วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2559

น้ำแร่ร้อน ๆ ออนเซ็น จากแจ้ซ้อนถึงระนอง

จำนวนผู้เข้าชม free hits

กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง

น้ำพุร้อนเป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติอย่างหนึ่งที่บ่งบอกว่า ใต้พื้นพิภพบริเวณนั้นมีอุณหภูมิสูง หรือบนพื้นราบที่เรายืนอยู่อาจเป็นยอดของภูเขาไฟขนาดมหึมาใต้ดินที่ยังไม่ดับ ทำให้น้ำผิวดินเดือดจัด หรือพุ่งขึ้นมาเป็นน้ำพุร้อน
           
ปัจจุบันมีการพบแหล่งน้ำพุร้อนทั่วประเทศไทย 112 แห่ง กระจายอยู่ทั่วไปตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคกลาง และภาคใต้ วัดอุณหภูมิน้ำร้อนที่ผิวดินอยู่ในช่วง 40-100 องศาเซลเซียส เรารู้จักน้ำพุร้อน เนื่องจากเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มหัศจรรย์ แต่น้ำพุร้อนยังสามารถนำมาพัฒนาใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ได้ เช่น ผลิตกระแสไฟฟ้า ใช้ในด้านอุตสาหกรรม และการเกษตรกรรม
           
เมืองไทยของเรานั้น มีแหล่งน้ำพุร้อน น้ำแร่ธรรมชาติ ที่ผุดขึ้นมาจากใต้พิภพมากมายหลายแห่ง แต่อาจเป็นเพราะเมืองไทยเป็นเมืองร้อน น้ำพุร้อนในธรรมชาติจึงไม่ได้ถูกนำมาใช้ในเชิงสุขภาพกันอย่างแพร่หลายเหมือนเช่นในประเทศแถบเมืองหนาว แต่ในปัจจุบันกระแสการดูแลรักษาสุขภาพด้วยน้ำแร่ร้อนจากธรรมชาติดูเหมือนจะได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะการอาบน้ำแร่ทำให้ระบบการไหลเวียนโลหิตดีขึ้น ทำให้ผิวพรรณผ่องใส แก้ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และบำบัดอาการทางกระดูกและไขข้อได้ดี แหล่งน้ำพุร้อนหลายแห่งจึงแข่งกันจัดทำสถานที่สำหรับอาบน้ำแร่ไว้ดึงดูดคนรักสุขภาพให้อยากเข้ามาใช้บริการ
           
น้ำพุร้อนแจ้ซ้อนในเขตอุทยานแห่งชาติแจ้ซ้อน จังหวัดลำปางของเรานั้น มีป้ายไม้เก๋ ๆ อยู่ตรงบ่อน้ำพุร้อนที่มีอุณหภูมิเฉลี่ยของน้ำประมาณ 73 องศาเซลเซียส พร้อมข้อความ แจ้ซ้อน อุทยานฯ ต้องห้าม...พลาด ไข่แจ้ซ้อน ออนเซ็น แช่ไข่ในบ่อน้ำแร่ 17 นาที จะได้ไข่แดงแข็ง ไข่ขาวเหลว ลองดู สะท้อนให้เห็นว่า เมนูไข่ยำน้ำแร่ของเราโดดเด่นแค่ไหน นอกจากนี้ บริเวณน้ำพุร้อนยังมีโขดหินน้อยใหญ่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป และมีไอน้ำลอยฟุ้งขึ้นจากบ่อปกคลุมคล้ายกับหมอกรอบบริเวณ นับเป็นน้ำพุร้อนที่ถ่ายรูปยามเช้าได้สวยที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย ขณะเดียวกันก็มีกลิ่นกำมะถันค่อนข้างอ่อน ล่าสุดทางอุทยานฯ ยังได้ปรับปรุงห้องอาบน้ำแร่ใหม่และเพิ่มเติมบ่อน้ำอุ่นให้ลงไปแช่ได้อย่างสบาย
           
สำหรับคนรักสุขภาพและหลงใหลในการแช่น้ำร้อนสักครั้งหนึ่งในชีวิตคงต้องหาโอกาสไปจังหวัดระนอง ซึ่งวางคอนเซ็ปต์ของจังหวัดไว้อย่างชัดเจนว่าเป็น City of Health ด้วยความที่เป็นเมืองแห่งน้ำแร่นั่นเอง
           
