วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ซักเกอร์ ปลามหาภัย

จำนวนผู้เข้าชม good hits

กระแสปล่อยปลาซักเกอร์ โดยเอามาตั้งชื่อใหม่ว่า “ปลาดำราหู” กำลังมาแรง
           
ปลาซักเกอร์หรือปลากดเกราะเป็นปลาน้ำจืดในทวีปอเมริกาใต้ มีขนาดใหญ่ที่สุดประมาณ 50 เซนติเมตร กินอาหารไม่เลือกโดยใช้วิธีดูดราวปี พ.ศ. 2520 คนไทยนำปลาซักเกอร์เข้ามาเลี้ยงเพื่อทำความสะอาดตู้ปลา ให้มันทำหน้าที่ดูดตะไคร่ ดูดขี้ปลาในตู้บ้าง แต่ไป ๆ มา ๆ เมื่อเจ้าปลาชนิดนี้เริ่มตัวใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ เขาเหล่านั้นต่างพบว่ารูปร่างของมันช่างน่าเกลียดน่ากลัว แถมกินเท่าไรก็ไม่พอ และเริ่มหันมาแย่งอาหารปลาอื่น จนในที่สุดก็ไล่ดูดปลาในตู้จนเกลี้ยง คนเลี้ยงปลาผู้มักง่ายหลายคนทนไม่ไหว จึงเอามันไปปล่อยลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติโดยไม่ได้เฉลียวใจเลยว่า นี่คือจุดเริ่มต้นของหายนะ
           
ดร. ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ออกมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้ว่า ปลาซักเกอร์จัดเป็นหนึ่งในเอเลียน สปีชีส์ (Alien Species)คือสัตว์ต่างถิ่นที่ถูกมนุษย์นำเข้ามาในพื้นที่ ซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติดั้งเดิม เอเลี่ยนที่มาจากท้องถิ่นแห่งหนึ่ง มาอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เคยมีสัตว์ชนิดนั้นมาก่อน ทำให้ผู้ล่าในท้องถิ่นไม่สามารถล่าได้ เนื่องจากไม่เคยวิวัฒนาการมาเพื่อกินเหยื่อชนิดนั้น
           
เมื่อไม่มีผู้ล่าตามธรรมชาติ อีกทั้งแหล่งน้ำเมืองไทยมีอาหารอุดมสมบูรณ์ เหล่าปลาซักเกอร์จึงเติบโตและแพร่พันธุ์อย่างรวดเร็ว อีกทั้งยังเป็นปลาอึด อยู่ได้ทุกสภาพน้ำ มันจึงแพร่กระจายไปทั่วจนเริ่มเป็นฝันร้ายของสัตว์น้ำท้องถิ่น ไม่เพียงแค่แย่งอาหารปลาอื่น ๆ แต่ยังไล่ดูดไข่และลูกปลาเล็ก ๆ ของปลาท้องถิ่นอย่างปลากระดี่ ปลาดุก ปลาช่อน ปลาสวาย ฯลฯ แหล่งน้ำบางแหล่งมีปลาซักเกอร์ถึง 70 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ปลาท้องถิ่นมีเพียง 30 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น
           
ปลาซักเกอร์ที่ระบาดในประเทศไทยมี 2 สกุล คือ Common Sucker และ Sailfin Catfishโดยระบาดในแหล่งน้ำธรรมชาติทั่วทุกภาคของประเทศไทยนักวิชาการพูดถึงผลกระทบของปลาซักเกอร์ต่อระบบนิเวศมากว่า 20 ปีแล้ว กรมประมงเองก็หาทางกำจัดปลาชนิดนี้มานาน แต่ก็ยังไม่พบวิธีที่เหมาะสม เพราะไม่สามารถใช้สารเคมี หรือหาผู้ล่าปลาซักเกอร์ได้ ทำได้แต่เพียงรณรงค์ไม่ให้เลี้ยง ไม่ให้ปล่อยลงแหล่งน้ำธรรมชาติ แนะนำให้เอาไปทำปุ๋ยน้ำชีวภาพ หรืออาหารสัตว์ แม้กระทั่งเชิญชวนให้จับมันมากิน !
           
อันที่จริงปลาซักเกอร์นั้น กินได้ แต่ไม่เป็นที่นิยม เพราะรูปร่างหน้าตาของมันไม่น่ากินเอาเสียเลย แม้จะนำเสนอเมนูต่าง ๆ เช่น ลาบ ต้มทำน้ำยา เผายำปลาซักเกอร์ฟู หรือแม้แต่เมนูสุดสร้างสรรค์อย่างซักเกอร์เบอร์เกอร์ ทั้งนี้ นักกินสายแข็งหลายคนยืนยันว่า หากถอดเกราะของพวกมันออกมาแล้ว ก็จะพบเนื้อปลาสีขาวจั๊วะ เนื้อหนึบ ๆ คล้ายเนื้อปลาช่อน บ้างก็ว่าคล้ายเนื้อไก่ทว่าคนส่วนใหญ่ก็ยังเมิน เพราะไม่สามารถก้าวข้ามความน่าเกลียดน่ากลัวของมันไปได้ การรณรงค์จึงต้องเน้นไปที่การไม่เลี้ยง ไม่ปล่อย เสียมากกว่า
           
แต่แล้วเหล่านักวิชาการก็ต้องกุมขมับ ด้วยความที่มันเพาะเลี้ยงง่าย แถมอึดถึกทนทาน จึงมีคนนำมาขายเป็น “ปลาดำราหู” เพื่อให้คนไม่รู้ปล่อยลงแหล่งน้ำหวังเป็นการสะเดาะเคราะห์ แต่หารู้ไม่ว่านั่นล่ะบาปหนัก เพราะไม่รู้ว่าปลาท้องถิ่นอีกมากมายเท่าไร ที่จะต้องสังเวยให้ความตะกละตะกรามของปลาซักเกอร์
           
แม่น้ำวังบ้านเราปลาซักเกอร์ก็มีน้อยเสียเมื่อไร บรรดาคนที่วางอวนทิ้งไว้ต่างก็พบปลาหน้าตาประหลาดมาติดเสมอ พวกเขาส่วนใหญ่ไม่กิน แต่โยนทิ้งไปอย่างไร้เยื่อใย แน่ละ ยังมีปลาหน้าตาน่ากินกว่านี้อีก ลองนึกภาพปลาซักเกอร์พอกเกลือเผาเคียงคู่กับปลาทับทิม ปลานิล วางขายในตลาด จะมีใครกล้าซื้อกินไหมหนอ
           
ที่แน่ ๆ อย่าซื้อเลย ปลาดำราหู ปลาราหูอะไรนั่น แม่น้ำวังประสบชะตากรรมน่าเป็นห่วงพอแล้วจากบรรดาผักตบชวา ซึ่งก็คือเอเลียน สปีชีส์ เช่นกัน ไม่เช่นนั้น สัตว์น้ำของเราจะไม่เหลือหรอ แม่น้ำของเราจะว่างเปล่า ว่าแล้วก็ลองหันไปครีเอตเมนูเด็ดจากปลาซักเกอร์กันหน่อยเป็นไร

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1087 วันที่ 15 - 21 กรกฎาคม  2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์