วันศุกร์ที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

'เฮียริงค์' ฎีกาสู้คดีขยะ อดีต ผอ.กองช่าง ช้ำหนัก

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

ทีมทนายความหารือขอขยายฎีกา หลังศาลให้ประกันอดีตนายกฯพร้อมพวก 13 คน  วงเงิน 5 แสน  ขณะที่อดีต ผอ.กองช่างหนึ่งในจำเลย  ครวญรู้สึกเหน็ดเหนื่อยที่ต้องมารับชะตากรรมนี้ทั้งที่ทำเพื่อบ้านเมือง

กรณีศาลอุทธรณ์ ภาค 5 ได้พิพากษาคดีอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายนรินทร์ มโนกูลอนันต์ อดีตนายกเทศมนตรีนครลำปาง จำเลยที่ 1  พร้อมพวกรวม 14 คน ประกอบด้วย นายวินัย ภู่งาม อดีตปลัดเทศบาล  จำเลยที่ 2  , นางรัศมีไข่มุก พร้อมเพียง อดีต ผอ.กองคลัง จำเลยที่ 3 , นายสมบูรณ์ เกตุศิระ อดีตผู้อำนวยการกองอนามัย จำเลยที่ 4 ,  ร้อยเอกกิตตินันท์ นิวาศะบุตร อดีตหัวหน้าฝ่ายบริหารงานสาธารณสุข จำเลยที่ 5 ,  นายจำเนียร ทองกระสัน อดีตผู้อำนวยการส่วนควบคุมอาคาร จำเลยที่ 6 ,  นายชาตรี คำลือ  อดีตเจ้าพนักงานสาธารณสุขชุมชน จำเลยที่ 7 ,  นายเฉลิม แก้วกระจ่าง อดีตรองปลัดเทศบาล จำเลย 8 ,  นางวัชรี จินดามัง อดีตหัวหน้างานพัสดุและทรัพย์สินจำเลย 9 ,  นายสุวิทย์ ศิริไกรวัฒนาวงศ์ จำเลย 10  , นายสุทธิพันธ์ รัตนรังสรรค์ จำเลย 11 , นายศุภกิจ หอมแก่นจันทร์ จำเลย 12 , นายสุพรรณ นันต๊ะภาพ จำเลย 13  และ นายลาด อินนันชัย จำเลย 14   กรณีการจัดซื้อที่ดินทิ้งขยะ บริเวณบ้านกล้วยแพะ อ.เมืองลำปาง มีราคาสูงกว่าราคาจริงที่ชาวบ้านขายและราคาประเมิน
 
โดยมีคำสั่งให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2  และให้บุคคลที่เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประกอบด้วย จำเลยที่ 1 และ 3- 11  มีโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา ส่วนจำเลยที่ 12-14   ซึ่งเป็นชาวบ้าน ได้รับโทษจำคุก 2 ใน 3  คือ กรรมละ 3 ปี 4 เดือน   หลังศาลพิพากษาจำเลยทั้งหมดได้ยื่นเรื่องขอปล่อยตัวชั่วคราวในทันที แต่ดำเนินการไม่ทันในวันดังกล่าว  จึงนำตัวจำเลยทั้ง 12 คน ฝากขังเรือนจำกลางลำปาง

ต่อมาวันที่ 5 พ.ย.61 ศาลฎีกาได้มีคำสั่งให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยให้ยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 5 แสนบาท  ส่วนกรณีของจำเลยที่ 5 ร้อยเอกกิตตินันท์ นิวาศะบุตร ที่ไม่ได้มาฟังคำพิพากษาของศาลนั้น ต่อมาได้เดินทางมามอบตัวและได้รับการประกันตัวออกไปพร้อมกัน
  
