วันพฤหัสบดีที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ห้ามรถตู้ นร. เกิน 12 ที่นั่ง

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

เข้มรถรับส่งนักเรียน ตั้งด่านตรวจวันเดียวพบรถดัดแปลงถึง 45 คัน ขนส่งเผย 90 เปอร์เซ็นต์ผิดกฎหมาย แจ้งให้เข้ามาตรวจสภาพรถ  ขณะที่คนขับรถตู้ครวญหากกำหนด 12 ที่นั่งตามกฎหมายไม่คุ้มค่าใช้จ่าย หมดค่าน้ำมันเดือนกว่า 8,000 บาท ยอมเสียค่าปรับ หรือไม่ก็ต้องเลิกอาชีพนี้

นายถาวร เหรียญตระกูลชัย ขนส่งจังหวัดลำปาง กล่าวว่า สำหรับรถรับส่งนักเรียนในปี 58 มายื่นขออนุญาต 369 คัน สำหรับปี 59  มีรถตู้และรถสองแถวมายื่นขออนุญาต 554 คัน เพิ่มขึ้นจากเดิม 185 คัน   เหตุที่จำนวนรถจึงมากขึ้น  เนื่องมาจากสภาพปัญหาของรถโรงเรียนมีการนำรถไม่ถูกต้องมาใช้ และมีการดัดแปลงสภาพรถ ซึ่งมีข่าวอยู่บ่อยครั้งที่รถนักเรียนทำนักเรียนตกจากรถตู้ และเร็วๆนี้ที่ จ.ลำปาง มีเหตุการณ์ท้ายรถตู้เปิด และไม่มีที่กั้น  เรื่องนี้กรมการขนส่งได้เน้นให้ทุกจังหวัดเข้มงวดเรื่องการนำรถไม่ถูกต้องมาใช้ ทางผู้ประกอบการจึงมาขึ้นทะเบียนมากขึ้น

ปัญหารถตู้รับส่งนักเรียนเหมือนกันทั่วประเทศ เกี่ยวกับจำนวนรถนักเรียน ซึ่งรถหนึ่งคันจะบรรทุกมากกว่าปกติ เพราะคนขับรถต้องการลดค่าใช้จ่าย  ถ้าให้นักเรียนนั่ง 12 คนตามกฎหมายที่ขนส่งกำหนด ก็จะต้องไปเพิ่มค่าบริการที่ผู้ปกครอง จึงต้องดัดแปลงเพิ่มที่นั่งขึ้น ซึ่งเป็นปัญหามานานแล้ว ทางขนส่งรับทราบปัญหานี้มาตลอด ทางกรมขนส่งก็มีแนวนโยบายที่จะแก้ปัญหานี้ จึงกำหนดสภาพรถให้เป็นไปตามข้อเท็จจริง โดยมีการออกฎกระทรวงใหม่ ให้รถสองแถวสามารถรับส่งนักเรียนได้ ที่นั่งจะต้องยึดแน่นถาวร มีที่กั้นท้าย สภาพรถหลังคาต่างๆต้องแข็งแรง  อยู่ระหว่างร่างกฎกระทรวงออกมา คาดว่าจะประกาศใช้ในไม่กี่เดือนนี้

ขนส่งจังหวัด กล่าวต่อไปว่า  ช่วงนี้ทางขนส่งได้มีหนังสือแจ้งเตือนไปยังโรงเรียนต่างๆ ให้เข้มงวดรถที่นำมาใช้รับส่งนักเรียน พร้อมกับแจ้งให้เจ้าของรถที่ได้รับอนุญาตทุกคันนำรถมาตรวจสอบที่สำนักงานขนส่งภายในเดือน ก.ค.นี้    นอกจากนี้ทางขนส่งได้ออกตรวจสอบอย่างเข้มงวด โดยการตั้งด่าน หากพบความผิดเช่น ไม่ได้ขออนุญาต ดัดแปลงสภาพรถ บรรทุกนักเรียนมากผิดปกติ จะมีการเปรียบเทียบปรับ

“ตามความเป็นจริงรถที่มาตรวจสภาพกับทางขนส่งถูกต้องหมด  มีค้อนทุบกระจก ถังดับเพลิง มีไฟสัญญาณ สภาพเบาะที่นั่งถูกต้อง หลังจากตรวจแล้วก็จะไปดัดแปลงแก้ไข 90 เปอร์เซ็นต์ มีการดัดแปลงทั้งหมด  ต้องขอความร่วมมือกันในด้านความปลอดภัย แต่ถ้าขนส่งออกไปตั้งด่านพบก็จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย”  นายถาวร กล่าว  

