วันศุกร์ที่ 27 มกราคม พ.ศ. 2560

ร้านหนังสือเล็ก หัวใจใหญ่ สวนอักษรทวนกระแสดิจิทัล

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

ในยุคที่ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือและคอมพิวเตอร์ก็ใช้กันอยู่ในวงจำกัด ดูเหมือนว่าร้านหนังสือเช่าจะเป็นความบันเทิงที่คนรุ่นหนึ่งยังคงระลึกถึงด้วยรอยยิ้ม ไม่เพียงเป็นธุรกิจของครอบครัว ทว่านี่คือขุมกำลังทางปัญญา ที่หล่อหลอมเด็กชายจากครอบครัวพงษ์พิจิตรให้รักการอ่านมาตั้งแต่จำความได้

นายสัตวแพทย์พงษ์ประสิทธิ์ พงษ์พิจิตรหรือหมอมิ้นเกิดและเติบโตท่ามกลางสวนอักษรในร้านหนังสือเช่าย่านตลาดอัศวิน กระทั่งไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ มาทำงานที่เชียงใหม่ ยามว่างจากหน้าที่การงานก็เดินเข้า-ออกร้านหนังสือในเชียงใหม่เป็นว่าเล่น กระทั่งย้ายกลับมาอยู่ลำปางบ้านเกิดก็พบว่า ร้านหนังสือบ้านเรานั้นมีขนาดใหญ่โตก็จริง แต่สิ่งที่ขาดคือบรรยากาศ แต่ละร้านล้วนแล้วแต่มีการแบ่งพื้นที่สำหรับธุรกิจอย่างอื่น ร้านหนังสือจึงไม่ชัดเจนในความคิดของหมอมิ้น
           
“ผมรู้สึกว่า การเข้าร้านหนังสือเริ่มไม่สนุก ถ้าอย่างนั้น เราลองทำร้านหนังสือของเราเองเถอะ หาหนังสือที่ชอบมาวางบนชั้น ผมว่าต้องมีบ้างล่ะคนที่ชอบแนวกับเรา”
           
สามปีที่แล้วหมอมิ้นจึงเปิดร้านหนังสือชื่อ “ร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่รัก (Little Lovely Book Shop)”บนชั้นสองของคลินิกบ้านรักษาสัตว์ ใครจะคิดว่า ร้านหนังสือกับคลินิกรักษาสัตว์จะใช้พื้นที่ร่วมกันได้ แต่เรากลับพบว่า นี่คือส่วนผสมอันลงตัวเลยทีเดียว เหมือนโลกที่ทับซ้อนกันอยู่ฟากหนึ่งคือโลกจริง อีกสิ่งหล่อเลี้ยงความฝัน
           
หนังสือส่วนใหญ่ที่นำมาขึ้นชั้นในระยะแรก คือวรรณกรรมเยาวชนของสำนักพิมพ์ผีเสื้อตามความชอบของหมอมิ้น ต่อมาจึงค่อย ๆ ขยับขยายคัดหนังสือโดยอาศัยสัญชาตญาณความเป็นนักอ่าน ทุกวันนี้พื้นที่เล็ก ๆ ของร้านอัดแน่นไปด้วยงานวรรณกรรมดี ๆ ของหลากหลายสำนักพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นสำนักพิมพ์ผีเสื้อ สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน สำนักพิมพ์กำมะหยี่ openbooksฯลฯ ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่สร้างสรรค์และจรรโลงใจ เป็นหนังสือที่หมอมิ้นรู้จัก เช่นนี้ ไม่ว่าเราจะหยิบจับหนังสือเล่มไหน เจ้าของร้านก็สามารถให้คำแนะนำได้
           
“ที่นี่เปรียบเหมือนถ้ำน่ะครับ” หมอมิ้นพูดพลางยิ้ม “สำหรับมาตามหาหนังสือที่หาไม่เจอจากร้านอื่น จะนั่งอ่าน หรือขลุกอยู่ในนี้นานเท่าไรก็ได้ตามสบายเลยครับ”
           
