วันจันทร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กลุ่มเกษตรอินทรีย์ริมวัง อ.วังเหนือ

จำนวนผู้เข้าชม เว็บเคาน์เตอร์

“การทำเกษตรอินทรีย์ มีข้อดีมากมาย สิ่งแรกคือดีกับตัวเองที่ไม่ต้องไปคลุกคลีกับสารเคมี  ดีกับชีวิตคนในครอบครัว ดีต่อสิ่งแวดล้อม และเกษตรอินทรีย์สามารถกำหนดราคาตลาดของตัวเองได้ ซึ่งต้องเป็นราคาที่ผู้บริโภคยอมรับได้  และเราลดการใช้สารเคมีที่ต้นน้ำ เพื่อรักษาประโยชน์ของคนปลายน้ำ”  ณัฐวุฒิ แก้วอ่อน ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ริมวัง กล่าว

กลุ่มเกษตรอินทรีย์ริมวัง ตั้งอยู่ที่ อ.วังเหนือ จ.ลำปาง ซึ่งเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ก่อตัวขึ้นจากการน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้วยการปลูกพืชผสมผสาน และการงดใช้สารเคมีทุกชนิด เป็นการรวบรวมสมาชิกที่มีแนวคิดเดียวกันมาร่วมกันผลิตสินค้าเกษตรที่มีคุณภาพออกสู่ตลาด และยังมีการจัดสรรปันส่วนรายได้จากการทำการตลาดที่ชัดเจนให้ผลประโยชน์กับสมาชิกอีกด้วย

นายณัฐวุฒิ แก้วอ่อน ประธานกลุ่มเกษตรอินทรีย์ริมวัง กล่าวว่า เริ่มจากที่ตนทำสวนริมวังก่อน มีแนวคิดจะใช้ชีวิตตามรอยในหลวง ร.9 โดยการปลูกพืชผสมผสาน ประกอบกับเห็นวิถีชีวิตเดิมของชาวบ้านในพื้นที่คือการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ส่วนพืชผักจะซื้อกินกันเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งได้เล็งเห็นว่าพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สามารถทำการเกษตรได้ แต่ทำไมชาวบ้านยังซื้อผักบริโภคกันอยู่  เลยคิดหาแนวทางปรับเปลี่ยนความคิดของเกษตรกรให้หันมาปลูกผักกินเอง เลยทำสวนริมวังขึ้นมาเป็นต้นแบบ โดยการปลูกผักกินเอง ส่วนที่เหลือก็นำไปขาย ซึ่งการทำเช่นนี้เป็นการสร้างธรรมชาติที่ดี ลดการใช้สารเคมีที่ต้นน้ำ เพื่อรักษาประโยชน์ของคนปลายน้ำ

หลังจากทำเกษตรได้ประมาณ 6 ปี ก็มีน้องๆผู้ที่สนใจเข้ามาขอให้ตั้งกลุ่มเกษตรขึ้น เพื่อต้องการที่จะเข้ามาใช้ชีวิตในพื้นที่โดยการทำการเกษตร กฎเกณฑ์ของกลุ่มต้องมีความสมัครใจและเรียนรู้สม่ำเสมอ ไม่มีเป้าหมายการของบสนับสนุนมาทำเล่น แต่หากของบสนับสนุนเข้ามาต้องทำอย่างจริงจังและชัดเจนเห็นผล โดยตั้งกลุ่มมาได้ 2 ปีเศษ  มีสมาชิก 17 คน  ซึ่งได้ผ่านการตรวจรับรองแปลงแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee System : PGS) แล้ว และกำลังเริ่มรับสมัครสมาชิกเพิ่มเพื่อดำเนินการเป็นเกษตรแปลงใหญ่ โดยจะมีสมาชิกประมาณ 30 คน

สำหรับการบริหารจัดการในกลุ่ม นายณัฐวุฒิ บอกว่า ตลาดแรกที่ได้นำผลผลิตออกจำหน่าย คือตลาดในหมู่บ้านก่อน ถ้ามีผลผลิตมากพอก็ไปส่งออกแต่ก็ยังอยู่ในโซนพื้นที่อยู่ เช่น ขายตามตลาดนัดของอำเภอ  คนที่นำผักไปขายก็จะได้ค่าการตลาดจากกลุ่ม โดยตั้งกฎไว้ว่าค่าการตลาดแบ่งเป็น 2 ส่วนคือ 25 เปอร์เซ็นต์เป็นของคนขาย และอีก 5 เปอร์เซ็นต์หักเข้ากลุ่มเป็นค่าบริหารจัดการ  นอกจากนั้นจะมีการออมเงินกันเดือนละ 100 บาท เป็นกองกลางในการบริหารจัดการ ซึ่ง 5 เปอร์เซ็นต์ก็จะหักเข้าไปในส่วนนี้  ถ้าค่าการตลาดมีมากพอก็จะจ่ายเป็นเงินปันผลให้กับสมาชิก   จากนั้นก็มีการขยายออกไปขายในตลาดจังหวัด และตลาดต่างจังหวัดด้วย

ทางกลุ่มโชคดีที่ได้เข้าร่วมกับโครงการ Safe for sure ของคณะเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง สามารถช่วยกลุ่มเกษตรอินทรีย์ได้เข้าถึงการตรวจมาตรฐานสินค้าตั้งแต่ต้นทางก่อนนำออกไปยังปลายทางได้ เพื่อทำให้กลุ่มสามารถปรับปรุงผลผลิต ไม่ให้ผลผลิตเกิดปัญหาภายหลัง เท่ากับเป็นการการันตีแหล่งผลิตด้วย อยากให้มีโครงการต่อไปในระยะยาว ให้มีหน่วยงานกลางเข้ามาการันตีให้เกษตรกรได้








สอบถามรายละเอียด ผลิตภัณฑ์ โทร. 093-259-1889 หรือ เฟซบุ๊คเพจ : กลุ่มเกษตรอินทรีย์ริมวัง
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์