วันพฤหัสบดีที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2561

ตีความคดีสนามกอล์ฟ คนแม่เมาะพ่าย กฟผ.

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

3  ปีที่รอคอยไม่เป็นผล หลังกลุ่มผู้ป่วยแม่เมาะยื่นศาลตีความคดีสนามกอล์ฟ-สวนรุกขฯ ศาลสูงสุดพิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ระบุ กฟผ.ดำเนินการตามคำสั่งศาลทุกขั้นตอนแล้ว

จากกรณีการฟ้องร้องกันระหว่างกลุ่มชาวบ้าน จำนวน 318 คน  ยื่นฟ้องรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมกับพวกรวม 11 คน  ซึ่งหนึ่งในผู้ถูกฟ้องมีการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นจำเลยที่ 7  กรณีที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแม่เมาะ ละเลย ไม่ปฏิบัติตามวิธีการทำเหมืองแร่ และเงื่อนไขแนบท้ายประทานบัตร และรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA  ไม่ถูกต้อง  กระทั่ง วันที่ 10 ก.พ.58 ศาลปกครองสูงสุด มีคำสั่งให้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแม่เมาะ ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมอย่างเคร่งครัด  โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยถมดินกลับไปในบ่อเหมืองให้มากที่สุดและให้ปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยแม่เมาะ นำพื้นที่ที่ต้องฟื้นฟูขุมเหมืองไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ  และจะต้องดำเนินการภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษา 

ขณะที่นายวิโรจน์ ช่างสาร ทนายความจากสภาทนายความ ซึ่งเป็นตัวแทนผู้ฟ้องคดี ได้ติดตามการดำเนินการตามคำสั่งศาลปกครองของ กฟผ.แม่เมาะ พบว่ามีการแก้ไขมาตรการใหม่หมดทุกข้อ ทางฝ่ายผู้ฟ้องจึงขอสงวนสิทธิในการให้ความเห็นชอบทั้งหมด เนื่องจากเห็นว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาของศาล จึงไม่สามารถที่จะยอมรับในเงื่อนไขดังกล่าวได้  โดยนำเรื่องทั้งหมดที่ผู้ถูกฟ้องเสนอไปยื่นต่อศาลในวันที่ 26 ก.ย.58  ให้เป็นผู้วินิจฉัยในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง  ใน 3 ประเด็น คือ ประเด็นการจัดตั้งคณะทำงานระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพหมู่บ้าน ผู้แทนผู้ฟ้องคดีไม่ได้ร่วมเป็นคณะทำงานมีความชอบด้วยกฎหมายหรือไม่  ประเด็นที่ 2 การดำเนินการแก้ไขเปลี่ยนแปลงรายงานการป้องกันและผลกระทบสิ่งแวดล้อม ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดต้องปฏิบัติเช่นไร เป็นไปตามรายงานปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นหรือไม่อย่างไร และประเด็นที่ 3  กฟผ.ปฏิบัติตามคำสั่งศาลครบถ้วนหรือไม่ กรณีการฟื้นฟูขุมเหมืองบริเวณสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 ก.ย.61 ที่ผ่านมา ศาลปกครองเชียงใหม่ ได้อ่านคำสั่งศาลปกครองสูงสุด กรณีที่กลุ่มผู้ฟ้องยื่นเรื่องให้ศาลวินิจฉัยในประเด็นต่างๆอีกครั้ง  ซึ่งศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งยืนตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้นในทุกประเด็น

