วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560

ชื่อนี้ล้วนมีที่มา

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

พระพุทธรูปคือรูปเคารพในฐานะตัวแทนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหลายองค์มีนามที่บ่งบอกถึงความเป็นมาอย่างแยบยล แล้วยังสะท้อนถึงความละเมียดละไมในการเรียกชื่อพระพุทธรูปของคนโบราณ

พระเจ้าล้านทอง คือ พระพุทธรูปขนาดใหญ่ที่จะต้องใช้ทอง (สัมฤทธิ์) ในการหล่อเป็นจำนวนมากนับเป็นล้าน (ล้านในที่นี่เป็นการบอกขนาดว่าใหญ่มาก) ดังนั้น พระพุทธรูปสัมฤทธิ์ที่มีขนาดใหญ่ในแผ่นดินล้านนาจึงถูกเรียกว่าพระเจ้าล้านทอง องค์หนึ่งที่มีชื่อเสียงและมีคนมากราบสักการบูชามากก็ได้แก่ พระเจ้าล้านทอง วัดพระธาตุลำปางหลวงนั่นเอง

พระเจ้าทันใจ ชื่อพระเจ้าทันใจเกิดจากการหล่อพระพุทธรูปองค์นี้เสร็จภายในวันเดียว จึงมีคติความเชื่อว่า เมื่อบูชาและขอพรอะไรจากพระเจ้าทันใจแล้วจะได้ดังใจ ส่วนใหญ่จึงมักมีคนมาขอลูก ขอให้หายเจ็บป่วยกันมาก พระเจ้าทันใจมีอยู่ทั่วไปในดินแดนล้านนา โดยเฉพาะตามวัดสำคัญ ๆ ที่มีคนศรัทธามากราบไหว้ พระเจ้าทันใจที่ประดิษฐานอยู่ในวิหารหลวงเช่นเดียวกับพระเจ้าล้านทอง วัดพระธาตุลำปางหลวง ก็มีคนนิยมมากราบไหว้ขอลูกกันมากมาย

พระแสนแซว่บ้างเขียนว่า พระแสนแส้ หรือเขียนตามภาษาพูดเป็นแสนแซว่ หรือแสนแสว้ เรื่องนี้ศาสตราจารย์ ดร. ศักดิ์ชัย สายสิงห์ อธิบายว่า คำว่า “แซว่” ในภาษาถิ่นหมายถึง สลัก หรือกลอนที่ใช้ยึด หรือเชื่อมวัสดุหลาย ๆ ชิ้นเข้าด้วยกัน ส่วนคำว่า “แสน” หมายถึงจำนวนนับที่เปรียบเปรยว่ามีมากมาย ดังนั้น คำว่า “แสนแซว่” จึงหมายถึงสลัก หรือกลอนจำนวนนับแสน อันเป็นวิธีการของชาวล้านนาในการใส่จำนวนนับ เช่น หมื่น แสน ล้าน นำหน้าคำเพื่อเป็นการบอกขนาด เช่น พระเจ้าฝนแสนห่า พระเจ้าล้านทอง พระเจ้าเก้าตื้อ และพระแสนแซว่ ด้วยเหตุที่พระแสนแซว่มีขนาดใหญ่ ในการหล่อจึงต้องแยกเป็นส่วน ๆ แล้วนำมาประกอบเข้าด้วยกันโดยใช้แซว่ หรือสลักจำนวนมาก

ที่วัดศรีเกิด ตำบลหัวเวียง มีพระแสนแซว่องค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ในกุฏิเจ้าอาวาส พระพุทธรูปองค์นี้มีนามว่า พระเจ้าสิงห์หลวงแสนภู เป็นพระพุทธรูปสิงห์หนึ่งซึ่งพระพิศิษฐ์ธรรมภาณ อดีตเจ้าอาวาสวัดเชตวัน กล่าวว่า ถูกอัญเชิญมาจากเมืองบ่อแก้ว แขวงห้วยทราย สปป. ลาว สมัยสงครามอินโดจีน ท่านยังเล่าไว้ในหนังสือลานนา ล้านนา เป็นของใคร ? ของอาจารย์ศักดิ์เสริญรัตนชัย บอกว่า สมัยเป็นเด็กเห็นพระพุทธรูปมากมายเมื่อครั้งที่ทหารบรรทุกมากับรถยนต์ แล้วนำลงมาเก็บไว้ที่ใต้ถุนกองร้อยที่ 4 กองพันทหารราบที่ 30 จังหวัดลำปาง เพราะในช่วงนั้นทหารไทยยึดแขวงห้วยทรายจากฝรั่งเศสได้ และพบพระพุทธรูปในค่ายทหารฝรั่งเศสจำนวนมาก รวมทั้งศิลาจารึก ผู้บังคับบัญชาจึงให้อัญเชิญมาที่ลำปาง

