วันพฤหัสบดีที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2567

เผยโฉม “เกียบแก้วเวียงละกอน” มงกุฎเทพธิดาสลุงหลวง ประจำปี 2567 ลายล้อมด้วยพญานาค และลายละกอนไส้หมู เอกลักษณ์ลำปาง

 

                มงกุฎเทพธิดาสลุงหลวง ประจำปี 2567 มีนามว่า “เกียบแก้วเวียงละกอน”  ซึ่งเป็นปีนักษัตรประจำมงกุฏคือ “ปีมะโรง” หรือ “ปีงูใหญ่” ได้รับแรงบันดาลใจจาก พญานาคปูนปั้นเชิงบันไดวัดพระธาตุลำปางหลวง ซึ่งเป็นศิลปะปูนปั้นแบบเชียงแสน ดุนลายประดับมุมข้างมงกุฏทั้งสองข้าง และยังมีลาย “ละกอนไส้หมู” ถือว่าเป็นหนึ่งในกลุ่มลวดลายที่แสดงเอกลักษณ์ศิลปะของความเป็นลำปางอย่างชัดเจน เป็นกลุ่มลายที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะจีน โดยเข้ามามีบทบาทและอิทธิพลต่อศิลปะล้านนาซึ่งต่อยอดจนเป็นศิลปะประจำถิ่นที่มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยปรากฏอยู่ในชิ้นงานพุทธศิลป์และพุทธศาสนสถานทั่วไปในพื้นที่จังหวัดลำปาง


        หนึ่งในกิมมิคที่อยู่บนมงกุฏคือ “กามเทพคิวปิด” โดยเป็นที่ทราบกันดีว่าพื้นที่จังหวัดลำปางเป็นเมืองที่เป็นพหุวัฒนธรรม ซึ่งมีวัดพม่า-ไทใหญ่ จำนวนมาก โดยมีความแปลกที่พบคิวปิดซึ่งเป็นเทพเจ้าแห่งความรักของชาวตะวันตก ที่มีรูปร่างเป็นเด็กชายอวบอ้วนมีปีก ถูกถ่ายทอดลงในงานจิตรกรรมและงานประติมากรรม ในยุคเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ซึ่งศิลปินชาวพม่า-ไทใหญ่ ในขณะนั้นได้รับการถ่ายทอดและสร้างสรรค์ลงในชิ้นงานพุทธศิลป์ต่าง ๆ จนถูกหลอมรวมกลายเป็นส่วนหนึ่งในเทวดาที่คอยปกปักรักษาอาคารศาสนสถานในศาสนาพุทธของชาวพม่า-ไทใหญ่ ที่ได้อพยพเข้ามาในเมืองลำปาง และได้นำวัฒนธรรมร่วมนี้เข้ามาด้วย ดังปรากฏเห็นที่บานประตูอุโบสถวัดศรีชุม หน้าบันจองวัดท่ามะโอ และซุ้มประตูโขงวัดจองคา เป็นต้น จึงถือได้ว่าคิวปิดเป็นเทวดาที่มีวัฒนธรรมร่วมระหว่างโลกตะวันตกและโลกตะวันออกที่เชื่อมโยงเรื่องราวและเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ได้อย่างงดงาม


        อีกหนึ่งซิกเนเจอร์ของมงกุฎคือ เทคนิคงานกระจกเกรียบ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อมงกุฏ “เกียบแก้วเวียงละกอน” (ออกเสียงตามสำเนียงภาคเหนือ) โดยกระจกที่นำมาประดับตกแต่ง เดิมเรียกว่าแก้วหุง เกิดจากการนำดินขาวเป็นสารตั้งต้นหลอมกับตะกั่ว จึงทำให้เกิดความแวววาวและมีเนื้อคลายแก้ว มักถูกนำมาประดับตกแต่งในงานพุทธศิลป์ และศาสนสถานเก่าแก่ต่าง ๆ ในภาคเหนือ โดยในภาคเหนือมักเรียกกระจกเกรียบว่า “แก้วจืน” ซึ่งมงกุฎนี้ได้ประดับแก้วจืนสีฟ้าคราม และประดับอัญมณียอดมงกุฎสีทับทิม ส่วนกลางมงกุฎได้จำลองสัตตภัณฑ์จากวัดปงสนุกเหนือ ประดับทับหลังอัญมณียอดมงกุฎอีกด้วย จึงถือว่ามงกุฎ “เกียบแก้วเวียงละกอน” นี้ เป็นชิ้นงานที่รวบรวมงานพุทธศิลป์และศิลปะสกุลช่างลำปาง มาไว้ในชิ้นเดียวกันได้อย่างงดงามและลงตัว

ดำเนินการประกวดโดย เทศบาลนครลำปาง
ออกแบบโดย - นายวีรติ พันธ์ไม้สี
- นายณัฐชนน ศรีวงศ์
ภาพและเรียบเรียงข้อมูลโดย
- นายวีรติ พันธ์ไม้สี
รังสรรค์โดย เฮือนอาภรณ์ ลำปาง
ขอบคุณข้อมูลจาก ต้อม สกนธ์ เฮือนอาภรณ์
ที่มา เทศบาลนครลำปาง
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์