วันพฤหัสบดีที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2567

PM2.5 ส้ม-แดง ทั่วภาคเหนือ กฟผ.แม่เมาะ ห่วงใยชุมชน พร้อมสู้ฝุ่นด้วย 5 มาตรการเชิงรุก

  


            จากสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ในจังหวัดลำปาง และภาคเหนือ ที่เกินค่ามาตรฐานอย่างต่อเนื่องจนส่งผลต่อสุขภาพประชาชน โครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ กฟผ.แม่เมาะ ห่วงใยชุมชน เตรียมมาตรการรับมือ พร้อมสู้หมอกควัน โดยร่วมกับมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ติดตั้ง sensor เพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศ 44 จุด ทำให้ชุมชนแม่เมาะเป็นพื้นที่ที่มีเครื่องมือชี้วัดคุณภาพอากาศประจำหมู่บ้าน ครอบคลุมเกือบทุกหมู่บ้านในอำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง ข้อมูลคุณภาพอากาศและค่า PM2.5 แบบ real-time ตลอด 24 ชั่วโมง จะถูกแจ้งเตือนผ่านแอปพลิเคชัน LineOA “อากาศแม่เมาะวันนี้” ซึ่งจะช่วยให้ชุมชนสามารถเฝ้าระวังและวางแผนการใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างเหมาะสมกับสภาพอากาศ นอกจากนี้ Line Notify “อากาศแม่เมาะวันนี้” ยังส่งการแจ้งเตือนพิกัดจุดความร้อนจากไฟป่าไปยังเจ้าหน้าที่ดับไฟ เพื่อให้เข้าระงับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที 

            การพยากรณ์คุณภาพอากาศที่แม่นยำล่วงหน้า 7 วัน ทำให้เราสามารถพัฒนาช่องทาง ไม่เผา เราซื้อ ในแอปพลิเคชัน FireD (ไฟดี) ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการเชื้อเพลิงชีวมวล เปิดทางเลือกรับซื้อวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร อาทิ เปลือกและซังข้าวโพด เศษไผ่จากชุมชนในอำเภอแม่เมาะ นำไปผลิตชีวมวลอัดแท่ง (Biomass Pellet) เป็นเชื้อเพลิงพลังงาน ช่วยสร้างรายได้ให้กับชุมชน ลดการเผาอันเป็นสาเหตุสำคัญของฝุ่นละอองขนาดเล็กและหมอกควัน ในขณะเดียวกันแอปพลิเคชันยังเปิดทางเลือกให้เกษตรกรลงทะเบียนขอเผาได้ ศูนย์บัญชาการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอำเภอแม่เมาะ ที่จัดตั้งขึ้นโดย กฟผ.แม่เมาะ ร่วมกับ อำเภอแม่เมาะ จะเป็นผู้พิจารณาการเผาด้วยปัจจัยค่าฝุ่นสะสม ค่าฝุ่นพยากรณ์ และการระบายตัวของอากาศ



            ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการเชิงรุกที่ กฟผ.แม่เมาะ โดยโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ ได้ร่วมกับหลายภาคส่วน ผลักดันโครงการต่างๆ เพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถเฝ้าระวังสุขภาพ ป้องกันตนเอง และปรับตัวต่อสภาพอากาศได้อย่างปลอดภัยในช่วงฤดูหมอกควัน


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์