หลังจากนั้นนายทหารก็ได้นำพระพุทธรูปองค์ใหญ่ ๆ ไปถวายวัดต่าง ๆ ในจังหวัดลำปาง วัดใดต้องการก็ไปส่งให้ พระพุทธรูปจากแขวงห้วยทราย สปป. ลาวจึงกระจายไปประดิษฐานอยู่ตามวัดต่าง ๆ เช่น วัดเชตะวัน วัดชัยมงคลธรรมวราราม วัดหนองละกอน วัดศรีล้อม วัดดอกบัว รวมถึงพระเจ้าสิงห์หลวงแสนภูก็ได้มาประดิษฐาน ณ วัดศรีเกิด

พระเจ้าสิงห์หลวงแสนภูมีพุทธลักษณะงดงามตามแบบพระพุทธรูปแบบสิงห์ 1 เชียงแสน-แสนภู คือสร้างในสมัยพระเจ้าแสนภูแห่งเมืองเชียงรายขนาดหน้าตักกว้าง 32 นิ้ว และที่พิเศษไม่เหมือนองค์ใดก็คือ พระพุทธรูปองค์นี้สามารถมองเห็นสลักทางด้านหลังองค์พระได้อย่างชัดเจน รวมถึงรอยต่อบริเวณพระศอ และยังมีจุดเด่นอยู่ที่พระรัศมีเมาลีทรงกาบมีร่องประดับเพชรพลอย

พระพุทธรูปในวิหารสุทธิจิตต์ วิหารขนาดเล็กด้านข้างวิหารหลวงวัดพระเจดีย์ซาวหลังก็คือพระแสนแซว่ แต่ใช้คำเรียกว่า พระพุทธรูปแสนแซ่ทองคำ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ขัดสมาธิราบ เนื้อทองคำ 95.5 เปอร์เซ็นต์น้ำหนักรวม 100 บาท กับ 2 สลึง ศิลปะล้านนาผสมอยุธยาสมัยพุทธศตวรรษที่ 20โดยได้มีการขุดพบพระพุทธรูปแสนแซ่ทองคำองค์นี้เมื่อปี พ.ศ. 2526 ในไร่ของนายบุญเทียม เครือสาร ซึ่งต่อมาเขาได้นำมาถวายวัดพระเจดีย์ซาวหลัง พระพุทธรูปองค์นี้มีวิธีการสร้างด้วยการตีแต่งขึ้นเป็นส่วน ๆ ไม่ได้ใช้วิธีหล่อเหมือนพระพุทธรูปทั่วไป แต่ละส่วนนั้นต่อกันด้วยสลัก สามารถถอดออกเป็นชิ้นส่วนต่าง ๆ ได้ 32 ชิ้น สังฆาฏิถอดได้เป็นแผ่นยาว สังฆาฏิด้านหน้า-ด้านหลังประดับด้วยอัญมณี พระนลาฏประดับด้วยนิหล่า (พลอยชนิดหนึ่งมีสีฟ้าเข้มอมเทา) 1 เม็ด รอบพระเมาลี 4 เม็ด และที่ยอดพระเมาลีอีก 1 เม็ด ในช่องพระเศียรมีผอบบรรจุพระบรมธาตุไว้ด้วย โดยสามารถถอดพระเศียรได้เป็นชั้น ๆ ที่น่ามหัศจรรย์ก็คือ ภายในองค์พระมีหัวใจ ตับ ไต ไส้ ซึ่งทำด้วยทองคำบริสุทธิ์เช่นกัน และยังมีใบลานทองคำ 2 แผ่นจารึกคาถาอักษรพื้นเมืองพันรอบขั้วหัวใจ ที่ไตมีจารึกอักขระ 32 ตัวในช่วงเทศกาลสงกรานต์และช่วงที่มีการจัดงานประจำปีของวัด จะมีการอัญเชิญพระพุทธรูปแสนแซ่ทองคำออกมาแห่แหนให้ประชาชนสรงน้ำด้วย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1133 วันที่ 16 -22 มิถุนายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์