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 3 มิ.ย.59 ที่ผ่านมา  ช่วงเวลา 06.30-08.30 น.  ทางสำนักงานขนส่งได้ตั้งด่านตรวจรถตู้รับส่งนักเรียน บริเวณถนนพหลโยธินขาเข้าเมืองลำปาง โดยเรียกตรวจรถได้ทั้งหมด 62 คัน พบการกระทำผิดถึง 45 คัน  เป็นรถที่ดัดแปลงจำนวน 36 คัน และไม่ได้ขออนุญาตรับส่งนักเรียน 8 คัน ไม่เสียภาษี 1 คัน  จึงได้ทำการเปรียบเทียบปรับตามกฎหมาย ขั้นต่ำ 500 บาท ปรับสูงสุดไม่เกิน 2,000 บาท
           
นายยุทธนา ตาละกา อายุ 58 ปี  ราษฎรบ้านต้า หมู่ 10 ต.ชมพู อ.เมืองลำปาง ผู้ประกอบการรถตู้รับส่งนักเรียน  เปิดเผยว่า ตนเองขับรถตู้มาตั้งแต่อายุ 35 ปี รับส่งเด็กนักเรียนมาตั้งแต่รุ่นแม่มาถึงรุ่นลูก เพราะผู้ปกครองให้ความไว้ใจ ทุกวันนี้รับเด็กนักเรียนมา 20 คน  คิดค่ารถคนละ 600 บาทต่อเดือน  ซึ่งตนเองก็ทราบว่าทางขนส่งได้มีการเข้มงวดเรื่องการดัดแปลงสภาพรถ  แต่หากให้เด็กนั่งได้เพียง 12 ที่นั่ง ก็ไม่สามารถทำได้ เพราะรับเด็กมาก่อนตั้งแต่เปิดเทอมแล้ว จะคัดเด็กออกก็สงสารเด็กที่ไม่มีรถรับส่ง เพราะส่วนใหญ่ที่รับมาด้วยก็เป็นญาติพี่น้องกันทั้งนั้น  หากจะต้องขึ้นค่ารถด้วยทำให้ผู้ปกครองเดือดร้อน

นายยุทธนา กล่าวยืนยันว่าตนเองดูแลและตรวจรถให้อยู่ในสภาพดีตลอด มีการยึดเบาะนั่งแน่นหนา และปิดล็อกประตูหลังไว้อย่างดี ที่เปิดประตูหลังด้านในก็ถอดออกไปเพื่อไม่ให้เด็กเปิดจากด้านในได้ ที่ผ่านมาไม่เคยมีปัญหา ผู้ปกครองจึงไว้ใจที่จะฝากลูกหลานให้เดินทางมากับตนเอง  แต่หากเจอด่านตรวจแล้วพบว่ารถมีการดัดแปลงก็คงต้องยอมให้ถูกปรับไปตามกฎหมาย

ด้านนายสมคิด มูลเสน  อายุ 59 ปี  อยู่บ้านแม่กั๊ว หมู่ 4 ต.แม่กั๊วะ อ.สบปราบ จ.ลำปาง  กล่าวว่า ตนขับรถตู้รับส่งนักเรียนมา 13 ปีแล้ว  เดิมรถมี 3 แถว 12 ที่นั่ง แต่ได้เพิ่มแถวที่ 4 มาอีก 1 แถว  หากขนส่งกำหนดให้ใส่เบาะนั่งตามกฎหมายก็จะได้รับผลกระทบคือ เด็กมีที่นั่งไม่เพียงพอ หากต้องลดจำนวนเด็กลงค่าใช้จ่ายของตนก็ไม่เพียงพอเช่นกัน  ทุกเดือนต้องเสียค่าน้ำมันรถเดือนละ 8,400 บาท  แล้วยังมีค่ากินค่าอยู่ที่ต้องมารอรับนักเรียน เพราะไม่ได้ทำงานอื่นๆเลย 

รถของตนรับเด็กนักเรียนมาทั้งหมด 20 คน  มีตั้งแต่ชั้น ป.1 ถึง ม.ค่ารถก็คิดตามระยะทางถ้าหมู่บ้านไหนอยู่ไกลจากตัวอำเภอ ราคาก็จะเพิ่มขึ้น ซึ่งของตนจะอยู่ที่ 1,100 -1,500 บาท  รับจาก อ.สบปราบเข้ามาส่งใน อ.เมือง  หากจะคิดเฉลี่ยเป็นรายวันค่ารถอยู่ที่วันละ 60 บาทเท่านั้น  โดยคิดราคานี้มานานเป็นสิบปีแล้ว ไม่ได้มีการปรับขึ้นราคาแต่อย่างใด ส่วนเรื่องความปลอดภัยได้ดูแลอยู่ตลอด เรื่องลืมเด็กไว้ไม่มีปัญหาเพราะเฝ้ารถอยู่ทั้งวัน เปิดประตู เปิดหน้าต่างไว้ตลอด  ฝาท้ายหากเด็กขึ้นรถครบก็จะปิดล็อกทันที  นอกจากนี้ก่อนเปิดเทอมได้ไปตรวจสภาพรถทั้งหมดแล้ว แต่ทางขนส่งได้แจ้งให้ไปตรวจใหม่ ก็ต้องใส่เบาะ 3 แถวไป  ถ้ามีการเข้มงวดจริงจนไม่สามารถรับส่งนักเรียนได้ ก็คงต้องเลิกอาชีพนี้ไป และก็คงจะเดือดร้อนกันเป็นลูกโซ่

