วันศุกร์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2557

ล่ารายชื่อสะพัดอ้างลงทะเบียนรับกล่องทีวีดิจิทัล จ่ายหลังคาเรือนละ



15-20 บาท ประธานชุมชนอุบชื่อบริษัทเงียบ อ้างติดต่อผ่านทางโทรศัพท์ไม่ทราบว่าเป็นบริษัทใด ขณะที่ กสทช.เขต 3 เผยยังไม่ได้รับการร้องเรียนในพื้นที่ หากพบว่าล็อคสิทธิ์ผู้บริโภคจะดำเนินการตัดสิทธิ์บริษัทตามนโยบายส่วนกลาง ฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อให้สำเนาบัตรประชาชน และทะเบียนบ้าน 

หลังจากเมื่อเดือนพฤษภาคม 57 ที่ผ่านมา ลานนาโพสต์ได้มีการนำเสนอข่าว กรณีที่เทศบาลตำบลต้นธงชัย ได้มีการประกาศให้ประชาชนไปลงชื่อเพื่อรับกล่องรับสัญญาณทีวีดิจิทัลมาแล้วครั้งหนึ่ง โดยนายกเทศมนตรี ได้ระบุว่าได้รับการติดต่อจากบริษัทจำหน่ายกล่องทีวีดิจิทัล เป็นการให้บริการชาวบ้าน เพื่อความสะดวกสบายโดยไม่ต้องไปหาแลกซื้อในตัวเมือง ซึ่งในเรื่องดังกล่าว ทาง กสทช.ได้กำหนดให้แจกจ่ายคูปองให้กับทุกครัวเรือนตามที่มีอยู่ในทะเบียนราษฎร์ ครัวเรือนละ 1 กล่องเท่านั้น โดยประชาชนสามารถนำคูปองไปแลกซื้อได้เองในร้านค้าที่ร่วมรายการ และขณะนั้นทาง กสทช.ยังไม่ได้ข้อสรุปในการแจกคูปองแต่อย่างใด 

จน กระทั่งช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มีกระแสข่าวว่าหลายชุมชนในเขตเทศบาลนครลำปาง ประธานชุมชนและ อสม.มีการเดินเคาะประตูบ้านเพื่อให้ชาวบ้านลงชื่อแจ้งความประสงค์ที่จะรับ กล่องทีวีดิจิทัล  ส่วนในเขตเทศบาลเมืองเขลางค์นคร ได้มีการประกาศเสียงตามสายในหมู่บ้านให้ชาวบ้านที่ต้องการรับกล่องทีวีดิจิทัลมาลงชื่อที่บ้านประธานชุมชนในหลายชุมชนด้วยกัน 

แหล่งข่าว เปิดเผยว่า ในเขตเทศบาลนครลำปาง ได้มีการประชุมประธานชุมชน 40 กว่าชุมชนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เพื่อให้รวบรวมรายชื่อชาวบ้านที่ต้องการรับกล่องทีวีดิจิตอล โดยบางชุมชนมีการขอสำเนาทะเบียนบ้านและสำเนาบัตรประชาชนมาเป็นหลักฐาน และจะได้รับค่าตอบแทนจากบริษัทหลังคาเรือนละ 15 บาท จึงมีการเดินเคาะประตูบ้านแต่ละหลังเพื่อให้ชาวบ้านกรอกแบบฟอร์ม ซึ่งในแบบฟอร์มนั้นจะมีชื่อผู้แนะนำอยู่ด้านล่าง เพื่อที่จะเช็คจำนวนหลังคาเรือนที่ตนเองรับลงทะเบียน

ส่วนในเขตเทศบาลเมืองเขลางค์นคร ประธานชุมชนแห่งหนึ่ง ต.ปงแสนทอง เปิดเผยว่า ได้รับการติดต่อจากบริษัทผ่านทางโทรศัพท์ ซึ่งตอนนั้นก็ไม่ได้ถามชื่อว่าบริษัทอะไร โดยได้ติดต่อมาว่าให้ทางประธานชุมชนแจ้งให้ลูกบ้านที่มีความประสงค์จะนำคูปองมาแลกกล่องทีวีดิจิทัลมาลงชื่อ และส่งยอดให้กับทางบริษัท ทางบริษัทจะนำกล่องมาไว้ให้ที่ประธานชุมชน เพื่อให้แจกจ่ายกับชาวบ้าน โดยบอกว่าจะมีค่าตอบแทนให้หลังคาเรือนละ 20 บาท  จึงได้ประกาศเสียงตามสายของหมู่บ้านให้มาลงชื่อ แต่ไม่ได้ขอเก็บเอกสารสำเนาบัตรประชาชนหรือทะเบียนบ้าน ตอนนี้มีชาวบ้านมาลงทะเบียนแล้วประมาณ 100 หลังคาเรือน ซึ่งส่วนใหญ่ก็ยังไม่ทราบว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง และบอกว่าหากเสียเงินก็ไม่เอา  ส่วนเงินที่ได้รับจากบริษัทนั้นทางประธานชุมชนก็จะนำไปเป็นกองกลางของหมู่บ้าน 

