วันศุกร์ที่ 21 ธันวาคม พ.ศ. 2561

ขยะข่าวเกลื่อนเมือง ไวรัสคุกคามสื่อ !

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

มิใช่เป็นเรื่องที่ต้องวิตก วิจารณ์กันมากมาย กับการที่สื่อหลักหยิบฉวยเอาเรื่องราวในโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ มาขยายต่อเป็นข่าวที่ควรค่าแก่ความสนใจ เช่น ข่าวที่ได้มาจากคลิปที่แชร์กันในโลกออนไลน์ ข่าวอุบัติเหตุจากกล้องติดรถ ที่ทำให้เห็นว่าฝ่ายใดผิด ฝ่ายใดถูก ข่าวการทำร้ายกัน ที่สะท้อนให้เห็นสังคมที่คนไม่เกรงกลัวกฎหมาย แม้จะรู้ว่าการกระทำนั้น อาจถูกบันทึกไว้เป็นพยานหลักฐานมัดตัวเองก็ตาม

โลกออนไลน์ ย่อมมีทั้งด้านมืด และด้านสว่าง ขึ้นอยู่กับมุมมองและการตัดสินของสังคม และการประเมินคุณค่าของมันในกรณีการทำหน้าที่ของสื่อ แม้จะเป็นข่าวประเภท Human Interest หรือเรื่องที่มนุษย์สนใจ  แต่ก็ใช่ว่า สื่อจะนำเสนอทุกเรื่องโดยไม่คำนึงว่าข่าวนั้นจะมีสาระหรือไม่

ทุกครั้งที่เราตั้งประเด็นว่า สื่อไม่ควรนำเสนอข่าวชาวบ้าน ที่ไม่มีสาระอันใด ไม่เป็นประโยชน์สาธารณะ มุ่งเน้นแต่จะตอบสนองสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ ก็มักจะมีข้อโต้แย้งอยู่เสมอว่า ก็เป็นข่าวที่คนชอบ คนอ่าน คนดู คนฟัง หรือกระทั่งมีคนกดไลค์ กดแชร์จำนวนมาก ไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร ไม่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ต่อโลก แต่เป็นประโยชน์ของสื่อในการแข่งขัน สร้างเรตติ้ง และสุดท้ายคือสร้างรายได้ ในยามที่ธุรกิจสื่อทรุดหนักขณะนี้

แต่หากคิดเพียงสร้างเรทติ้ง ไม่ต้องคำนึงถึงสิ่งอื่นนอกจากเป้าหมายในการสร้างรายได้ ความสำเร็จในทางธุรกิจ ก็ไม่ควรเรียกตัวเองว่าสื่อ แต่เป็นเพียงคนทำมาหากินประเภทหนึ่งที่อาศัยวิชาชีพสื่อบังหน้าเท่านั้น
คนเป็นสื่อต้องมีความรับผิดชอบ อาจมากกว่าคนทั่วไปด้วยซ้ำ เพราะเป็นอาชีพที่ทำงานอยู่บนพื้นที่สาธารณะ ไม่ว่าจะเป็นน้ำหวานหรือยาพิษ เมื่อยื่นออกไปแล้ว ก็จะมีผลกระทบถึงคนหมู่มาก สื่อจึงต้องตระหนักถึงบทบาทในการเป็นผู้นำทางความคิดในสังคม เป็นโรงเรียนของสังคม ที่บอกได้ว่าสิ่งใดพึงกระทำ หรือไม่พึงกระทำ มิฉะนั้น สื่อก็จะทำหน้าที่เพียงผู้ผลิตขยะข่าว

ส่วนเรื่องรายได้  เมื่อสื่อต้องทำงานเพื่อยังชีพเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ก็ต้องมีความเชื่อมั่นศรัทธาว่า ความเป็นสื่อนั้นสิ่งที่มีค่ามากที่สุดคือ “ความน่าเชื่อถือ” เมื่อสร้างความเชื่อถือได้แล้ว รายได้ก็จะตามมาเอง อาจไม่ถึงร่ำรวย แต่ก็พอยังชีพเพื่อทำงานตามอุดมการณ์ต่อไปได้

ห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ปรากฏข่าวในทั้งโซเชียลมีเดีย และสื่อกระแสหลักเผยแพร่คลิป และเรื่องราวการทะเลาะวิวาทของผู้หญิง 2 คน ที่กาดกองต้า ถนนคนเดินที่ลำปาง เรื่องคนตบตีกันในที่สาธารณะ เป็นเรื่องที่คนสนใจแน่นอน ข่าวถูกปรุงแต่งว่า ทั้งสองนางนี้เป็นไฮโซ มีชื่อเสียงของลำปาง ดังนั้น เมื่อคนดังสองคนตีกันจึงเป็นข่าวได้

ความจริงคือผู้หญิงสองคนนี้ เป็นที่รู้จักเฉพาะกลุ่ม คนทั้งจังหวัดไม่รู้จัก ยิ่งคนทั้งประเทศยิ่งต้องถามว่า ทั้งสองนางนี่คือใครกัน จึงไม่นับว่าทั้งสองคนเป็น Public Figure หรือบุคคลสาธารณะ ที่มีคุณค่าข่าวเพียงพอที่จะเสนอเป็นข่าวในระดับชาติ หรือแม้กระทั่งข่าวท้องถิ่น

นักข่าวอยากได้ค่าข่าว พวกเขารู้ว่าหัวหน้าข่าวในกรุงเทพ  กำลังถูกกดดันจากการแข่งขันเพื่อความอยู่รอด และข่าวประเภทนี้ขายได้ แม้ค่าของมันจะเป็นเพียงขยะข่าว เขาส่งไปให้หัวหน้าข่าวหรือบรรณาธิการที่กรุงเทพ คนพวกนั้นอาจรู้ว่าถ้าเขาประเมินคุณค่าข่าวตามหลักวิชาที่ได้ร่ำเรียนมา ข่าวนี้ควรโยนทิ้งตะกร้า มากกว่ามาเสียเวลาออกอากาศ ตามไปสัมภาษณ์คู่กรณีประดุจเป็นข่าวใหญ่โต แต่เขาก็หลับตาเสียทั้งสองข้าง เพราะเมื่อข่าวได้ใช้คนส่งข่าวก็ได้ค่าข่าว และก็จะส่งขยะข่าวแบบนี้มาเรื่อยๆ ในขณะที่หัวหน้าหรือบรรณาธิการก็ได้เรทติ้ง เพราะคนจำนวนให้ความสนใจข่าวประเภทนี้

ไวรัสโซเชียลกำลังคุกคามคนทำข่าว “ข่าวดีขายไม่ได้ ข่าวร้ายขายดี” นี่คือคาถาป้องกันตัวเอง ที่สมประโยชน์ทั้งสองฝ่ายทั้งคนส่งข่าวและรับข่าว กลุ่มคนที่บริโภคข่าวสาร และเรียกร้องความรับผิดชอบของสื่อ เรียกร้องข่าวที่มีสาระ จะต้องทลายกำแพงความเชื่อนี้ให้ได้   


(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1210 วันที่ 21 - 27 ธันวาคม 2561)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์