับตาเวทีการรับฟังความเห็นประกาศอุทยานแห่งชาติถ้ำผาไท อันจะเป็นภาพสะท้อนว่าทิศทางการจัดการที่-ป่าไม้ทั้งประเทศจะล้มเหลว สร้างผลกระทบ ข้อพิพาทความขัดแย้งเช่นเดิมหรือไม่ และร่วมกันยืนยันข้อเรียกร้องว่า อย่าเอาบ้านเราไปประกาศอุทยานฯ ขอเรียกร้องให้ทุกภาคส่วนช่วยกันส่งเสียงให้เร่งแก้นโยบายป่าไม้-ที่ดินเผด็จการที่ไม่เห็นหัวคนอยู่กับป่า และผลักดันกฎหมายคุ้มครองสิทธิกลุ่มชาติพันธุ์และชนเผ่าพื้นเมืองโดยเร็วที่สุด
และขอจงร่วมกันเปล่งเสียงเรียกร้องให้ดังก้องทั่วสังคม ว่ารัฐจะต้องกันแนวเขตบ้านเราออกทั้งหมดก่อนประกาศอุทยานฯ จึงจะเป็นเวทีรับฟังความเห็นและการเปิดมีส่วนร่วมที่แท้จริง และหากภายหลังภาครัฐยังไม่สนอง เรายืนยันจะเคลื่อนไหวเรียกร้องอย่างถึงที่สุดหลังจากนี้
พชร คำชำนาญ
ที่มา เพจมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น