ประเด็นที่ 1 การจัดตั้งคณะกรรมการระดับท้องถิ่นและผู้เชี่ยวชาญร่วมกันพิจารณาในการอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบ  ศาลเห็นว่า ข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้มีคำสั่งจังหวัดลำปางที่ 1244/2558 วันที่ 17 เม.ย.58 แต่งตั้งคณะทำงานพิจารณาอพยพราษฎรที่ได้รับผลกระทบ ออกนอกรัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากภาครัฐ ภาคประชาชาชน  โดยเฉพาะผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่ กำนัน ผู้ใหญ่บ้านใน อ.แม่เมาะ ซึ่งถือเป็นตัวแทนของประชาชนในท้องถิ่นรวมถึงผู้ฟ้องคดีด้วย ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นคณะทำงาน จึงเห็นว่าการจัดตั้งคณะทำงานตามคำสั่งจังหวัดลำปาง เป็นไปตามคำบังคับของศาลแล้ว

ประเด็นที่ 2 การเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมของ กฟผ.แม่เมาะ  ศาลให้ความเห็นว่า ถึงแม้ กฟผ.จะมีหนังสือถึงอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ขอเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมและมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยนำมาตรการที่เคยผ่านความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม  ด้านเหมือนแร่และอุตสาหกรรมถลุงแร่หรือแต่งแร่ฯ เสนออธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พิจารณาอนุญาต เป็นการขอเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ  ภายหลังจากศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด แต่ กฟผ.ยังใช่รายงานฉบับเดิมอยู่ จนกว่าจะได้รับหนังสืออนุญาตจากอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ ให้แก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการดังกล่าว   โดยศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษากำหนดคำบังคับไว้ว่า  ในกรณีที่ กฟผ.มีมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบฯที่มีมาตรฐานและเหมาะสมกว่า รายงานฉบับเดิมที่แนบท้ายประทานบัตรดังกล่าว ให้ กฟผ.ดำเนินการขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อสำนักงานนโยบายและแผนฯได้

เมื่อมาตรการฯฉบับเดิมยังไม่ถูกยกเลิกหรือเพิกถอน เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงมาตรการฯ จะมีผลสมบูรณ์ต่อเมื่อได้รับอนุญาตเป็นหนังสือจากอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานฯ เท่านั้น  ซึ่งต่อมาได้มีการพิจารณาคำขอเปลี่ยนแปลงมาตรการฯ และได้อนุญาตให้ กฟผ.เปลี่ยนแปลงมาตรการฯได้ และให้ปฏิบัติตามมาตรการฯฉบับใหม่โดยเคร่งครัดตั้งแต่วันที่ 27 เม.ย.58 เป็นต้นไป ถือว่า กฟผ.ปฏิบัติตามคำบังคับของศาลแล้ว และไม่เป็นการหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำพิพากษาแต่อย่างใด

ประเด็นที่ 3 การฟื้นฟูขุมเหมืองที่ กฟผ.นำไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ  ในการแสวงหาข้อเท็จจริงทาง กฟผ.ไม่ได้มีการต่อสู้ว่าสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟอยู่นอกพื้นที่ขุมเหมืองตามคำขอประทานบัตรที่ 3-6/2530 และ 30-46/2535 หรือไม่ ศาลปกครองชั้นต้นจึงรับฟังข้อเท็จจริงเป็นข้อยุติว่า สวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟดังกล่าวอยู่ในพื้นที่ขุมเหมืองและมีคำพิพากษาให้ กฟผ.ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่เสนอไว้ในรายงานฯ ที่กำหนดให้ฟื้นฟูขุมเหมืองให้ใกล้เคียงกับสภาพเดิมตามธรรมชาติ โดยถมดินกลับไปในบ่อเหมืองให้มากที่สุด และปลูกป่าทดแทน เฉพาะในส่วนที่ กฟผ.นำพื้นที่ต้องฟื้นฟูไปทำเป็นสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ   ต่อมา กฟผ.ได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น โดยยกประเด็นว่า สวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟ   อยู่ในพื้นที่บริเวณพักผ่อนตามแผนผังการฟื้นฟูที่ระบุในรายงานฯ และอยู่นอกเขตสัมปทานการทำเหมือง

