วันพฤหัสบดีที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2562

กฟผ.รุกหนัก ปักหมุด ค.1 5อำเภอ 5เรื่อง 'ศุกษ์' ย้ำที่ทิ้งดิน



กฟผ.รุกหนักรณรงค์จัด ค.1 โรงไฟฟ้าเครื่องที่ 8-9  ด้านผู้นำ 5 อำเภอ เสนอ 5 ประเด็นให้บรรจุในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม  นายกศุกษ์เสนอของ ต.บ้านดงอีก 5 เรื่อง โดยเฉพาะปัญหาพื้นที่ทิ้งมูลดิน ขณะที่ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอแม่ทะ ขอคืนชีวิตลำน้ำจาง และของบกองทุน 10 เปอร์เซ็นต์เหมือนเดิม

การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 สำหรับนำไปประกอบการจัดทำรายงานประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) ของโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 ที่วิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ ในวันที่ 13 กรกฎาคม 2562 เป็นไปอย่างคึกคัก หลังจากทางผู้บริหารการผลิตโรงไฟฟ้าแม่เมาะ พร้อมด้วยผู้ปฏิบัติงานการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ ออกเดินรณรงค์แจกแผ่นพับข้อมูลโครงการพัฒนาโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทน เครื่องที่ 8-9 และเชิญชวนประชาชนชาวแม่เมาะเข้าร่วมเวทีอย่างต่อเนื่อง  โดยใช้วิธี “กฟผ.เคาะประตูบ้าน” แก่ประชาชนในพื้นที่ทั้ง 5 ตำบล 44 หมู่บ้าน ของอ.แม่เมาะ โดยได้รับความสนใจจากชาวบ้านเป็นอย่างดี 

สำหรับการจัดเวที ค.1 ดังกล่าว ได้มีหลายกลุ่มให้ความสนใจเข้าร่วมอภิปรายภายในงานกันจำนวนมาก และที่เป็นที่น่าจับตามองน่าจะเป็นกลุ่มผู้นำชุมชน ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอแม่เมาะ ที่เคยได้ยื่นหนังสือข้อเสนอต่างๆไปถึงหลายครั้งหลายครา  รวมไปถึงกลุ่มชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจากอำเภอแม่ทะ ที่มากับปัญหาลำน้ำจาง  ขณะเดียวกันก็มีทางนายศุกษ์ ไทยธนสุกานต์ นายก อบต.บ้านดง ขาประจำที่ร่วมเวทีทุกปี โดยเสนอเกี่ยวกับเรื่องปัญหาที่ทิ้งมูลดินจากการทำเหมืองแม่เมาะมาโดยตลอด

 

นายศุกษ์ ไทยธนสุกานต์ นายก อบต.บ้านดง เปิดเผยว่า  ตนเองได้เป็นตัวแทนของผู้นำทั้ง 5 อำเภอ ขึ้นพูดอภิปรายในเวที ค.1 ซึ่งเดิมทางชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านจะไม่ไปร่วมงาน ค.1 เพราะเห็นว่าทำไปแล้วก็ไม่ได้อะไร เสนออะไรไปได้รับการปฏิเสธหมด แต่ภายหลังได้มีการประชุมหารือกัน และมอบหมายให้ตนเป็นคนร่างประเด็นขึ้นมาในภาพรวมของอำเภอใน 5 ประเด็น  และในส่วนของตำบลบ้านดงอีก 5 ประเด็น ที่จะต้องบังคับอยู่ในรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม  จึงได้มีการนำเสนอในเวทีครั้งนี้  แต่ถ้ายังไม่มีการนำเข้าบรรจุกอยู่ในรายงาน ค.1  ต่อไปหากมีการจัด ค.2 ในรายตำบลก็จะไม่ร่วมเวที อย่างที่เคยทำมาแล้วเมื่อครั้งก่อน

