วันจันทร์ที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2566

รู้จัก 'ไอกรน' อาการคล้ายหวัด แต่รุนแรงถึงชีวิต ป้องกันได้แค่ฉีดวัคซีน

 


โรคไอกรน

เป็นโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Bordetella Pertussis ทำให้มีการอักเสบของเยื่อบุทางเดินหายใจ ส่วนใหญ่พบการติดเชื้อในเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี โดยโรคไอกรนในเด็กทารกและเด็กเล็กจะมีความรุนแรงมากถึงขั้นเสียชีวิตได้ ซึ่งติดต่อได้ง่ายจากการไอ จาม สัมผัสกับสารคัดหลั่งและเครื่องใช้ของผู้ป่วย

อาการ

อาการของโรคจะแสดงหลังจากรับเชื้อเฉลี่ย 7-10 วัน นานสุด 20 วัน ผู้ป่วยจะมีไข้ต่ำ ๆ มีน้ำมูก และไอต่อเนื่องประมาณ 1 สัปดาห์

จากนั้นจะเริ่มแสดงอาการสำคัญของโรคคือ ไอเป็นชุด ๆ ถี่ ๆ ติดกัน 5-10 ครั้ง หรือมากกว่านั้น ตามด้วยการหายใจเข้าอย่างแรงจนเกิดเสียงวู้บ ตาแดง มีน้ำมูก และเด็กเล็กอาจหายใจไม่ทันจนหน้าเขียวได้ ทั้งนี้อาการดังกล่าวอาจเป็นเรื้อรังนาน 2-3 เดือน

หากพบผู้ป่วยโรคไอกรน ควรแยกผู้ป่วยเพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อย ๆ โดยเฉพาะเด็กเล็กที่ยังฉีดวัคซีนไม่ครบ เพราะการติดเชื้อไอกรนในเด็กส่วนใหญ่จะได้รับเชื้อจากผู้ใหญ่ และอาการอาจรุนแรงจนเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิต

ในผู้สัมผัสโรคควรสังเกตว่ามีอาการไอหรือไม่ ติดตามอาการอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ส่วนเด็กที่สัมผัสโรคใกล้ชิดควรไปรับคำปรึกษาจากแพทย์ แม้จะได้รับวัคซีนป้องกันครบแล้วก็ตาม

การป้องกัน

การป้องกันที่ดีที่สุดสำหรับโรคไอกรนคือการฉีควัคซีน ผู้ปกครองต้องพาบุตรหลานที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี ไปรับวัคซีนให้ครบตามเกณฑ์ที่กำหนด คือ

-ครั้งที่ 1 อายุ 2 เดือน

-ครั้งที่ 2 อายุ 4 เดือน

-ครั้งที่ 3 อายุ 6 เดือน

-ครั้งที่ 4 อายุ 1 ปีครึ่ง

-ครั้งที่ 5 ฉีดเข็มกระตุ้นเมื่ออายุ 4 ปี

*เด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 1 ปี ควรฉีดวัคซีนให้ครบ 3 เข็ม

โดยเข็มแรกสามารถรับวัคซีนได้ตั้งแต่ อายุ 6 สัปดาห์ เข็มสองและเข็มสามห่างกัน 4 สัปดาห์ พร้อมสังเกตอาการของบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หากมีอาการของโรคไอกรน ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน

ในกลุ่มหญิงตั้งครรภ์ ควรไปรับวัคซีนไอกรนตั้งแต่อายุครรภ์ที่ 27-36 สัปดาห์ ซึ่งอาจช่วยปกป้องทารก จากโรคไอกรนในช่วง 2-3 เดือนแรกหลังการคลอด

ผู้ใหญ่ที่เคยได้รับการฉีดวัคซีนครบถ้วนแล้ว แนะนําให้ฉีดวัคซีนกระตุ้นทุก 10 ปี เนื่องจากวัคซีนที่ได้รับในวัยเด็กจะหมดลงในช่วงวัยรุ่น และผู้ใหญ่ภายในบ้านมีเด็กเล็กควรไปรับวัคซีนเช่นกัน เพื่อป้องกันการเกิดโรคในผู้ใหญ่แล้วแพร่เชื้อต่อไปยังเด็กในครอบครัว

ขอบคุณที่มา sikarin

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์