ช่วงหนึ่งมีกระแสการตามหาร้านหนังสือเล็ก ๆ ในแต่ละจังหวัด ลูกค้าของร้านหนังสือจึงเป็นนักท่องเที่ยวที่ดั้นด้นมาตามเพจLitlle lovely bookshopซึ่งทำให้ร้านเป็นที่รู้จักในแวดวงนักอ่านมากขึ้น หลัง ๆ จึงเริ่มมีนักอ่านชาวลำปางมาเยี่ยมเยือนบ้าง
           
“เมื่อเร็ว ๆ นี้มีเด็กนักเรียนเหมารถมาที่ร้าน เห็นแล้วชื่นใจครับ คือเด็กเขาต้องเก็บเงิน การจะซื้อหนังสือสักเล่มนี่ คงเป็นหนังสือที่เขาอยากอ่านจริง ๆ เพราะทุกวันนี้ยอมรับเลยครับว่า หนังสือแต่ละเล่มราคาไม่ถูก”
           
เป็นเรื่องจริงที่ว่า ธุรกิจหนังสือทุกวันนี้แข่งกันที่ส่วนลด ราคาปกจึงต้องตั้งไว้สูง อีกอย่างที่ทำให้หนังสือแต่ละเล่มแสนแพงก็คือ ราคากระดาษ ขณะที่จำนวนพิมพ์น้อยก็มีส่วนเพิ่มต้นทุนเช่นกัน อย่างไรก็ตาม การเกาะติดแวดวงหนังสือ หรือแม้แต่นักเขียน เป็นเรื่องจำเป็น ร้านหนังสือเล็ก ๆ ที่รักจึงไม่เคยขาดหนังสือใหม่ ๆทุก 2-3 อาทิตย์หมอมิ้นจะสั่งหนังสือมาวางที่ร้าน ด้วยวิธีเอาเงินไปวางกับสายส่ง หรือไม่ก็ซื้อขาด ซึ่งมีข้อดีคือได้ส่วนลดมาก แต่หากบริหารจัดการไม่ดีเงินก็จม สุดท้ายคือสำนักพิมพ์นำหนังสือมาฝากขาย แสดงถึงความไว้เนื้อเชื่อใจกันและกัน
           
"การค้นหาความหมายระหว่างบรรทัด 

คือ ความรื่นรมย์ที่ยังคงตรึงตรานักอ่านไม่ว่ายุคสมัยใด"

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา หมอมิ้นไม่ปฏิเสธว่า ร้านหนังสือเล็ก ๆ ของเขาไม่สามารถเลี้ยงตัวเองได้ คลินิกบ้านรักษาสัตว์ต่างหากที่เป็นรายได้หลัก
           
“เราเปิดร้านหนังสือไม่ได้หวังแข่งกับใครครับ แค่หวังสร้างพื้นที่เล็ก ๆ สำหรับนักอ่านคอเดียวกัน เราทำให้เหมือนกับว่า นี่คือชีวิตประจำวัน แล้วอีกอย่างเราก็อยู่ที่นี่ ทำงานที่นี่ หนังสือเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตเรา และถ้าพูดกันตามจริง หนังสือเป็นสินค้าที่ไม่หวือหวาครับ เดือน ๆ หนึ่งขายได้ 20-30 เล่มเท่านั้น”
           
โลกยุคดิจิทัลหมุนเร็วกว่าที่เราคิด และมันได้สั่นสะเทือนโลกแห่งการอ่านอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง อย่างไรก็ตาม หมอมิ้นมองว่าหนังสือยังคงมีเสน่ห์จากความเรียบง่าย การได้สัมผัสกระดาษ ละเลียดชมภาพประกอบ หรือแม้แต่ค้นหาความหมายระหว่างบรรทัด เหล่านี้ต่างหากคือความรื่นรมย์ที่ยังคงตรึงตรานักอ่านไม่ว่ายุคสมัยใด
           
เช่นนี้จึงไม่สำคัญหรอกว่า ร้านหนังสือจะเล็ก หรือใหญ่ซุกตัวอยู่ในโลกมุมใด เพราะเอาเข้าจริง ๆ เพียงแค่ใครสักคนเปิดหนังสือ โลกก็มาอยู่ในฝ่ามือของเขาแล้ว          

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1114 วันที่  27 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์