กลุ่มตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำท้องที่ และภาคประชาชน เสนอและเรียกร้องให้บรรจุในรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมฯ โครงการโรงไฟฟ้าแม่เมาะทดแทนเครื่องที่ 8-9  ใน 5 ประเด็น คือ ให้สนับสนุนงบประมาณเป็นเงินบริจาคให้ตำบลในเขตอำเภอแม่เมาะ ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากการทำเหมืองลิกไนต์ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของ กฟผ.แม่เมาะ  ต.บ้านดง อย่างน้อยปีละ 20 ล้านบาท  ส่วน ต.สบป้าด  ต.นาสัก ต.จางเหนือ และ ต.แม่เมาะ อย่างน้อยปีละ 5 ล้านบาทต่อตำบล   ให้ กฟผ.แม่เมาะจัดสรรเงินตามประกาศกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ เรื่องแนวทางการบริหารจัดการกองทุนพัฒนาหมู่บ้านรอบพื้นที่เหมืองแร่ พ.ศ.2559 ในอัตราก้าวหน้าตามมูลค่าการผลิตครั้งละไม่เกิน 10 ล้านบาท ต่อจำวน 2.5 แสนบาท ต่อเนื่องให้ครบตามมูลค่าที่เกิดขึ้นจริงในปีนั้นๆ ให้กับ 5 ตำบลในอำเภอแม่เมาะ และ 1 ตำบลบ้านเสด็จ ในอำเภอเมืองลำปาง 

รวมทั้งจัดตั้งก่องทุนเถ้าลอยลิกไนต์โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เพื่อนำเงินรายได้จากการขายเถ้าลอยพัฒนาและแก้ไขปัญหาตำบลที่อยู่ในอำเภอแม่เมาะ  โดยใช้แนวทางจัดสรรเงินงบประมาณที่ได้จากการขายเถ้าลอยให้กับทุกตำบลในอำเภอแม่เมาะในอัตราเท่ากัน  จัดสรรโควตาเถ้าลอยให้กับทุกตำบลในอำเภอแม่เมาะ สามารถนำไปบริหารจัดหาผลประโยชน์เป็นรายได้ให้กับตำบล โดยนำรายได้มาพัฒนาในพื้นที่ของตนเอง และประสานงานกันกระทรวงอุตสาหกรรม ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงการจัดสรรเงินบำรุงพิเศษ ตมประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องกำหนดอัตราจ่ายเงินบำรุงพิเศษ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการเรียกเก็บภาษีและการจัดสรรเงินบำรุงพิเศษ พ.ศ.2560 วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ให้ครอบคลุมและสอดคล้องกับปัญหาในพื้นที่ได้รับผลกระทบรอบเขตประทานบัตรและเขตเหมืองแร่ตาม พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560

 

นายก อบต.บ้านดง กล่าวว่า  ในส่วนของ ต.บ้านดง  ให้ กฟผ.ดำเนินการจ่ายภาษีหรือค่าธรรมเนียมอันเกิดจากการใช้พื้นที่ในตำบลบ้านดงเป็นที่เททิ้งมูลดินทราย  กากถ่านหินลิกไนต์ ให้กับ อบต.บ้านดง ตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งแก้ไขปัญหาที่ส่งผลให้เกิดอุปสรรคในการจัดเก็บภาษีโดยขั้นต่ำการประเมินภาษีดังกล่าว กฟผ.แม่เมาะต้องจ่ายให้กับ อบต.บ้านดงจำนวนเงินไม่น้อยกว่าปีละ 50 ล้านบาท  พร้อมทั้งกำหนดมาตรการในการระงับเหตุเดือดร้อน รำคาญ และเหตุที่ส่งผลกระทบต่อสภาวะแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนจากการทำเหมืองแร่ หรือจากพื้นที่เททิ้งมูลดินทราย หาก กฟผ.ไม่สามารถควบคุมมาตรการป้องกันหรือให้เกิดเหตุเดือดร้อนรำคาญกับชุมชน หรือมีการร้องเรียนจากชุมชน ให้ กฟผ.เร่งรัดแก้ไขให้แล้วเสร็จภายใน 24 ชั่วโมง  หากไม่สามารถดำเนินการได้ตามกำหนด ทาง อปท.สามารถดำเนินการตามระเบียบกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ทั้งโทษทางปกครองและโทษปรับทางแพ่ง    ให้ กฟผ.กำหนดเงื่อนไขแนบท้ายสัญญากรับผู้รับจ้างที่ดำเนินการเกี่ยวกับเหมืองถ่านหินและพื้นที่ทิ้งดิน หากไม่ดำเนินการตามมาตรการที่ กฟผ.กำหนด หรือพบเหตุใดที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน  คณะกรรมการการมีส่วนร่วมสิ่งแวดล้อมตำบลบ้านดงเกิน 3 ครั้ง ใน 1 ปี ให้ กฟผ.ยกเลิกสัญญากับผู้รับจ้างรายนั้น

