วันศุกร์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

เมื่อสื่อเรียกหาใบเสร็จ !

จำนวนผู้เข้าชม http://www.hitwebcounter.com/

าวต้นเดือนกรกฏาคม 2557 เว็บไซต์ของศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง หรือ TCIJ ได้ตีพิมพ์บทความชิ้นหนึ่งอ้างว่า ได้รับข้อมูลจำนวนมากจากแหล่งข่าวที่ไม่สามารถเปิดเผยนาม ซึ่งน่าเชื่อได้ว่าเป็นข้อมูลภายในจริง บันทึกโดยผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานประชาสัมพันธ์ของบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับประเทศแห่งหนึ่งของไทย
           
ต่อมาได้รับการเปิดเผยว่าเป็นบริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด หรือซีพีเอฟ 
           
TCIJ พบว่า ข้อมูลภายในทั้งหมดมีเนื้อหาเกี่ยวกับรายงานการทำงานในหน้าที่ การแก้ข่าว การติดตามลบกระทู้เชิงลบในเว็บพันทิป / เว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์และอื่นๆ มีรายชื่อนักข่าวและตัวเลขการจ่ายเงินสื่อมวลชน 19 ราย ตลอดจนความเห็นต่อตัวนักข่าวและพูดถึงกลยุทธ์การสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดนักข่าว
           
TCIJ เรียบเรียงมานำเสนอเฉพาะสาระสำคัญ โดยข้อมูลจริงที่ใช้อ้างอิงนี้ ใช้วิธีการ copy และ paste จากไฟล์ต้นฉบับ คงไว้ซึ่งแบบตัวอักษรและข้อความเดิมทุกประการ ในขณะที่นางพรรณินี นันทพานิช รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซีพีเอฟ ปฏิเสธทุกสิ่งอย่างสิ้นเชิง
           
เราขอยืนยันว่าเราไม่เคยใช้เงินเพื่อซื้อสื่อในการปิดข่าวหรือบิดเบือนเนื้อหาข่าวไม่ให้เป็นความจริง
           
ประเด็นข้อกล่าวหาที่ว่า มีการจ่ายเงินสื่อมวลชน 19 ราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสื่อมวลชนอาวุโส นับเป็นเรื่องใหญ่ที่ไม่สามารถเพิกเฉยได้เลย เพราะหากทิ้งข้อกล่าวหานี้ไว้เป็นความเคลือบแคลงสงสัย ผลกระทบจะมิได้เกิดเฉพาะสื่อมวลชนที่ถูกกล่าวหาแต่หมายถึงความศรัทธาเชื่อถือในสื่อทั้งระบบด้วย
           
ในฐานะที่เป็นผู้นำองค์กรวิชาชีพสื่อ ที่มีภารกิจในการกำกับควบคุมเรื่องจริยธรรมสื่อเป็นด้านหลักในขณะนั้น ผมได้ตั้งคณะกรรมการอิสระขึ้นมาชุดหนึ่ง มีนายกล้าณรงค์ จันทึก เป็นประธาน ต่อมาเปลี่ยนเป็นนายสัก กอแสงเรือง เพื่อพิจารณาสอบสวนเรื่องนี้ และให้ความเป็นอิสระแก่คณะกรรมการในการสอบสวนอย่างเต็มที่ โดยที่ประธานและคณะกรรมการสภา นสพ.ไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว แทรกแซงในทุกกรณี
           
คณะกรรมการอิสระ เปลี่ยนเป็นคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง แต่ยังคงตัวบุคคลซึ่งเป็นบุคคลภายนอกทั้งสิ้น
           
พวกเขาใช้เวลาราว 2 ปี สอบสวนพยานบุคคล พยานเอกสาร และวิเคราะห์เนื้อหาโดยนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า มีการจ่ายเงินกันจริง แต่เป็นการจ่ายเป็นค่าโฆษณา และไม่ปรากฏหลักฐานที่ชี้ชัดถึงความผิดฐานละเมิดจริยธรรมของผู้ถูกกล่าวหา
           
คณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ พิจารณารายงานของอนุกรรมการเฉพาะเรื่องแล้ว เห็นว่าไม่มีหลักฐานชัดเจนเพียงพอที่จะชี้ความผิดผู้ถูกกล่าวหา มีมติยุติเรื่อง และให้มีการจัดสัมมนารู้เท่าทันกลยุทธ์ประชาสัมพันธ์
           