นอกจากนี้ยังมีกระแสข่าวว่านักการเมืองท้องถิ่นมีส่วนในการดำเนินการเรื่องนี้  ซึ่งนายสมหมาย พงษ์ไพบูลย์ สท.นครลำปาง  กล่าวว่า ในฐานะที่ทำหน้าที่ สท.เป็นตัวแทนของชาวบ้าน จึงอยากจะชี้แจง และสื่อสารให้ชาวบ้านรู้ว่าจะมีการแจกคูปอง หากสัญญาณดิจิทัลรุ่นใหม่มา ทีวีรุ่นเก่าก็จะใช้การไม่ได้  ซึ่งทางรัฐบาลจะชมเชยค่ากล่องมาให้เป็นคูปอง โดยได้แจ้งผ่านประธานชุมชนประธานชุมชนไปอธิบายให้ชาวบ้านรับฟังในเรื่องนี้  และตรวจสอบข้อมูลว่าแต่ละชุมชนมีกี่หลังคาเรือน ซึ่งไม่ได้มีการบริษัทติดต่อมา และไม่มีการเก็บสำเนาบัตรประชาชนแต่อย่างใด แต่กลับมีข่าวว่าเราออกไปตั้งโต๊ะลงทะเบียน ซึ่งไม่เป็นความจริง เพียงแต่ต้องการให้ชาวบ้านทราบโดยที่ไม่ต้องไปเสียเงินเพิ่ม ชาวบ้านจะได้ไม่เสียประโยชน์ในส่วนนี้ 

ขณะที่นายธีรัช เพ็ชรหิน ผอ.กสทช.เขต 3  กล่าว  ขณะนี้ยังไม่ได้รับร้องเรียนเกี่ยวกับการลงทะเบียนรับกล่องทีวีดิจิ ทัล เพื่อเป็นการล็อคสิทธิ์ของประชาชนในพื้นที่ จ.ลำปาง เพียงแต่ได้ยินข่าวมาเท่านั้น ซึ่งในเรื่องนี้จะต้องตรวจสอบก่อนว่าเป็นความจริงหรือไม่ ในเรื่องนี้ทาง กสทช.ส่วนกลางได้มีนโยบายมาชัดเจนว่าไม่มีการนำสำเนาบัตรประชาชนและสำเนา ทะเบียนบ้านไปลงทะเบียนแจ้งสิทธิ์ในการรับกล่องทีวีดิจิทัลอย่างแน่นอน โดยวิธีการแจกคูปองยังคงใช้หลักการเดิมคือ แจกตามข้อมูลทะเบียนราษฎร์ของกรมการปกครอง ณ เดือนมีนาคม 57 และส่งคูปองทางไปรษณีย์ไปให้หลังคาเรือนละ 1 ใบในราคา 690 บาท สามารถนำไปใช้แลกซื้อกล่องทีวีดิจิทัลที่ผ่านการรับรองมาตฐานจากสำนักงาน กสทช.ได้ 1 กล่องเท่านั้น  โดยในเดือนกันยายนนี้จะมีการแจกจ่ายคูปองใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ กรุงเทพฯและปริมณฑล เชียงใหม่ สงขลา และนครราชสีมา  สำหรับบริษัทที่พบว่ามีการล็อคสิทธิ์ โดยการให้ชาวบ้านไปลงทะเบียนไปรับกล่องกับบริษัทของตนนั้นจะต้องถูกตัดสิทธิ์ในการเข้าร่วมโครงการ 

ทั้ง สำหรับบริษัทที่เข้าร่วมโครงการคูปองดิจิทัล ประกอบด้วย บริษัท โปร คอนเซ็นพท์ แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ผู้ผลิตกล่องรับสัญญาณยี่ห้อ One Box Home  , บริษัท วันบ๊อกซ์ โฮม จำกัด ผู้จำหน่ายกล่องรับสัญญาณ , บริษัท ท็อปสตาร์ เพลนนารี่ จำกัด ผู้จำหน่ายกล่องยี่ห้อเวอร์จิ้น , บริษัท แฟมิลี่ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิต Set-Top-Box  , บริษัท การศึกษาก้าวไกล จำกัด ผู้จัดจำหน่ายกล่องยี่ห้อวินเนอร์ ดิจิทัล  และบริษัท วินเนอร์ ดิจิตอล จำกัด ผู้จัดจำหน่ายกล่องยี่ห้อวินเนอร์ ดิจิทัล

ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีบริษัทการศึกษาก้าวไกล และวินเนอร์ ดิจิตอล ได้ถูกร้องเรียนว่า บริษัทได้แจกใบปลิวกว่า 3 แสนใบ รวมถึงแจ้งไปยังผู้ใหญ่บ้านและกำนันทั่วประเทศ ให้ประชาชนนำสำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน มาจองสิทธิ์ใช้คูปองนำมาแลกรับ Set-Top-Box ยี่ห้อวินเนอร์ โดยอ้างว่า เป็นกล่องที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก กสทช. ทั้งที่ กสทช.ยังไม่ได้อนุมัติให้ผู้ประกอบการรายใดเข้าร่วมโครงการคูปองทีวีดิจิทัล และโครงการนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการตรวจสอบของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ด้วย การกระทำดังกล่าวจึงถือว่า ก่อให้เกิดความเสียหายกับทาง กสทช.  ดังนั้นหากบริษัทใดยังกระทำการในรูปแบบนี้อีก จะเสนอให้ทาง กสทช.สั่งห้ามไม่ให้บริษัท รวมถึงกล่องรับสัญญาณแบรนด์ที่ถูกนำไปใช้ในรูปแบบดังกล่าวเข้าร่วมโครงการคูปองดิจิทัลของ กสทช. 

ขณะเดียวกันยังได้รับการร้องเรียนเพิ่มมาอีก 1 บริษัท ได้แก่ บริษัท โซกู๊ด โกบอล จำกัด ซึ่งกระทำในลักษณะเดียวกัน อยู่ระหว่างการเรียกมาชี้แจง พร้อมกันนี้ทาง กสทช.จะประสานกับกระทรวงมหาดไทยและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ให้กวดขันกับผู้นำชุมชนในกรณีนี้ด้วย 


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 991 ประจำวันที่ 15 - 21 สิงหาคม 2557)
 

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์