ในเรื่องนี้ แหล่งข่าวระบุว่า ศาลฎีกาให้ปล่อยตัวชั่วคราวแล้ว ต่อไปต้องมีการวิเคราะห์คำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ว่าใครไม่เห็นด้วยกับประเด็นในเรื่องใดบ้าง จะต้องมีการประชุมคดีกัน แต่ละคนอาจจะมีข้อโต้แย้งที่ไม่เหมือนกัน บางคนเกี่ยวข้องในฐานะชาวบ้าน หรือบางคนเข้าไปเกี่ยวข้องช่วงใดช่วงหนึ่ง   จำเลยแต่ละคนจะมีเหตุผลที่จะอธิบายต่อศาลว่าตนเองเกี่ยวข้องได้อย่างไร ต่างคนจึงต้องแสวงหาข้อเท็จจริงที่จะยื่นไป

ศาลจะจัดกลุ่มจำเลยออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือผู้บริหารสั่งการ เช่น ตำแหน่งนายกเทศมนตรี  ปลัดเทศบาล อีกกลุ่มเป็นกรรมการได้รับการแต่งตั้งมีอำนาจในการจัดซื้อจัดจ้าง และกลุ่มสุดท้ายคือชาวบ้านผู้นำที่ดินมาขาย  เพราะฉะนั้นแนวทางการยื่นฎีกาของแต่ละกลุ่มจะแตกต่างกันไป

จากรายงานทราบว่า ในส่วนของทนายที่ทำคดีด้วยกัน ได้มีการนัดหมายกันเบื้องต้นหลังจากคัดถ่ายสำเนาคำพิพากษาไปดูถึงรายละเอียด เนื่องจากต้องยื่นขอขยายฎีกาออกไปก่อน เพราะเอกสารมีเยอะ การจะยื่นให้ทันภายใน 30 วันตามเวลาที่กำหนดนั้น อาจจะไม่ทัน

ด้านนายจำเนียร ทองกระสัน  อดีต ผอ.สำนักงานช่างเทศบาลนครลำปาง เป็นจำเลยที่ 6  เปิดเผยว่า  คดีอาญาในศาลชั้นต้นให้ความเห็นว่าไม่ได้ทำความผิด แต่ศาลอุทธรณ์ได้มีการกลับคำพิพากษาใหม่ ว่าเป็นการทำเป็นขบวนการจัดซื้อที่ดินในราคาสูง  ซึ่งตนเองมีชื่อร่วมอยู่ในการจัดซื้อ 3 ครั้ง จึงโดนโทษมากที่สุดของจำเลยทั้งหมด

 “ในความเห็นส่วนตัว เห็นว่าตนเองไม่ได้ทำผิดอะไร ทำหน้าที่ด้วยความหวังดีกับหน่วยงานให้ได้ที่ดินเพื่อแก้ปัญหาขยะของบ้านเมืองเท่านั้นเอง ซึ่งตอนจัดซื้อที่ดินได้มีการสอบถามแล้วว่าการจัดซื้อผ่านนายหน้ามีความผิดหรือไม่ รวมทั้งได้ปรึกษาไปยังอัยการ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บอกว่าสามารถทำได้  แต่ในภายหลังมีการตีความบอกว่าทำไม่ได้  ลำบากใจมากทำเพื่อบ้านเมืองแต่ต้องมารับชะตากรรมเช่นนี้”   

นายจำเนียร กล่าวอีกว่า ส่วนคดีทางวินัยศาลชั้นต้นพิพากษาเพิกถอนคำสั่งของเทศบาลที่ให้ออกจากตำแหน่ง และคืนสิทธิ์ทุกอย่างให้กลับเข้ารับตำแหน่งในเทศบาลนครลำปางเหมือนเดิม แต่ทางฝ่ายเทศบาลได้ยื่นอุทธรณ์คดี เรื่องก็ยังคงค้างอยู่ที่ชั้นศาลปกครองสูงสุดอยู่ 2 ปีแล้ว  

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1204 วันที่ 9-15 พฤศจิกายน 2561)


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์