ผมมีความเห็นแย้งคำวินิจฉัยที่ 1/2559 ของสภาการนสพ.แห่งชาติ กรณีข้อกล่าวหาสื่อมวลชนรับเงินบริษัทเอกชน ในฐานะประชาชนผู้บริโภคข่าวสารคนหนึ่ง
           
ด้วยความเคารพในคำวินิจฉัยของคณะกรรมการสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และด้วยความเห็นว่าคณะกรรมการได้วินิจฉัยตามรายงานผลการพิจารณาของคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง ด้วยความระมัดระวังเท่าที่ปรากฏพยานหลักฐาน ประกอบกับการวิเคราะห์ข้อมูลของนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชนแล้ว ถึงกระนั้นก็ควรพิจารณาคำวินิจฉัยบางประเด็น ที่ยังไม่สิ้นกระแสความและอาจจะยังคงมีความเคลือบแคลงสงสัยในบทบาทขององค์กรวิชาชีพสื่อ อันควรจะเป็นสถาบันหลักของสังคมนี้ที่เชื่อถือและวางใจได้
           
1. คณะกรรมการไม่ยืนยันความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งอยู่ในรูปแบบดิจิทัลไฟล์ จึงไม่สามารถนำมาใช้อ้างอิงหรือวิเคราะห์เป็นพยานหลักฐาน ในข้อกล่าวหาสำคัญ คือมีการรับเงินหรือไม่ แต่ในรายงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะเรื่อง ปรากฏข้อเท็จจริง จากผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนที่มาให้ปากคำว่า มีการจ่ายเงินจริง แต่เป็นการกระทำในลักษณะของสัญญาซื้อขายโฆษณา ไม่ใช่การจ่ายเงินเป็นรายเดือนตามข้อกล่าวหา ดังนั้นสัญญาโฆษณาจึงเป็นการกระทำระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนเฉพาะราย กับบริษัทเอกชน มิใช่การทำสัญญาโฆษณาระหว่างฝ่ายโฆษณากับบริษัทเอกชนตามวิธีปฏิบัติปกติทั่วไป
           
2. คณะกรรมการเห็นว่า แม้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนระดับบริหารจะเดินทางไปพบกับผู้บริหารของบริษัทเอกชนต่างๆ เพื่ออธิบายถึงผลิตภัณฑ์ หรือบริการที่จะเป็นช่องทางให้บริษัทเอกชนใช้เป็นช่องทางในการโฆษณา ประชาสัมพันธ์ แต่ก็ได้มีการแยกแยะชัดเจนระหว่างหน้าที่ของกองบรรณาธิการกับฝ่ายโฆษณา
           
ประเด็นนี้อาจยังเป็นข้อถกเถียงในเชิงธุรกิจว่า เป็นหน้าที่ของผู้บริหารกองบรรณาธิการหรือไม่ที่ต้องไปช่วยหาโฆษณา แต่ในประเด็นเชิงหลักการ ควรมีเส้นแบ่งที่ชัดเจนในหน้าที่ของกองบรรณาธิการกับฝ่ายโฆษณาหรือไม่ เพราะการใช้ความเป็นผู้บริหารที่อาจมีชื่อเสียง และผู้คนเกรงใจ ก็อาจเป็นเรื่องที่สุ่มเสี่ยงในการใช้อภิสิทธิ์ของความเป็นสื่อมวลชน เพื่อให้ได้มาซึ่งเงินหรือผลประโยชน์ที่ไม่สุจริต ตรงไปตรงมา
           
สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติมิใช่ศาล ที่จะตัดสินความถูกผิดของใคร โดยอาศัยพยานหลักฐานชัดเจน เคร่งครัด เช่นเดียวกับศาล ผู้ที่ถูกกล่าวหาไม่ว่าจะเป็นบริษัทเอกชน หรือผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ก็มิใช่จำเลย ที่จะต้องเอาเป็นเอาตายกัน สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมแห่งวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ของสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ข้อ 20 ตราไว้ว่า ผู้ประกอบวิชาชีพหนังสือพิมพ์ ต้องไม่ประพฤติปฏิบัติการใดๆ อันจะนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ
           
นั่นหมายถึงว่า ความถูกผิดในด้านจริยธรรมของผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ไม่ได้อยู่ที่ใบเสร็จหรือพยานหลักฐานใดๆ หากอยู่ที่ จิตสำนึกหากสำนึกได้ว่าการกระทำนั้นๆนำมาซึ่งความเสื่อมเสียเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพ เท่านี้ก็นับว่าเพียงพอแล้ว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1106  วันที่  25 พฤศจิกายน - 1 ธันวาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์