วันศุกร์ที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2560

น้ำตา สับปะรด

จำนวนผู้เข้าชม .

ถึงสับปะรดจะไม่ใช่ยางพารา ไม่มีการยางแห่งประเทศไทยคอยอุ้มชูอยู่ ไม่ได้เป็นผลิตผลเกษตรที่อิงการเมือง แต่นาทีนี้ชาวไร่สับปะรด คงอยากให้มีการสับปะรดแห่งประเทศไทย มาเอาใจใส่พวกเขา มาดู มาเห็น มารับผิดชอบ มาประกันราคา เหมือนที่ชาวสวนยางได้รับในทุกยามที่มีปัญหาราคายางตกต่ำ

เมื่อไม่มีการสับปะรดแห่งประเทศไทย เมื่อสับปะรดลงราคาไปถึงกิโลกรัมละ2 บาท ตาสับปะรดที่เปรียบเปรยกันว่ามากกว่าตาทุกตาในโลกนี้ ทุกตาคงมีน้ำตาไหลออกมา และคงไม่มีโอกาสมากเท่ายาง เท่าลองกองที่ภาคใต้ ที่ต่างระดมกันมาช่วยขายกันทั้งประเทศ ตามนโยบายรัฐบาล

ย้อนหลังไป 5 ปีก่อน รายงานข่าวจาก “ลานนาโพสต์” เหมือนวนกลับมาที่จุดเดิมอีกครั้ง เพราะในปีนั้น สับปะรดตกต่ำเหลือเพียงกิโลกรัมละ 2 บาท เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดกว่า 500 คน เอารถออกมาประท้วงปิดถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ลำปาง-เชียงราย เรียกร้องให้นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในสมัยนั้นให้ความช่วยเหลือรับซื้อในราคากิโลกรัมละ 4 บาท

ต่อมาเดือนกรกฎาคม 2558 เกษตรกรผู้ปลูกสับปะรดเฮได้ เมื่อสับปะรดมีราคาสูงสุดในรอบ 40 ปี ขายได้ที่กิโลกรัมละ 10-12 บาท

มาปีนี้เกษตรกรเดือดร้อนหนักอีกครั้ง เมื่อสับปะรดล้นตลาดทำให้ราคาหล่นลงมาอยู่ที่กิโลกรัมละ 2 บาท เท่ากับ 5 ปีก่อน

หลายภาคส่วนได้ช่วยกันหาทางแก้ปัญหาเบื้องต้น ประชาสัมพันธ์ให้ช่วยกันซื้อสับปะรด ธุรกิจเอกชนหลายแห่งก็แจกสับปะรด มีการจัดกิจกรรมวันขะหนัด แข่งกินสับปะรด ฯลฯ แต่ไม่มีการวางแผนระยะยาว ไม่นานปัญหาก็วนกลับมา

5 ปี 10 ปีข้างหน้า เราจะขายสับปะรดกันทั้งลูกต่อไป ปลิดขั้วแล้ววางขาย เสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมกันไป ถ้าสับปะรดน้อย ราคาก็จะดี หรือถ้าสับปะรดล้นตลาด ก็ต้องยอมรับชะตากรรม หรือเราจะแปรรูป หรือจะพัฒนาพันธุ์ เปลี่ยนความต้องการขายเป็นความต้องการซื้อ ตามหลักเศรษฐศาสตร์

วิธีเช่นนี้ คือการพึ่งตนเอง ไม่ต้องรอฟ้า รอฝน รอความช่วยเหลือ จากหน่วยงานไหน เพราะถ้าขนาดของปัญหามันใหญ่โตเช่นนี้ ใครจะเอื้อมมาถึง

ตัวอย่างหนึ่งที่ได้จากรายการ เกษตรสร้างชาติ : ทางรอดสับปะรดลำปางล้นตลาด ราคาตกต่ำ อาจเป็นทางออกหนึ่ง