นายศุกษ์ กล่าวต่อไปว่า  กฟผ.แม่เมาะจะต้องเร่งรัดติดตามประสานงานการร่างและบังคับใช้ พ.ร.บ.รายได้ พ.ศ..... ประกอบกับ พ.ร.บ.กระจายหน้าที่และอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ....  ซึ่งใช้ประกอบ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2560  ในการจัดสรรค่าภาคหลวงแร่ให้กับ เขตประทานบัตรพื้นที่ซึ่งเป็นที่ตั้งของเขตประทานบัตร  ในอัตราร้อยละ 20  ซึ่งต้องครอบคลุมตำบลบ้านดงที่ใช้เป็นที่ทิ้งดินมูลทรายจากการทำเหมืองถ่านหิน    รวมทั้งบริหารจัดการน้ำในเขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ ในพื้นที่ตำบลบ้านดง โดยทำการขุดลอก ดูแลแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแหล่งน้ำในพื้นที่ ให้ อบต.และชุมชนใช้แหล่งน้ำร่วมกับ กฟผ.ได้

และให้สนับสนุนงบประมาณให้ อบต.บ้านดง ในการดำเนินการก่อสร้าง ปรับปรุงซ่อมแซม โครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภค ที่โครงการอพยพเป็นผู้ก่อสร้าง ในหมู่บ้านอพยพของหมู่ที่ 1 หมู่ 2 หมู่ 7 และ หมู่ 8 ตำบลบ้านดง ตามมติ ครม. โดยจัดสรรงบให้เพียงพอต่อการก่อสร้างและซ่อมแซม  รวมทั้งการบริหารจัดการให้เพียงพอ

นายสุนทร ใจแก้ว อดีตนายก อบต.สบป้าด  ตนเป็นนักต่อสู้เรื่องนี้อยากให้ กฟผ.ดูแลรับผิดชอบคุณภาพชีวิตของชาวบ้านอำเภอแม่เมาะ ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ใน 10 ประเด็นที่ได้กล่าวไป  ตนได้ทำเพื่อพี่น้องประชาชนอย่างจริงจัง แต่ก็ยังมีคนที่จะใส่ร้ายป้ายสีโดยการนำภาพตนเองไปสร้างเป็นเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมา ซึ่งได้มีการเข้าแจ้งความดำเนินคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์เรียบร้อยแล้ว  ในเรื่องการก่อสร้างโรงไฟฟ้าไม่เคยมีการห้ามไม่ให้สร้าง แต่สิ่งที่ชาวบ้านเสนอไปแล้วไม่เคยได้รับการตอบรับอะไรกลับมาเลย