ส่วนนายชัยยันต์  รุณทะจักร อายุ 48 ปี  อยู่บ้านนาแก้ว หมู่ ต.นาแก้ว อ.เกาะคา  กล่าวว่า ตนต้องดัดแปลงที่นั่งโดยการเอาเบาะออก และใส่ม้านั่งสามแถวเข้าไปแทน เพราะต้องรับเด็กนักเรียนในหมู่บ้านมาส่งในเมือง 23 คน  ในหมู่บ้านก็มีรถรับส่งเพียง 2 คัน ยังไม่เพียงพอกับจำนวนเด็ก  หากต้องลดจำนวนเด็กที่รับมาลงเหลือ 10 คน เก็บคนละ 800 บาท เดือนหนึ่งได้ 8,000 บาท หักค่าน้ำมันไป 5,000 บาท ก็คงไม่เพียงพอที่จะใช้จ่ายในครอบครัว   หากจะไปขึ้นราคาค่ารถ ทางผู้ปกครองก็จะเดือดร้อน อาจจะไปเช่าหอพักให้ลูกอยู่ในเมือง ส่วนเด็กเล็กก็ให้เรียนโรงเรียนในอำเภอ คนขับรถตู้ไม่มีลูกค้าก็คงต้องเลิกทำ งานสมัยนี้ก็หายากไม่รู้จะไปทำงานอะไร  อาชีพนี้เป็นอาชีพสุจริตแต่ก็ต้องมาประสบปัญหาอีก ไม่รู้จะทำอย่างไรเช่นกัน  

นายชัยยันต์ยังมีความเห็นว่า การที่นำมานั่งสามแถวมาใส่แทนเบาะรถตู้ ยังเป็นการดูแลเด็กได้ง่ายกว่า สามารถตรวจสอบเด็กได้ชัดเจน รถโล่งกว่าการนำเบาะมาใส่  ซึ่งก็คงจะใช้รูปแบบนี้ต่อไป หากเจอด่านตรวจก็ยอมโดนปรับเช่นกัน

ทั้งนี้ สำนักขนส่ง จ.ลำปาง จะได้จัดให้การอบรมพนักงานขับรถรับส่งนักเรียนใน จ.ลำปาง ในวันที่ 15 มิ.ย. 59   ซึ่งทางผู้ประกอบการรถตู้รับส่งนักเรียน ได้กล่าวว่าจะรอดูความชัดเจนอีกครั้งในวันดังกล่าวว่าทางขนส่งจะดำเนินการเช่นไร อาจจะมีการพูดคุยตกลงเพื่อหาทางออกร่วมกันอีกครั้ง

สำหรับรถตู้รับส่งนักเรียนที่ถูกกฎหมายนั้น ต้องได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากนายทะเบียน ให้นำรถมารับจ้างรับส่งนักเรียนต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตขับรถยนต์ส่วนบุคคลมาแล้วไม่น้อยกว่า ปี หรือใบอนุญาตขับรถยนต์สาธารณะ หรือใบอนุญาตเป็นผู้ขับรถตามกฎหมายว่าด้วยการขนส่งทางบกต้องติดเครื่องหมายหรือแผ่นป้ายพื้นสีส้ม ขนาดกว้างไม่น้อยกว่า 25 เซนติเมตร ยาวไม่น้อยกว่า 60 เซนติเมตร มีข้อความว่า รถโรงเรียน” ติดไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวรถต้องติดตั้งไฟสัญญาณสีเหลืองอำพัน หรือสีแดงปิดเปิดเป็นระยะ ติดไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวรถในตำแหน่งที่เหมาะสมต้องจัดให้มีเครื่องดับเพลิงไม่น้อยกว่า เครื่อง และค้อนทุบกระจกไม่น้อยกว่า อัน สำหรับรถตู้โดยสาร โดยติดตั้งไว้ภายในรถบริเวณพื้นที่เหมาะสมและปลอดภัย สามารถนำมาใช้งานได้สะดวก พร้อมใช้งานทุกขณะ รวมทั้งต้องจัดให้มีผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ซึ่งมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ ประจำอยู่ในรถตลอดเวลาที่ใช้รับส่งนักเรียน  ทั้งนี้ หากฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1082 วันที่ 10 - 16 มิถุนายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์