แหล่งน้ำแร่ร้อนเมืองระนองมี แหล่ง ตั้งอยู่ไม่ไกลตัวเมือง แถมทั้ง แหล่งยังอยู่ไม่ไกลกันอีกด้วย
           
แหล่งน้ำแร่ร้อนบ้านพรรั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยานแห่งชาติน้ำตกหงาว มีบ่อน้ำแร่ร้อนธรรมชาติและบ่อปูนซีเมนต์ บ่อ มีตาน้ำมากถึง 13 ตา อุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ 35-40 องศาเซลเซียส นอกจากบ่อน้ำแร่ร้อนแบบแช่รวม ซึ่งออกแบบได้อย่างน่าลงไปนอนแช่ แต่ละบ่อยังกระจายอยู่ใต้ต้นไม้ร่มครึ้ม เงียบสงบ จุดเด่นของน้ำแร่ร้อนบ้านพรรั้งยังอยู่ที่สปาปลากับไข่น้ำแร่ สำหรับสปาปลา นักท่องเที่ยวสามารถลงไปยืนในลำธารน้ำเย็น เพื่อให้ปลาตัวเล็ก ๆ มาตอดเอาผิวหนังชั้นนอกที่เสื่อมสภาพแล้วออกไป ได้ความสนุกสนานปนจั๊กจี้ดีแท้ ส่วนไข่น้ำแร่มีวางขายในร้านขายของทางด้านหน้า โดยจะต้มไข่ไว้ให้เสร็จสรรพ แล้วนำมาใส่กระจาดเล็ก ๆ พร้อมซอส พริกไทย เกลือ เพียงตอกไข่ใส่แก้วแล้วกินแบบไข่ลวก ลองชิมดูอย่างไรก็ไม่เหมือนบ้านเรา
           
แห่งที่สองคือบ่อน้ำแร่ร้อนในสวนสาธารณะรักษะวาริน ที่นี่คึกคักไปด้วยนักท่องเที่ยว นับเป็นบ่อน้ำแร่ร้อนเก่าแก่ที่มีประวัติความเป็นมายาวนาน โดยในปี พ.ศ. 2433 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ได้เสด็จประพาสเมืองระนอง และพระราชทานชื่อถนนไปยังบ่อน้ำแร่ร้อนแห่งนี้ว่า ชลระอุ บ่อใหญ่บริเวณนี้เป็นบ่อน้ำแร่ร้อนที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ 3 บ่อ คือ บ่อพ่อ บ่อแม่ และบ่อลูกสาว ทว่าปัจจุบันคงเหลือเพียงบ่อพ่อเท่านั้นที่ยังคงมีน้ำแร่ร้อนไหลนองเนือง อุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ 65 องศาเซลเซียส ซึ่งเขาเคลมว่า เป็นแหล่งน้ำแร่เก่าที่มีคุณภาพดี เป็นน้ำแร่แหล่งเดียวในประเทศไทยที่ไม่มีสารกำมะถันปนอยู่เลย พร้อมกำกับสรรพคุณยาวเหยียด
           
นอกจากนี้ ทางจังหวัดยังจัดสร้างศูนย์บริการครบวงจรเกี่ยวกับการบำบัดทางสปา รูปแบบทันสมัย ไม่เพียงเท่านั้น โรงแรมใหญ่ในตัวเมืองแห่งหนึ่งยังเข้ามาบริหารจัดการบ่อน้ำแร่ให้เป็นบ่อแช่รูปทรงทันสมัย โดยนอกจากจะให้บริการแขกของโรงแรมแล้ว ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้าไปแช่ได้ เพียงจ่ายค่าธรรมเนียมเล็กน้อย แถมยังมีเสื้อ-กางเกงให้เปลี่ยนด้วย
           
นอกจากทะเลงาม เมืองระนองยังเลื่องชื่อด้านบ่อน้ำแร่ร้อนบริสุทธิ์ ซึ่งหลายคนเชื่อว่าเปี่ยมไปด้วยพลังแห่งการบำบัดสุขภาพ แม้น้ำพุร้อนแจ้ซ้อนจะเป็นรองนิดหน่อยในจุดนี้ แต่ด้วยสถานที่และการจัดภูมิทัศน์นับว่าสวยงามลงตัว ไข่แจ้ซ้อนออนเซ็นนั่นอีก ทำให้เราปฏิเสธไม่ได้ว่า มันทำให้เกิดปรากฏการณ์ต้มไข่อย่างจริงจัง เห็นแล้วชวนอมยิ้มที่สุด 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1072 วันที่ 25 - 31 มีนาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์