วันอาทิตย์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2557

นกปรอดหัวโขน ชะตากรรมบนเส้นด้าย



กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

หลังจากถกเถียงกันมาอย่างยาวนานเรื่องนกปรอดหัวโขน วันนี้มีความพยายามอีกครั้งจากกลุ่มผู้เลี้ยง แข่งขัน เพาะพันธุ์ นกกรงหัวจุกแห่งประเทศไทย ที่จะล็อบบีให้ทางราชการปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง เพื่อเลี้ยง ซื้อขาย ขนย้ายได้สะดวก เพราะอ้างว่าสามารถเพาะพันธุ์ได้ โดยส่งเรื่องร้องเรียนไปยังศูนย์บริการประชาชน ซึ่งปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีก็ได้รับเรื่องไว้ แล้วส่งต่อไปให้กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เพื่อตรวจสอบ ในฐานะหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแล

กลุ่มดังกล่าวเรียกร้องขอให้มีการพิจารณาช่วยเหลือในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้
 
1. ต้องการให้มีการอนุญาตขึ้นทะเบียนครอบครองสัตว์ป่า
2. ระงับการจับกุมผู้เลี้ยงนกปรอดหัวโขน เพื่อการแข่งขันและเพาะพันธุ์
3. ขอให้ปราบปรามจับกุมผู้ครอบครองนกปรอดหัวโขนที่มีลักษณะเพื่อการค้า

มีการชี้แจงจากนักดูนกคนหนึ่งจากบล็อกโอเคเนชั่นเป็นข้อ ๆ ซึ่งน่าสนใจว่า

ข้อเรียกร้องข้อที่ 1 การนิรโทษกรรม หรือการอนุญาตขึ้นทะเบียนครอบครองสัตว์ป่าไม่ได้ช่วยหยุดยั้งปัญหาค้าสัตว์ป่า แต่กลับทำให้ปัญหาขยายตัวบานปลายออกไปอย่างรุนแรง โดยเป็นปัจจัยเร่งเร้าให้มีการเลี้ยงนกปรอดหัวโขนอย่างเปิดเผยและกว้างขวางมากขึ้น จนส่งผลกระทบต่อปริมาณนกในธรรมชาติให้ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว เปิดช่องให้ขบวนการจับนกป่าได้ทำผิดกฎหมายต่อ เนื่องจากมีดีมานด์จากกลุ่มเลี้ยงนก ทั้งเลี้ยงดูเล่นและเลี้ยงเพื่อการแข่งขัน จากสถิติการจับกุมคดีเกี่ยวกับนกป่าพบว่า ในจำนวนนกป่าที่เจ้าหน้าที่ตรวจยึดได้ เป็นนกปรอดหัวโขนถึงร้อยละ 40 เปอร์เซ็นต์

ข้อเรียกร้องข้อที่ 2 แม้ นกปรอดหัวโขนจะได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย ทว่าก็อนุญาตให้มีการครอบครอง เพาะพันธุ์ และขยายพันธุ์ได้ เพียงแต่ต้องมาขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎระเบียบ ขณะเดียวกัน ลูกนกปรอดหัวโขนที่ได้จากการเพาะพันธุ์ของผู้ได้รับใบอนุญาตในการเพาะพันธุ์ เจ้าของสามารถนำไปขายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และผู้ซื้อสามารถนำลูกนกไปแจ้งขอรับใบอนุญาตให้มีไว้ในครอบครองได้ต่อไป ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเห็นด้วย หากต้องการให้มีการระงับการจับกุมผู้เลี้ยงนกปรอดหัวโขนเพื่อการแข่งขันและ การเพาะพันธุ์ โดยเหมารวมไปถึงนกป่าที่จับมาอย่างผิดกฎหมายด้วย และอยากเสนอให้ผู้จัดการแข่งขันห้ามผู้เลี้ยงส่งนกที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าร่วม การแข่งขัน เพื่อทำให้การแข่งขันเป็นไปอย่างถูกต้อง ปัญหานี้ก็จะได้รับการแก้ไขเอง