ด้านนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์  ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ที่ประกาศตัวตั้งแต่แรกแล้วว่าจะไม่ไปร่วมงาน ค.1 อย่างแน่นอน ได้กล่าวว่า เครือข่ายสิทธิ์ผู้ป่วยแม่เมาะ ไม่ร่วมสังฆกรรมเวทีที่เชื่อถือไม่ได้นี้ เหตุผลที่ไม่ไปร่วมงานเนื่องจากที่ผ่านมา กฟผ.ไม่ทำตามรายงานความคิดเห็นทุกครั้ง  ในการประชุมเวทีรับฟังความคิดเห็นโรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 4-7  ทางสมาชิกเครือข่ายฯได้ให้ความเห็นมาตลอด และมีบันทึกในรายงาน แต่กลับไม่ได้รับการปฏิบัติตามที่ได้บันทึกไว้  จึงเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์ต่อการให้ความเห็นคนละ5 นาที  เพราะประเด็นเรื่องความวิตกกังวล  พูดให้สั้นในเวลา 5 นาทีไม่ได้ อีกทั้งเวทีนี้ก็ไม่ได้มีอิสระในทางแสดงความเห็นที่ชาวบ้านต้องการ   ดั้งนั้น รายงานรับฟังความคิดเห็น โรงไฟฟ้าทดแทนแม่เมาะ ไม่น่าเชื่อถือ

อีกกลุ่มหนึ่งที่ส่งตัวแทนเข้าร่วมในเวที ค.1 คือ กลุ่มชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอแม่ทะ ซึ่งเคยได้ยื่นหนังสือร้องเรียนผ่านทางศูนย์ดำรงธรรมอำเภอแม่ทะ ขอให้ทาง กฟผ.แม่เมาะได้มีการช่วยเหลือดูแลความเป็นอยู่ของชาวบ้านใกล้เคียงกับโรงไฟฟ้า ซึ่งได้รับผลกระทบจากการใช้น้ำจากลำน้ำจางในการดำรงชีวิต

นายบุญเลิศ แสนเทพ ส.อบจ.อ.แม่ทะ กล่าวว่า  จากที่ได้ยื่นหนังสือไปก็ยังไม่มีการตอบกลับมา มีเพียงการประชุมกันไปครั้งเดียวเท่านั้น  เราจะต่อสู้ให้ กฟผ.มาดูแลผลกระทบจากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ที่มีการกักน้ำไว้ไม่ระบายลงสู่ลำน้ำจาง  จากการตกลงกันกับผู้นำท้องถิ่นเรียบร้อยแล้ว

นายควง ทากอง  กำนันตำบลดอนไฟ  กล่าวว่า  ในเวที ค.1 ประเด็นหลักที่พูดถึงคือผลกระทบของลำน้ำจาง การระบายน้ำทั้งหมดของ กฟผ.ที่จะต้องทำแผนให้กับชุมชนคนลุ่มน้ำของ อ.แม่ทะ ว่าจะจ่ายให้พอเพียงในการเกษตรและการอุปโภคได้อย่างไร  อยากให้ตั้งคณะกรรมการมาดูแลการบริหารจัดการน้ำลำน้ำจางทั้งหมด ส่วนของงบประมาณต้องขอสนับสนุนใน 2 ประเด็น คือ โรงไฟฟ้า และกองทุนพัฒนาไฟฟ้า อยากให้ได้รับงบประมาณเหมือนเดิมในส่วนของ อ.แม่ทะ 10 เปอร์เซ็นต์จากงบประมาณกองทุนฯ และให้มีตัวแทนอำเภอแม่ทะเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการ  หลังจากมีข้อบังคับใหม่ออกมา ทางกองทุนฯก็ได้มีการตัดงบ 10 เปอร์เซ็นต์ออกไป เหลือเพียงแต่ ต.หัวเสือ ตำบลเดียวเท่านั้น จึงอยากให้มีการบรรจุเรื่องนี้เข้าไปในรายงานเพื่อช่วยเหลือชาวบ้านอย่างแท้จริง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1237 วันที่ 12 - 18 กรกฎาคม 2562)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์