ในการปฏิบัติตามคำสั่งของศาลปกครองสูงสุด ตัวแทน กฟผ.ได้นำเจ้าหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมกันตรวจสอบพื้นที่พิพาท พบว่าสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟไม่ทับซ้อนในพื้นที่ขุมเหมือง แต่มีพื้นที่บางส่วนอยู่ในแปลงประทานบัตรที่ 20010/15937   ส่วนพื้นที่ขุมเหมืองได้มีการถมดินและปลูกต้นไม้ทดแทนแล้ว ทางศาลจึงได้แจ้งผลการตรวจสอบดังกล่าวให้ผู้ฟ้องคดีใช้สิทธิโต้แย้งและขอเอกสารเพิ่มเติมจากทาง กฟผ. ซึ่งยืนยันว่าสนามกอล์ฟและสวนพฤกษชาติไม่ได้อยู่ในขุมเหมือง และพื้นที่ตามประทานบัตรแปลงพิพาท  กฟผ.ได้ดำเนินการปลูกต้นไม้ยืนต้นและปรับพื้นที่เป็นที่พักผ่อนหย่อนใจ และสถานที่ออกกำลังกาย สนามกอล์ฟได้เปิดใช้งานวันที่ 18 ธ.ค.28 ก่อนที่จะได้รับประทานบัตรแปลงพิพาท  สวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟเป็นส่วนหนึ่งของพื้นที่การพักผ่อนตามแผนฟื้นฟูเมื่อปี 2533

นอกจากนี้ หลังจากศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งให้ยุติการบังคับคดี และคำสั่งยกคำร้องของ กฟผ. ในคำอุทธรณ์ของผู้ฟ้องคดี ก็ไม่ได้ปรากฏให้เห็นว่ามีการโต้แย้งคัดค้านพื้นที่สวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟว่าไม่ได้ตั้งอยุ่ในพื้นที่ทิ้งดิน ตามใบอนุญาตจัดตั้งสถานที่เพื่อการเก็บขังน้ำขชุ่มหรือมูลดินทรายนอกเขตเหมืองแร่ ใบอนุญาตที่ 1/2522 และมีบางส่วนอยู่ในพื้นที่แปลงประทานบัตรที่ 20010/15937  แต่อย่างใด   แต่ได้ต่อสู้ว่าแม้พื้นที่ไม่ได้อยู่ในเขตประทานบัตรที่พิพาทก็ตาม แต่อยู่ในเขตประทานบัตรเดิมที่ กฟผ.ยังต้องฟื้นฟูสภาพให้กลับเป็นป่าไม้ตามประทานบัตรเดิม กรณีนี้เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏในชั้นบังคับคดีตามผลการตรวจสอบพื้นที่พิพาทตามคำสั่งศาลปกครองชั้นต้น ว่าสวนพฤกษชาติและสนามกอล์ฟไม่ได้มีส่วนหนึ่งทับซ้อนอยู่ในพื้นที่ขุมเหมืองตามคำขอประทานบัตรที่พิพาทในคดีนี้  จึงถือว่า กฟผ. ปฏิบัติตามคำบังคับของศาล ไม่มีเหตุที่จะบังคับคดีต่อไป 

ดังนั้น ตามที่ผู้ฟ้องได้ขอให้ศาลปกครองสูงสุดตีความคำพิพากษาในประเด็นทั้งหมดดังกล่าวนั้น เห็นว่าคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดคดีนี้ได้วินิจฉัยไว้ชัดเจนแล้วไม่จำเป็นต้องตีความ และไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยข้ออ้างอื่นๆของผู้ฟ้องคดีทั้งสามสำนวนอีก เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนไป  การที่ศาลปกครองชั้นต้นสั่งให้ยุติการบังคับคดี และคำสั่งยกคำร้องของ กฟผ. ปฏิบัติตามคำพิพากษาของผู้ฟ้องคดีทั้งสามสำนวนดังกล่าว ศาลปกครองสูงสุดเห็นพ้องด้วย


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1197 วันที่ 21 - 27 กันยายน 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์