ข้อเรียกร้องข้อที่ 3 คนไทยจำนวนมากคงเห็นด้วยแน่นอน หากจะมีการปราบปรามผู้ครอบครองนกปรอดหัวโขนเพื่อการค้า เพราะปัจจุบันการบังคับใช้กฎหมายยังไม่ทั่วถึงและไม่เข้มงวด ทำให้การค้านกป่ากลายเป็นปัญหาเรื้อรังที่ไม่สามารถแก้ไขได้ จนนกหลายชนิดมีจำนวนลดลงและเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ไปจากธรรมชาติ รวมถึงนกปรอดหัวโขนด้วย ทั้ง ๆ ที่หลายประเทศให้ความสำคัญกับการต่อต้านการค้าสัตว์ป่าที่ผิดกฎหมาย เพราะถือเป็นอาชญากรรมสำคัญระดับโลก

ธีรภัทร ประยูรสิทธิ อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า สาเหตุที่การปราบปรามการค้าสัตว์ผิดกฎหมายเป็นศูนย์เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ เนื่องจากมูลค่าการค้าของสัตว์เหล่านี้สูงมาก เช่น ซื้อมาตัวหนึ่ง 20-30 บาท เอามาขายตัวละ 300-500 บาท และมันมีคนชอบเสี่ยง สิ่งที่เราทำได้ คือ เพิ่มความเข้มข้นในการปราบปราม จะหยุดไม่ได้

เกี่ยวกับข้อเรียกร้องให้ปลดนกปรอดหัวโขนออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครองนั้น นายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ ประธานชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา เชียงใหม่ ยืนยันว่า เหตุผลเดียวในการปลดสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่งออกจากบัญชีรายชื่อสัตว์ป่าคุ้มครอง นั่นคือ มันไม่ต้องการกฎหมายปกป้องอีกต่อไป เพราะมีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อได้แน่ชัดว่า ประชากรของมันเพิ่มขึ้นในธรรมชาติจนไม่น่าเป็นห่วงแต่อย่างใด 

ทว่าจากการสำรวจประชากรนกในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งชมรมอนุรักษ์นกและธรรมชาติล้านนา เชียงใหม่ ร่วมกับนักดูนกทั่วประเทศ พบว่า ประชากรนกปรอดหัวโขนลดลงมากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ จากกราฟแสดงแนวโน้มประชากรนกปรอดหัวโขนในธรรมชาติของชมรมฯ เปรียบเทียบระหว่างนกปรอดหัวโขนกับนกปรอดหัวสีเขม่า ซึ่งมีนิเวศวิทยาและถิ่นอาศัยใกล้เคียงกันเห็นได้ชัดว่า แนวโน้มประชากรของนกปรอดหัวสีเขม่าค่อนข้างคงที่ หรือลดลงเพียงเล็กน้อย ในขณะที่ประชากรของนกปรอดหัวโขนดิ่งลงอย่างน่าใจหาย ดังนั้น การลดลงของประชากรนกปรอดหัวโขนจึงไม่ใช่เหตุผลทางนิเวศ แต่เป็นแรงกดดันจากการล่า ดักจับ และเลือกปฏิบัติต่างหาก

นอกจากนี้ ศักยภาพของการขยายพันธุ์ในกรงจะตอบสนองความต้องการของตลาดเพียงพอหรือไม่ ทดแทนการจับมาจากธรรมชาติได้จริงหรือเปล่า ยังเป็นปริศนาดำมืดที่ต้องการการยืนยัน เพราะการเลี้ยงนกในกรงมักจะดึงคำว่า อนุรักษ์ มากล่าวอ้างเสมอ แต่มันก็ย่อมมีกติกา มีกฎหมาย และข้อมูลทางวิชาการ ที่จะใช้ตัดสินว่า สัตว์ชนิดใดควรใช้วิธีใดในการอนุรักษ์จึงจะเหมาะสม

           
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ฉบับที่ 993 ประจำวันที่ 29 สิงหาคม - 4 กันยายน 2557)

Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์