วันพฤหัสบดีที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2558

วัดป่าพร้าว วัดโบราณที่รอการถอดรหัสและบูรณะ


กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

ไม่นานมานี้ ช่างภาพจากกรุงเทพฯ คนหนึ่งเดินทางมาถ่ายภาพวัดต่าง ๆ ในเมืองลำปาง ในลิสต์นอกจากปรากฏชื่อวัดดัง ๆ ที่ห้ามพลาด ยังมีวัดเก่าวัดหนึ่งที่เราชาวลำปางอาจไม่เคยได้ยินชื่อด้วยซ้ำไป วัดนั้นชื่อวัดป่าพร้าว (วัดสร้อยพร้าว) วัดร้างที่ตั้งอยู่ละแวกเดียวกับสุสานไตรลักษณ์และวัดพระธาตุหมื่นครื้น

จากริมถนนจะเห็นป้ายชื่อวัด แบบตั้งเคียงข้างกัน ป้ายเก่าเขียนไว้ว่า วัดสร้อยพร้าว ขณะที่ป้ายข้าง ๆ เขียนว่า วัดป่าพร้าว เราเดินเท้าขึ้นเนินเตี้ยที่ร่มครึ้มด้วยต้นไม้ใหญ่ เบื้องหน้าปรากฏซากปรักหักพังของวิหารและเจดีย์ทรงสถูป ตามพื้นกระจัดกระจายไปด้วยก้อนอิฐดินเผาโบราณเก่าคร่ำ บางส่วนถูกนำไปจัดเรียงเตรียมไว้สำหรับการบูรณะปฏิสังขรณ์วัดครั้งใหญ่ในปี พ.ศ. 2560 โดยกรมศิลปากร เช่นนี้เราจึงเห็นร่องรอยของการนำโครงเหล็กมาค้ำยันองค์เจดีย์ที่เริ่มจะเอนเอียงบ้างแล้ว โดยรอบเขตพุทธาวาสก็ได้รับการค้ำยันไม่ให้ก้อนอิฐโบราณพังทลายลงมา

แม้ไม่ปรากฏหลักฐานอายุสมัยของการก่อสร้าง แต่จากลักษณะที่ตั้งและรูปทรงของเจดีย์ นักวิชาการสันนิษฐานว่า วัดป่าพร้าวมีอายุอยู่ในราวพุทธศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา

ส่วนใครเป็นคนสร้างวัดนั้น บางตำนานกล่าวว่า วัดป่าพร้าวเกี่ยวพันไปถึงพระพี่เลี้ยงของพระเจ้าติโลกราชที่ชื่อนันต๊ะผญา โดยหลังจากนันต๊ะผญาชราภาพก็ได้กลับมาอยู่เมืองลำปางบ้านเกิด กระทั่งได้รู้จักมักคุ้นกับพ่อค้าเมืองแพร่ชื่ออ้ายจอมแพร่จนกลายเป็นกัลยาณมิตรกัน ต่อมาสองสหายได้ชวนกันสร้างวัด อ้ายจอมแพร่เมื่อสร้างวัดเสร็จแล้วก็ไปขอพระพุทธรูปที่วัดป่าพร้าว หัวเวียงลำปาง มา องค์ เรียกว่าพระเจ้าหัวคำ แต่อ้ายจอมแพร่สร้างวัดในที่ลุ่มริมแม่น้ำ น้ำจึงพัดวัดพังเสียหาย  นันต๊ะผญาจึงอัญเชิญพระพุทธรูปไปประดิษฐานไว้ที่วัดตน ชื่อวัดจอมพี่เลี้ยง ซึ่งต่อมาก็คือวัดพระธาตุจอมปิง

อย่างไรก็ตาม มีบันทึกว่า พระยาคำโสม เจ้าผู้ครองนครลำปางองค์ที่ คือผู้บูรณะวิหารวัดป่าพร้าว

วัดป่าพร้าวเป็นวัดที่อยู่นอกกำแพงเมืองเช่นเดียวกับวัดปันเจิง วัดกู่ขาว วัดกู่แดง และวัดกู่คำทางทิศตะวันตก น่าเสียดายที่ปัจจุบันวัดปันเจิงและวัดกู่แดงถูกทำลายจนไม่เหลือสภาพของโบราณสถานอีกต่อไป ส่วนเจดีย์และวิหารของวัดป่าพร้าว รวมไปถึงวัดกู่ขาว และเจดีย์ทรงกลมวัดกู่คำ ล้วนได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากรเมื่อปี พ.ศ. 2523

อาจารย์พิเศษ เจียจันทร์พงษ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษโบราณคดี ซึ่งขณะนั้นเป็นหัวหน้าโครงการสำรวจและขึ้นทะเบียนโบราณสถาน ได้สำรวจโบราณสถานในเขตภาคเหนือไว้ 172 แห่ง และได้รวบรวมรายชื่อโบราณสถานที่สำนักโบราณคดี กรมศิลปากร ไว้ในหนังสือ โบราณสถานในแคว้นล้านนา โดยตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2525

สำหรับจังหวัดลำปางพบว่ามีโบราณสถาน 30 แห่ง (โบราณสถานบางแห่งอาจตกสำรวจ หรือเพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานในภายหลัง) เฉพาะเขตอำเภอเมืองฯ มี 19 แห่ง แบ่งเป็นตำบลเวียงเหนือ 9 แห่ง ได้แก่ กู่เจ้าย่าสุตา วัดแสงเมืองมา วัดประตูป่อง วัดอุโมงค์ (ร้าง) วัดสุชาดาราม วัดพระแก้วดอนเต้า วัดหัวข่วง วัดปงสนุกใต้ และกำแพงกับคูเมืองนครเขลางค์

ตำบลหัวเวียง แห่ง ได้แก่ หออะม็อกและวัดคะตึกเชียงมั่น ตำบลวังหม้อ แห่ง ได้แก่ เจดีย์ร้างวัดป่าพร้าว ตำบลพระบาท แห่ง ได้แก่ วัดศรีชุม ตำบลสบตุ๋ย แห่ง ได้แก่ วัดศรีรองเมือง ตำบลบ่อแฮ้ว แห่ง ได้แก่ วัดกู่ขาว (ร้าง) ตำบลทุ่งฝาย แห่ง ได้แก่ วัดกู่คำและวัดเจดีย์ซาว ตำบลบ้านแลง แห่ง ได้แก่ วัดพระธาตุเสด็จ และตำบลพิชัย แห่ง ได้แก่ วัดม่อนพญาแช่

อำเภอเกาะคามี แห่ง แบ่งเป็นตำบลเกาะคา แห่ง ได้แก่ วัดท่าผา ตำบลลำปางหลวง แห่ง ได้แก่ วัดพระธาตุลำปางหลวงและหอไตรวัดพระธาตุลำปางหลวง ตำบลไหล่หิน แห่ง ได้แก่ วัดเสลารัตนปัพพตาราม และเขตอำเภออื่น ๆ มี แห่ง

หากได้มีโอกาสไปวัดป่าพร้าว อย่าลืมพกพาเอาจินตนาการขณะเดินอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพัง ว่าเรากำลังสำรวจศาสนสถานอายุอานามพันกว่าปี ตั้งแต่สมัยเมืองเขลางค์ยุคแรก ยุคพระนางจามเทวี อิฐเก่าแต่ละก้อนบรรจุไปด้วยเรื่องราวมากมาย และกำลังรอการถอดรหัสจากกรมศิลปากรในอีกสองปีข้างหน้านี้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1057 วันที่ 4 - 10 ธันวาคม 2558)
Share:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์