สำนักข่าวไทย อสมท. รายงานว่า ริมถนนสายลำปาง-งาว ในตำบลบ้านเสด็จ อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง ช่วงนี้เต็มไปด้วยสับปะรดที่ชาวสวนนำมากองขายริมถนนในราคาแสนถูก บางรายขายเพียงกิโลกรัมละ 1.50 บาท ถึง 2 บาท ชาวสวนต่างได้รับความเดือดร้อนกันไปทั่วหน้ากับราคาที่ตกต่ำ แต่ต้องจำใจขายดีกว่าปล่อยให้เน่าเสีย เพราะยังมีผลผลิตสับปะรดออกมาอีกมากในช่วงนี้

แต่สับปะรดที่ไร่ช่างเอก ในหมู่บ้างวังเลียบ ตำบลบุญนาคพัฒนา อำเภอเมืองลำปาง กลับขายดิบขายดีและขายได้ราคาเฉลี่ยกิโลกรัมละ 15 บาท ซึ่งกฤษณะ สิทธิหาญ หรือช่างเอก เจ้าของไร่วัย 42 ปี ซึ่งเคยทำงานทั้งช่างยนต์ ช่างกลึงเหล็ก ช่างไฟฟ้า เรียกว่าเป็นคนที่มีความรู้สารพัดช่าง ที่เคยไปทำงานอยู่กรุงเทพฯ แต่สุดท้ายกลับมาทำการเกษตรที่บ้าน และปลูกสับปะรดกันเป็นหลัก แต่ก็ประสบปัญหาราคาตกต่ำแทบทุกปี สุดท้ายเขาก็หาทางออกโดยการปรับเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีทำสับปะรดแบบใหม่เมื่อ 5 ปีที่แล้ว

ช่างเอกยังปรับเปลี่ยนการปลูกด้วยการยกแปลง ใช้ความรู้ทางช่างประดิษฐ์เหล็กเจาะรูสำหรับปลูกและดัดแปลงเครื่องฉีดน้ำเพื่อให้น้ำระหว่างการปลูกหน่อสับปะรด โดยใช้พลาสติกคลุมเพื่อลดวัชพืชและเพิ่มความชื้นในดิน ช่วยประหยัดน้ำและแรงงาน แถมทำให้สับปะรดตั้งตัวได้ดีและเก็บผลผลิตได้เร็วขึ้น จากปกติที่ใช้เวลาเป็นปี เหลือเพียง 10 เดือน  ที่สำคัญเขายังยกระดับทำสับปะรดแบบอินทรีย์ ไม่ใช้สารเคมี แต่ใช้กากถั่วเหลืองและสับปะรดตกเกรดมาทำหมักเป็นปุ๋ย ทำให้สับปะรดหวานฉ่ำ หอม ใครได้ชิมเป็นติดอกติดใจ

นอกจากนี้ยังมีลูกค้าสั่งซื้อทางโทรศัพท์และทางออนไลน์ จัดส่งทั่วประเทศกล่องละ 8-10 กิโลกรัม ในราคา 150 บาท ขายวันหนึ่ง 200-300 ลูก แทบจะไม่พอ สิ่งสำคัญช่างเอกบอกว่าทำเกษตรไม่ว่าจะปลูกอะไรต้องมองตลาดให้ชัดเจน เน้นพัฒนาคุณภาพผลผลิต และยึดหลักพอเพียงตามแนวทางในหลวงรัชกาลที่ 9 จะช่วยให้เกษตรกรอยู่ได้อย่างยั่งยืน

ปีนี้คงต้องยอมรับชะตา ฟ้าลิขิต ให้สับปะรดออกมามากกว่าความต้องการ แต่คนอย่างช่างเอก ทำให้เห็นว่าถึงเป็นสับปะรด แต่ไม่ใช่สับปะรดแบบที่ชาวไร่ทั่วไปปลูก

ค้นหาแรงบันดาลใจ ทำให้สับปะรดให้ไม่เป็นสับปะรด คือทางออกของวิกฤติราคาในระยะยาว

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1135 วันที่ 30 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2560)


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์