วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2560

7 คำถาม กฎหมายคุมสื่อ

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

ภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปักธงวาระปฏิรูป ในการกำกับดูแลสื่อไว้ โดยมุ่งเน้นการสร้างกลไกการกำกับดูแลที่มีประสิทธิภาพ ทั้งภาควิชาชีพ ภาครัฐ และภาคประชาชน โดยการจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชน และกำหนดให้องค์กรวิชาชีพต้องเป็นสมาชิก

การจัดตั้งองค์กรภาคประชาชน เพื่อการมีส่วนร่วมกำกับ ดูแล และส่งเสริมการรู้เท่าทันสื่อ รวมถึงการปรับปรุงองค์กรกำกับดูแลภาครัฐในเชิงโครงสร้าง วิธีการทำงาน และการใช้อำนาจเพื่อประโยชน์สาธารณะ การสร้างกลไกประสานสัมพันธ์ระหว่าง 3 ภาคส่วน เพื่อให้สามารถรองรับการกำกับดูแลการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์สื่อได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  
วาระปฏิรูปที่นำไปสู่การจัดตั้งสภาวิชาชีพสื่อมวลชนของ สปช. ซึ่งโดยเนื้อหายังให้องค์กรวิชาชีพกำกับดูแลกันเอง ภายใต้หลัก “ส่งเสริมและสนับสนุน” กลายเป็น “ควบคุมบังคับ” เมื่อมาถึงมือของสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.)
  
ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน พ.ศ....ของ สปท.กำหนดให้มีการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ซึ่งมีเนื้อหาขัดแย้งกับหลักการพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นของประชาชน และสื่อมวลชน ตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ อีกทั้งมีผลกระทบต่อความเป็นอิสระในการทำงานของสื่อมวลชนทุกแขนง โดยสรุปจากคำถาม – คำตอบ 7  ข้อดังนี้

1.การมีขึ้นของสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ จะมีผลกระทบโดยรวมต่อผู้ประกอบวิชาชีพอย่างไร ?

ผู้ประกอบวิชาชีพ จะต้องสังกัดสภาวิชาชีพ เช่น สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย หรือสภาวิชาชีพอื่นๆที่จะจัดตั้งขึ้นในอนาคต ทั้งหมดนี้ต้องขึ้นทะเบียนต่อสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติภายใน1 ปี เท่ากับบังคับให้สื่อต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติหรือสภาใหญ่นี้โดยปริยาย

2.คณะกรรมการสภาใหญ่เป็นใคร มาจากไหน?
  
มาจากการเลือกกันเอง  จำนวน13 คน ประกอบด้วยผู้แทนสมาชิกสภาวิชาชีพ จำนวนห้าคน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม  ปลัดกระทรวงวัฒนธรรม ปลัดกระทรวงการคลัง เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และกรรมการอื่นอีกจำนวนสี่คน  การมีข้าราชการในตำแหน่งสูงสุดของฝ่ายข้าราชการประจำ ซึ่งปกติก็ขึ้นอยู่กับนักการเมืองผู้มีอำนาจ อยู่ถึงสี่คน จะเปิดช่องทางให้มีการแทรกแซงจากรัฐได้ และโดยปกติสภาวิชาชีพทั่วไป ก็จะมีกรรมการที่มาจากวิชาชีพนั้น ไม่ปรากฏว่ามีตัวแทนภาครัฐ

3.อำนาจคณะกรรมการ ลิดรอนเสรีภาพสื่อ?

อำนาจหน้าที่สำคัญของคณะกรรมการ มีหลายประการ แต่ที่เป็นประเด็นโต้แย้ง คือ อำนาจในการรับขึ้นทะเบียนและออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งเท่ากับ การทำงานของสื่อมวลชนไม่จำแนกประเภท จะต้องมีใบอนุญาตและอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาต หากเสนอข่าวไม่เป็นที่พึงพอใจของผู้มีอำนาจ สื่อมวลชนก็อาจเซ็นเซอร์ตัวเองเพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกับผู้มีอำนาจ อำนาจเช่นนี้ขัดแย้งกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ ที่รับรองสิทธิ เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน นอกจากนั้นหากสื่อกลัวเดือดร้อน หรือถูกกระทบจากผู้มีอำนาจออกใบอนุญาตก็จะเสนอข่าวที่ปลอดภัย หรือข่าวที่ไม่มีสาระ สิทธิในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารของประชาชนก็จะถูกกระทบไปด้วย

4.เงินที่ใช้ในกิจการของสภาใหญ่มาจากไหน?
    
กฎหมายกำหนดให้กระทรวงการคลัง จัดสรรเงินขององค์กรกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ในส่วนที่จะต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน  ให้สภาใหญ่ในอัตราร้อยละห้า ในกำหนดเวลาสามปีแรกที่จัดตั้งสภาใหญ่ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีอำนาจปรับเพิ่มรายได้ทุกสามปี เท่ากับ เป็นอำนาจของฝ่ายรัฐในการจัดสรรเงินที่ใช้ในกิจการสภาใหญ่ ซึ่งเป็นช่องทางหนึ่งที่รัฐจะเข้ามาแทรกแซงได้

5.การลดทอนความเชื่อถือในสภาวิชาชีพปัจจุบัน
  
ถึงแม้ว่าองค์กรสื่อ องค์กรวิชาชีพสื่อยังคงพิจารณาเรื่องร้องเรียนได้ตามปกติ แต่เมื่อผู้เสียหาย หรือผู้ถูกละเมิดใช้สิทธิทางศาล กฎหมายยังให้กระบวนการสอบสวนทางจริยธรรมของสภาวิชาชีพ ดำเนินต่อไป ซึ่งขัดแย้งกับวิธีการพิจารณาในสภาวิชาชีพที่เป็นอยู่ในขณะนี้  เพราะผลคำวินิจฉัยของศาลและสภาวิชาชีพที่อาจขัดแย้งหรือแตกต่างกัน อาจนำไปสู่ช่องทางการอุทธรณ์ต่อสภาใหญ่ สุดท้ายความเชื่อถือของสภาวิชาชีพจะลดลง เพราะเป็นสภาที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย

6.อำนาจในการลงโทษของสภาใหญ่
  
กฎหมายกำหนดให้สภาใหญ่มีอำนาจลงโทษปรับผู้ละเมิดเป็นชั้นๆ เป็นโทษทางปกครองชั้นที่1 ปรับไม่เกินห้าหมื่นบาท  ชั้นที่ 2  ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท และสุดท้ายชั้นที่ 3 กรณีร้ายแรง ปรับไม่เกินหนึ่งแสนห้าหมื่นบาท และเพิกถอนสมาชิกสภาพ

7.รัฐบาลกำกับ ดูแล การจัดตั้งสภาใหญ่ตั้งแต่ต้น
   
บทเฉพาะกาลกำหนดให้มีคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งสภาใหญ่ ประกอบด้วย ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นกรรมการโดยตำแหน่งในสภาใหญ่ เป็นประธานคณะทำงาน นอกจากนั้น มีปลัดกระทรวงวัฒนธรรม เลขาธิการ กสทช  และบุคคลอื่นๆ อีกรวมสิบสามคน เป็นคณะทำงาน ดำเนินการจัดตั้งให้เสร็จภายในสองปี ตัวแทนภาครัฐจึงมีบทบาทในการกำกับ ดูแลทิศทางของสภาใหญ่นี้แต่ต้น ซึ่งจะไปตอบรับแนวคิดแบบอำนาจนิยม ที่ต้องการจะคุมสื่อแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1114 วันที่  27 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์